เมื่อกล่าวถึง โรคหัวใจ (Heart Disease) เชื่อว่าทุกท่านคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่ทราบหรือไม่ว่าโรคหัวใจคือหนึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน ด้วยภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งจากสถิติแล้วพบว่าเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกมากถึง 17.9 ล้านคน (ข้อมูล ณ ปี 2022) โดยโรคหัวใจสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่มโรค ไม่ใช่เพียงแค่อาการโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือ ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน เท่านั้น บทความนี้จึงได้รวบรวมความรู้แบบเจาะลึกเกี่ยวกับ “โรคหัวใจ” เพื่อสร้างความเข้าใจและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการลุกลามไปสู่อาการรุนแรงได้ดียิ่งขึ้น
โรคหัวใจ หรือ Heart Disease คืออะไร?
โรคหัวใจ หรือ Heart Disease คือ โรคต่างๆ ที่ส่งผลต่อระบบการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ โดยสามารถแบ่งชนิดของโรคหัวใจได้จากส่วนของหัวใจที่เกิดอาการผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคแตกต่างกันไป
โรคหัวใจแบ่งออกเป็น 6 ชนิด ได้แก่อะไรบ้าง?
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดออกซิเจนและขาดอาหาร โดยมีผลมาจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน ทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้ โดยโรคหัวใจชนิดนี้ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นขณะออกกำลังกาย เมื่อพักครู่หนึ่งอาการก็หายไป จึงทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนมีอาการของโรคหัวใจ และนำไปสู่อาการรุนแรงถึงขั้นหัวใจวายได้
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส หรือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ
โรคหัวใจชนิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส หรือ Myocarditis เกิดจากไวรัสหลากหลายชนิดที่ส่งผลให้หัวใจอักเสบ ผู้ป่วยจะมีภาวะอักเสบที่เกิดจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ปกติ รวมถึงมีผลทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดจากการนำไฟฟ้าของหัวใจทำงานผิดปกติ
ผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดนี้ส่วนใหญ่มักจะมีอาการไข้ อาการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนบน และมีอาการเริ่มต้นของการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะไม่มีอาการรุนแรงมากนักจึงไม่ได้ตรวจรักษาอย่างทันท่วงที
กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกิดจากอะไร?
- เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น คอกซากีไวรัส เอชไอวี พาร์โวไวรัส อะดีโนไวรัส
- เกิดจากการติดเชื้ออื่นๆ ที่ไม่ใช่เชื้อไวรัส เช่น ปรสิต เชื้อราบางชนิด แบคทีเรีย
- เกิดจากการได้รับสารเคมี เช่น สารตะกั่ว คาร์บอนมอนนอกไซด์
- เกิดจากการได้รับยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ ยาเคมีบำบัด ยากันชักบางชนิด
- เกิดจากการใช้สารเสพติด เช่น โคเคน
- เกิดจากโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคทาคายาสุ โรคลูปัส
โรคหัวใจชนิดกล้ามเนื้อหัวใจพิการ หรือ Dilated Cardiomyopathy เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติทำให้หัวใจพิการ โดยความผิดปกตินี้อาจเป็นตั้งแต่กำเนิดหรือภายหลังก็ได้ ซึ่งในโรคหัวใจจำพวกนี้ภายหลังเป็นชนิดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กล้ามเนื้อหัวในพิการโดยไม่ทราบสาเหตุ แบ่งได้ 3 ชนิดดังนี้
- กล้ามเนื้อหัวใจหนา
- กล้ามเนื้อหัวใจพิการ (กล้ามเนื้อขยายตัวไม่ปกติเนื่องจากมีโรคบางชนิดแทรกในกล้ามเนื้อหัวใจ)
- กล้ามเนื้อหัวใจไม่หนา (หัวใจขยายตัวและบีบตัวผิดปกติ)
ประเด็นสำคัญของโรคหัวใจชนิดกล้ามเนื้อหัวใจพิการ คือ จากสถิติพบว่าส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แน่ชัด ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหัวใจขยายตัวขึ้นและบีบตัวได้ไม่ดีเท่ากับปกติ ส่งผลให้ปริมาณเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกายไม่เพียงพอ ดังนั้นหัวใจจึงมีขนาดโตมากขึ้น เพื่อให้มีปริมาณเลือดบีบออกจากหัวใจมากกว่าเดิม ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า Dilated Cardiomyopathy โดยผู้ป่วยจะมีอาการที่เห็นได้ชัด คือ อาการเหนื่อยง่าย ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าผู้ป่วยจะมีอาการ กล้ามเนื้อหัวใจพิการ ภายหลังจากตรวจพบโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส
- โรคลิ้นหัวใจพิการจากไข้รูห์มาติก
โรคหัวใจชนิดลิ้นหัวใจพิการโดยทั่วไปแล้วแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ลิ้นหัวใจตีบและลิ้นหัวใจรั่ว ในผู้ป่วยบางรายอาจมีทั้ง 2 ชนิดร่วมกัน โดยในประเทศไทยพบว่ามีสาเหตุหลักมาจาก ไข้รูห์มาติก (Rheumatic fever) ซึ่งพบในเด็กอายุตั้งแต่ 5-12 ปี ที่เกิดหลังจากผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรีย “เสตปโตคอคคัส” ภายในช่องปาก ส่งผลให้ร่างกายมีปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อแบคทีเรียอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปฏิกิริยาต้านเนื้อเยื่อที่เกิดเป็นโรคไข้รูห์มาติก หลังจากนั้นจะมีอาการของโรคหัวใจชนิดลิ้นหัวใจอักเสบเรื้องรัง และมีภาวะลิ้นหัวใจพิการ ทั้งนี้ภาวะลิ้นหัวใจพิการเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยชรา
- โรคลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ
โรคหัวใจชนิดลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ พบว่ามักเกิดหลังจากผู้ป่วยมีความผิดปกติของลิ้นหัวใจ เช่น อาการลิ้นหัวใจพิการจากไข้รูห์มาติก ซึ่งมีผลมาจากอาการอักเสบของหัวใจที่ทำให้ลิ้นหัวใจมีรูปร่างผิดปกติจากเดิม เนื่องจากการลุกลามของเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด จึงทำลายลิ้นหัวใจได้ง่าย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการหนาวสั่น มีไข้ บางรายมีอาการของการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างเห็นได้ชัด เช่น แขนขาดเลือด สมองอัมพาต เป็นต้น
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด คือ ความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือ ความปกติทางการเจริญเติบโตตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์มารดา โดยมีความผิดปกติในส่วนของการเติบโตของเนื้อเยื่อที่พัฒนาไปเป็นหัวใจ ส่งผลให้รูปร่างของหัวใจในทารกไม่สมบูรณ์ ทั้งผนังกั้นหัวใจรั่ว ไม่มีผนังกั้นหัวใจ ลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว หรือในผู้ป่วยบางรายมีลักษณะความพิการซ้ำซ้อน เช่น Tetralogy of Fallot ที่มีอาการร่วมของทั้ง ลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ ผนังกั้นหัวใจรั่ว ภาวะตัวเขียว ลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าคล่อมผนังหัวใจ เป็นต้น
- โรคหรือความพิการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ
โรคหัวใจที่เกี่ยวข้องกับโรคอื่นๆ หรือ ความพิการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ ดังต่อไปนี้
- โรคความดันโลหิตสูง
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- กลุ่มอาการหัวใจวายเลือดคั่ง
- เยื่อหุ้มหัวใจหนาผิดปกติบีบรัดหัวใจ
- โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น เนื้องอกของต่อมใต้สมอง คอพอกเป็นพิษ
- โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ เช่น มีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรัง
- หลอดเลือดพิการ เช่น หลอดเลือดแดงใหญ่ (เออร์ต้า) โป่งพอง หลอดเลือดแดงใหญ่ (เออร์ต้า) ตีบ
- ภาวะขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี
กลุ่มโรคดังกล่าวนี้ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางหัวใจได้ หรือ บางรายอาจเกิดอาการหัวใจวาย เลือดคั่ง หรือ มีอาการอื่นๆ ที่เป็นอาการเฉพาะของโรคร่วมด้วย
สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าคุณอาจเสี่ยงต่อการเป็น “โรคหัวใจ”
- มีอาการเหนื่อยง่ายเมื่อออกกำลังกาย เดินเร็ว หรือ ออกแรงมาก
- หายใจเข้าไม่ปกติ บางรายอาจเป็นตลอดเวลา บางรายเป็นขณะออกกำลังกาย หรือ ใช้แรงมากๆ
- หายใจหอบเหนื่อยขณะนอนหลับทำให้บางครั้งต้องตื่นขึ้นมาหอบกลางดึก
- แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก บริเวณกลางอก หรือ บางรายมีอาการเจ็บหน้าอกด้านซ้าย/ทั้ง2ด้าน จนทำให้ไม่สามารถนอนราบได้ปกติ
- ขา หรือ เท้า บวมโดยไม่ทราบสาเหตุ บริเวณริมฝีปาก ปลายมือ ปลายเท้า มีสีเขียวคล้ำ
- เป็นลมหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ
วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจมีขั้นตอนอย่างไร?
จากเนื้อหาข้างต้น โรคหัวใจ มักจะไม่มีสัญญาณเตือนให้ทราบล่วงหน้า ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจจึงเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ หรือ หมั่นสังเกตอาการความผิดปกติเบื้องต้นของตนเอง หากสงสัยว่าตนมีอาการเข้าข่ายตามสัญญาณเตือนข้างต้น สามารถเข้ารับการทดสอบสมรรถภาพของหัวใจเพื่อให้ทราบอาการได้อย่างทันท่วงที
- ตรวจร่างกายและประวัติสุขภาพ
เข้าตรวจร่างกายโดยละเอียดเพื่อให้ทราบความเสี่ยงของโรคที่อาจทำให้เกิดโรคหัวใจได้ ร่วมถึงแพทย์จะทำการซักถามประวัติสุขภาพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ครอบครัวมีประวัติอาการป่วยหรือไม่ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนการออกกำลังกาย เป็นต้น
- Exercise Stress Test : การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย
การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย คือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยการติดแผ่นตะกั่วบริเวณหน้าอก เพื่อบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือด ในการวัดค่าการตอบสนองของหัวใจต่อความเครียดทางร่างกาย ซึ่งการทดสอบสามารถทำได้โดน การเดินบนสายพาน หรือ การปั่นจักรยานอยู่กับที่ เป็นต้น
- EKG or ECG : การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
Electrocardiogram คือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ด้วยการวางแผ่นนำไฟฟ้าบนหน้าอกเพื่อจับสัญญาณกระแสไฟฟ้า เพื่อให้ทราบผลการทำงานของหัวใจว่าทำงานปกติหรือไม่อย่างไร ซึ่งเป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจเบื้องต้นที่สามารถตรวจได้ง่ายไม่ซับซ้อน
- Echocardiogram : การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง
การตรวจคลื่นหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนที่มีความถี่สูง โดยใช้สะท้อนคลื่นเสียงเพื่อจับภาพความเคลื่อนไหวของหัวใจ ในการวัดและระบุการทำงานพร้อมกับโครงสร้างของหัวใจ
- Radionuclide Scan : การตรวจโดยใช้รังสีฉีดเข้ากระแสเลือด
การตรวจโดยการใช้รังสีฉีดเข้ากระแสเลือดและไหลเข้าสู่หัวใจ โดยแพทย์จะกล้องชนิดพิเศษสำหรับถ่ายภาพหัวใจให้แสดงผลการทำงานของหัวใจผ่านจอภาพ จากนั้นแพทย์จะทำการสังเกตอย่างละเอียดเพื่อให้ทราบว่าการทำงานของหัวใจมีความผิดปกติหรือไม่
- Blood enzyme tests : การตรวจหาระดับเอนไซม์ในเลือด
Cardiac enzymes คือ สารที่อยู่ในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเมื่อหัวใจมีการถูกทำลาย การตรวจหาโรคหัวใจจะทำโดยการปล่อยเอนไซม์เข้าสู่กระแสเลือด ให้แสดงถึงระดับเอนไซม์ที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ หากพบว่ามีระดับเพิ่มขึ้นนั่นหมายถึงผู้ตรวจมีภาวะหัวใจวายได้
- การสวนหัวใจ
การวินิจฉัยโรคหัวใจด้วยการสวนหัวใจ เป็นการตรวจเอ๊กซเรย์โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ ด้วยการสอดสายยางขนาดเล็กเข้าทางหลอดเลือดบริเวณขาหนีบเข้าสู่หัวใจ ซึ่งสารที่ฉีดผ่านสายยางจะมีลักษณะเฉพาะ ทำให้แพทย์สามารถดูจากจอภาพได้ว่าบริเวณไหนของเส้นเลือดที่มีภาวะตีบหรืออุดตัน
อย่างไรก็ตามจากเนื้อหาที่เราได้รวบรวมเกี่ยวกับโรคหัวใจทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าโรคหัวใจมักเกิดขึ้นโดยที่ผู้ป่วยไม่ทราบอาการได้อย่างชัดเจน การทราบถึงภาวะความเสี่ยงได้ก่อนจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการหยุดการลุกลามสู่อาการของโรคหัวใจ ดังนั้นการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หมั่นสังเกตสุขภาพของตัวเองและคนใกล้ชิดเป็นประจำ จะช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้มากกว่านั่นเอง
สำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาเกี่ยวกับโรคหัวใจ หรือ ต้องการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ ฮักษาคลินิก
เบอร์โทร : 096-696-1999
LINE: @hugsa
Facebook : HUGSAMedical
HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ