สัญญาณเสี่ยง โรคอัมพาต รู้ไว้ก่อนสายเกิน

สัญญาณเสี่ยง โรคอัมพาต รู้ไว้ก่อนสายเกิน

อัมพฤกษ์ อัมพาต คือหนึ่งในโรคที่มีความรุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ซึ่งในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานด้านสาธารณสุขประเทศไทย ได้ระบุว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ควรสร้างความตระหนักรู้อย่างทั่วถึงให้มากยิ่งขึ้น โดยการสร้างองค์ความรู้ต่อสาเหตุของการเกิดโรคอัมพาต ที่เกิดจากโรคหลอดเลือดในสมอง และให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสูญเสียทั้งต่อผู้ป่วยเองรวมถึงผู้ดูแล หรือ คนในครอบครัวร่วมด้วย ดังนั้นการรู้เท่าทันสัญญาณเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคอัมพาต จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นก่อนสายเกินแก้

ปัจจุบันองค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก หรือ World Stroke Organization (WSO) ได้กำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันอัมพาตโลก หรือ วันโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Day) เพื่อเป็นการรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการลดอัตราผู้ป่วยอัมพาตให้ได้มากที่สุดในแต่ละปี รวมถึงมุ่งเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องและทันท่วงที

อัมพาต คืออะไร? 

Paralysis หรือ อัมพาต คือ อาการที่ร่างกายไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ปกติ เกิดจากกล้ามเนื้อของอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายได้รับผลกระทบจากระบบสมอง ที่ไม่สามารถสั่งการและควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ โดยมีสาเหตุมาจากหลากหลายปัจจัย เช่น ป่วยด้วยโรคเลือดสมอง มีประวัติการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับการกระทบกระเทือนสมอง ไขสันหลัง กระดูกคอ รวมถึงเส้นประสาท ซึ่งเป็นส่วนที่มีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย นำไปสู่ความผิดพลาดในการส่งกระแสประสาทระหว่างสมองกับกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดเป็นภาวะอัมพาตเป็นบางจุดของร่างกาย ตัวอย่างเช่น แขน ขา ใบหน้า หรือ ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะอัมพาตครึ่งซีก หรือ อัมพาตทั้งร่างกายได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยอัมพาตสามารถรักษาให้หายขาดได้หากได้รับการฟื้นฟูร่างกาย รวมถึงการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม

สาเหตุของการเกิดโรคอัมพาต

อัมพาตมีสาเหตุหลักมาจากโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Cerebrovascular Accident ซึ่งมีลักษณะการเกิด ดังต่อไปนี้

  • อัมพาตจาก Hemorrhagic Strok

เส้นเลือดในสมองแตก เกิดการฉีกขาด หรือ ได้รับความเสียหาย เป็นสาเหตุทำให้เลือดและออกซิเจนไม่สามารถหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในสมองได้ปกติ

  • อัมพาตจาก Ischemic Stroke

เส้นเลือดภายในระบบไหลเวียนโลหิตเกิดภาวะอุดตันด้วยลิ่มเลือด หรือ มีภาวะหลอดเลือดตีบที่เกิดจากไขมันเกาะผนังหลอดเลือด เป็นสาเหตุทำให้เลือดและออกซิเจนไม่สามารถหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในสมองได้ปกติ

ลักษณะการเกิดข้างต้นเป็นปัจจัยที่ทำให้มีภาวะสมองขาดเลือด ส่งผลโดยตรงต่อสมรรถภาพในการควบคุมและสั่งการของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย จนทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกตินั่นเอง

  • อัมพาตจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ

ความเสียหายของสมองที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอัมพาตได้ เนื่องจากการได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงส่งผลให้เนื้อเยื่อภายในสมองอาจฉีกขาด เส้นประสาทและเส้นเลือดเกิดความเสียหาย โดยภาวะอัมพาตมักเกิดความเสียหายขึ้นกับสมองซีกซ้ายซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย กระทบต่ออาการเคลื่อนไหวในซีกขวา และความเสียหายที่เกิดขึ้นในสมองซีกขวาที่มีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย จะกระทบต่ออาการเคลื่อนไหวในร่างกายซีกซ้ายทั้งนี้อาการอัมพาตของร่างกายจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่ได้รับบาดเจ็บร่วมด้วย 

  • อัมพาตจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง

บริเวณภายในกระดูกไขสันหลังมีเส้นประสาทที่เชื่อมไปถึงกระดูกคอ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระบบประสาทส่วนกลาง เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างสมองและร่างกาย ทำให้ได้รับความรู้สึกต่างๆ ควบคุมปฏิกิริยา การเคลื่อนไหวต่างๆ ของร่างกาย หากไขสันหลังได้รับการกระแทก กระทบกระเทือน หรือ ได้รับบาดเจ็บ อาจส่งผลต่อการส่งสัญญาณจากสมองไปยังกล้ามเนื้อในการควบคุมที่ผิดปกติ จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญทำให้เกิดอัมพาตชนิดพาราพลีเจีย ซึ่งร่างกายส่วนล่างลำตัวลงมาเป็นอัมพาต หรือ อาจเกิดอัมพาตชนิดควอดริพลีเจีย หรือ เตตร้าพลีเจีย โดยมีอาการอัมพาตทั้งแขนและขาทั้งสองข้าง

  • อัมพาตจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือ Multiple Sclerosis คือ ภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายไม่สามารถป้องกันและกำจัดการติดเชื้อต่างๆ ได้ปกติ เป็นสาเหตุทำให้ Myelin บริเวณรอบใยประสาทของไขสันหลังถูกทำลายได้ ส่งผลให้การส่งสัญญาณประสาทเชื่อมต่อระหว่างสมองและร่างกายถูกรบกวน จนในที่สุดร่างกายกลายเป็นอัมพาต

  • อัมพาตจากโรคทางระบบประสาท

    • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส : Amyotrophic Lateral Sclerosis
    • โรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม : Motor Neuron Disease โดยเซลล์ประสาทที่มีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวเกิดภาวะเสื่อม หรือ ตาย
  • อัมพาตจากโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง

    • โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หรือ Bell’s Palsy เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทบริเวณใบหน้าซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า
    • กลุ่มอาการ GBS : Guillain-Barre Syndrome เกิดการอักเสบจากการติดเชื้อเฉียบพลันบริเวณระบบประสาทส่วนปลาย
  • อัมพาตจากโรคอื่นๆ 

    • โรคไลม์ : Lyme disease เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจนทำลายเส้นประสาท ทำให้ใบหน้าอัมพาตชั่วคราว
    • เนื้องอกที่เส้นประสาท : Neurofibromatosis
    • โรคสมองพิการ : Cerebral Palsy เกิดจากความผิดปกติทางสมองทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ
    • โรคมะเร็งสมอง 
    • มะเร็งไขสันหลัง
    • กลุ่มอาการหลังจากโรคโปลิโอ : Post-Polio Syndrome
    • โรคสไปนา ไบฟิดา : Spina Bifida (ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดที่กระดูกสันหลัง ไขสันหลัง)

อาการและชนิดของอัมพาต

อาการอัมพาตสามารถแบ่งออกได้ 2 ลักษณะ คือ อัมพาตเฉพาะส่วน โดยมีอวัยวะบางส่วนที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ปกติ เช่น มือ ใบหน้า และ อัมพาตทั่วร่างกาย ซึ่งอวัยวะบางส่วน หรือ อวัยวะหลายส่วน ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เป็นบริเวณกว้าง ได้แก่

  • Monoplegia แขน หรือ ขา ข้างใดข้างหนึ่งไม่สามารถเคลื่อนไหวได้
  • Hemiplegia แขน หรือ ขา ข้างใดข้างหนึ่งไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ (อัมพาตครึ่งซีก)
  • Paraplegia ขาทั้งสองข้าง ตั้งแต่บริเวณอุ้งเชิงกรานไปจนถึงช่วงล่างของลำตัวลงไปไม่สามารถเคลื่อนไหวได้
  • Tetraplegia หรือ Quadriplegia แขนและขาทั้งสองข้างไม่สามารถเคลื่อนไหวได้

นอกจากนี้อาการอัมพาตสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทตามลักษณะกล้ามเนื้อในบริเวณที่เป็นอัมพาต ได้แก่ Flaccid Paralysis คือ อัมพาตแบบกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก และ Spastic Paralysis อัมพาตแบบกล้ามเนื้อเกร็ง

วิธีการตรวจวินิจฉัยอัมพาต

การตรวจอัมพาตสามารถวินิจฉัยได้จากการทดสอบร่างกาย เพื่อหาว่ามีอาการสูญเสียความสามารถในการควบคุมกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวหรือไม่ ในกรณีที่แพทย์มีข้อสงสัยเพิ่มเติม หรือ ต้องการตรวจหาอย่างละเอียด จะมีวิธีการตรวจอัมพาตด้วยวิธีการดังนี้

  • การเอกซเรย์ : X-Ray 

การฉายรังสีเพื่อวินิจฉัยความเสียหายบริเวณกระดูกสันหลัง หรือ ระดูกคอ

  • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า : MRI (Magnetic Resonance Imaging)

การตรวจอัมพาตด้วยการ MRI ช่วยให้แพทย์เห็นความผิดปกติภายในร่างกายได้ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณสมองและไขสันหลัง

  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ : CT Scan

การตรวจอัมพาตโดยการฉายรังสีเอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ มักใช้ตรวจบริเวณศีรษะและไขสันหลังที่ได้รับการบาดเจ็บอย่างรุนแรง

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ : Electromyography

การตรวจอัมพาตด้วยเครื่องมือที่ใช้เซนเซอร์ในการตรวจจับไฟฟ้าในกล้ามเนื้อและเส้นประสาท มักใช้ตรวจบริเวณใบหน้า หรือ โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s Palsy)

แนวทางการรักษาอัมพาต

โรคอัมพาตจะเน้นการรักษาตามสาเหตุและอาการที่ก่อให้เกิดอัมพาต ซึ่งผู้ป่วยแต่ละบุคคลอาจได้รับการรักษาที่แตกต่างกันไปตามการวินิจฉัยของแพทย์ ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นอัมพาตถาวรจะต้องทำการรักษาด้วยการดูแลให้สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ ในส่วนของกรณีที่สามารถรักษาได้แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้

  • การผ่าตัด : ผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจพิจารณาให้ทำการผ่าตัด หรือ ตัดอวัยวะ ขึ้นอยู่กับอาการป่วยและความรุนแรงที่เกิดจากอัมพาต 
  • การทำกายภาพบำบัด : เป็นแนวทางการรักษาอัมพาตที่ช่วยฟื้นฟูประสาทกล้ามเนื้อให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งต้องทำภายใต้การดูแลและคำแนะนำของนักกายภาพบำบัด
  • การทำกิจกรรมบำบัด : เป็นการรักษาอัมพาตด้วยการฝึกทำกิจกรรมต่างในชีวิตประจำวันต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาช่วยเหลือตัวเองได้ 

อย่างไรก็ตามหากพบว่าคนรอบตัว หรือ ตนเองเริ่มมีอาการที่ก่อให้เกิดอัมพาตตามที่ได้ไว้กล่าวไว้ข้างต้น ควรรีบเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที รวมถึงเลี่ยงความเสี่ยงต่อการลุกลามสู่ภาวะพิการได้เร็วมากขึ้น 

สำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษา หรือ ต้องคำแนะนำเกี่ยวกับโรคอัมพาต สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ ฮักษาคลินิก 

เบอร์โทร : 096-696-1999

LINE: @hugsa

Facebook : HUGSAMedical