โรคหนองในคืออะไร เป็นแล้วหายเองได้หรือไม่?

โรคหนองในคืออะไร เป็นแล้วหายเองได้หรือไม่?

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความสำคัญกับโรคหนองในเป็นลำดับต้นๆ ในกลุ่มของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากพบว่ามีการรายงานอัตราผู้ป่วยโรคหนองในและมีภาวะดื้อยาอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการลดอุบัติการณ์ของการติดเชื้อหนองในทั่วโลก ให้ลดลงร้อยละ 90 ในปี พ.ศ.2573 ด้วยการกำหนดแนวทางต่างๆ ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยการเพิ่มระบบการตรวจให้บริการรักษาโรคหนองในรวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ อย่างเป็นระบบ และสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น

โรคหนองในคืออะไร?

โรคหนองใน (Gonorrhoeae) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่าไนซีเรียโกโนเรีย (Neisseria gonorrhoeae) ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อบริเวณลำคอ อวัยวะเพศ และทวารหนัก โดยจากสถิติพบได้มากในกลุ่มวัยหนุ่มสาวที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี และส่วนใหญ่มักจะเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาเมื่อโรคหนองในมีอาการรุนแรงและชัดเจนแล้ว ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้ นอกจากนี้ยังมีโรคหนองในเทียม ที่เกิดจากเชื้อ Chlamydia Trachomatis ที่นอกเหนือจากหนองในแท้ (Non Gonococcal Urethritis) หรือ NSU  ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคคล้ายกับโรคหนองในแท้แต่ไม่รุนแรง ทว่ามีความเสี่ยงต่ออาการเรื้อรังหากไม่ทำการรักษาอย่างถูกต้อง

โรคหนองในแท้และโรคหนองในเทียมต่างกันอย่างไร?

โรคหนองในทั้ง 2 ประเภทมีความแตกต่างกันดังต่อไปนี้

  • หนองในแท้

: เกิดจากการติดเชื้อ Neisseria gonorrhoeae มีระยะการฟักตัวตั้งแต่ 1-10 วัน ส่งผลให้ผู้ป่วยในเพศชายมีอาการปวดขณะปัสสาวะ รู้สึกแสบ อักเสบ มีหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะ ในส่วนของผู้ป่วยเพศหญิงมีอาการท่อปัสสาวะอักเสบ ปากมดลูกอักเสบ และมีหนองไหลออกจากปากมดลูก เป็นต้น

  • หนองในเทียม

: เกิดจากการติดเชื้อ Chlamydia Trachomatis มีระยะการฟักตัวตั้งแต่ 10 วันขึ้นไป ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการที่ไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับโรคหนองในแท้ แต่มีอาการของโรคหนองในที่เรื้อรัง โดยในผู้ป่วยเพศชายมีจะของเหลวไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ และในผู้ป่วยเพศหญิงจะมีอาการคล้ายตกขาว มีลักษณะเป็นสีเหลือง ไหลออกจากช่องคลอด เป็นต้น

โรคหนองในมีอาการอย่างไร?

โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคหนองในเกิดจากการแพร่เชื้อโดยการมีเพศสัมพันธ์เป็นส่วนใหญ่ เชื้อจะอยู่บริเวณท่อปัสสาวะชายและหญิง ปากมดลูก ในบางรายพบเชื้อที่ทวารหนักและลำคอ ซึ่งลักษณะอาการของโรคหนองในที่พบ มีดังต่อไปนี้

  • โรคหนองในผู้ชาย

หากพบเชื้อหนองในบริเวณท่อปัสสาวะ จะพบของเหลวสีเหลืองข้น หรือ สีขาว ไหลออกจากอวัยวะเพศ รู้สึกเจ็บ ปวด เมื่อปัสสาวะ บริเวณปลายอวัยวะเพศมีอาการอักเสบ แดงผิดปกติ บางรายที่พบเชื้อหนองในบริเวณทวารหนักมักมีของเหลวไหลออกจากทวารหนัก และในส่วนของผู้ป่วยที่พบเชื้อบริเวณลำคอมักจะไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจน อาจรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบายตัว 

  • โรคหนองในผู้หญิง

โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคหนองในผู้หญิงมักจะไม่แสดงอาการ หรือ รอยโรคให้เห็นชัดเจน ในบางรายที่มีอาการจะพบว่ามีของเหลวออกจากช่องคลอดมากผิดปกติ คล้ายการตกขาว ประจำเดือนมาไม่ปกติ อ่อนเพลียไม่สบายตัว ถ่ายปัสสาวะลำบาก เจ็บอุ้งเชิงกรานในขณะมีเพศสัมพันธ์ หากพบเชื้อหนองในบริเวณทวารจะมีของเหลวออกจากทวารหนัก ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่เข้ารักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจทำให้เชื้อหนองในลุกลามสู่มดลูกและท่อทางเดินรังไข่ได้ ก่อให้เกิดอาการอุ้งเชิงกรานอักเสบจนเกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ได้ในที่สุด

จะทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อหนองใน

หากสังเกตว่ามีอาการข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งตัวคุณและคู่นอน ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อหนองใน หรือ ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ อย่างเร็วที่สุด เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรอง ซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแสดงของโรคหนองในแล้ว แพทย์จะทำการการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง (Gram stained smear) เพื่อทำการการย้อมสีของกรัม และในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาการแสดงของโรคหนองในชัดเจน แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างจากทางปัสสาวะ (PCR for Urine) 

ซึ่งการตรวจหนองในเบื้องต้นนั้นใช้เวลาไม่นานและทราบผลได้ภายใน 1 สัปดาห์ ในกรณีที่ผลการตรวจยืนยันว่าเป็นโรคหนองใน แพทย์จะทำการตรวจเลือดเพื่อคัดกรองหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เพิ่มเติมร่วมด้วย ดังนั้นหากทราบว่าตนมีความเสี่ยงในการติดเชื้อหนองใน ไม่ควรรอช้าที่จะปรึกษาแพทย์โดยตรง ก่อนที่เชื้อจะลุกลามไปสู่ภาวะอันตราย  

โรคหนองในหายเองได้หรือไม่?

เนื่องจากหลายคนยังมองว่าโรคหนองในเป็นโรคที่น่าอาย ไม่กล้าเข้ารับการตรวจอย่างเหมาะสม จึงมีข้อสงสัยว่าโรคหนองในเป็นแล้วสามารถหายเองได้หรือไม่ คำตอบคือไม่สามารถรักษาให้หายเองได้ ควรเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางแผนการรักษาตามลักษณะอาการของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย ในกรณีที่พบว่ามีการติดเชื้อหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย จำเป็นจะต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาอย่างต่อเนื่อง

หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหนองในอย่างไร?

อย่างที่กล่าวมาข้างต้น โรคหนองใน เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงที่ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อหนองในได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด นั่นก็คือการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย รวมถึงการตระหนักถึงปัจจัยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วยการคำนึงถึงข้อควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์

  • คำนึงถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่มีเชื้อหนองใน หรือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ 

  • หากพบความผิดปกติที่มีอาการคล้ายโรคหนองใน ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างทันท่วงที

 

วิธีการรักษาโรคหนองใน

 การรักษาโรคหนองในซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น การเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุดจะส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพมากกว่า ในกรณีที่เข้ารับการรักษาเมื่อตรวจพบภาวะแทรกซ้อนจากโรคหนองในแล้ว เช่น ภาวะมีบุตรยาก อุ้งเชิงกรานอักเสบ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ฯลฯ แพทย์อาจให้นอนรักษาในโรงพยาบาล หรือ เข้ารับการผ่าตัด ทั้งนี้การรับยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคหนองในผู้หญิง ส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดลดลง เแพทย์จึงแนะนำให้งดการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างเข้ารับการรักษา หรือ ใช้วิธีการคุมกำเนิดประเภทอื่น 

  

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษาโรคหนองใน

ผู้ชาย

  • สวมกางเกงที่สบายไม่อึดอัดและสามารถถอดตรวจได้ง่าย

  • งดทายาบริเวณอวัยวะเพศก่อนเข้ารับการตรวจ

  • ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้ารับการตรวจ

ผู้หญิง

  • สวมกางเกงและเสื้อผ้าที่ใส่สบายไม่อึดอัดและสามารถถอดตรวจได้ง่าย

  • งดทายาบริเวณอวัยวะเพศก่อนเข้ารับการตรวจ และไม่ควรทำความสะอาดอวัยวะเพศโดยผิดวิธี

  • เข้ารับการตรวจโรคหนองในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน หากมีประจำเดือนควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนเข้ารับการตรวจ

  • ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้ารับการตรวจ

 

แนวทางการป้องกันการกลับมาเป็นโรคหนองในซ้ำ

  • งดการมีเพศสัมพันธ์ช่วง 7 วันหลังจากรับการรักษาโรคหนองในจนหายดีแล้ว

  • ในกรณีที่หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ ควรใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการกลับมาติดเชื้อหนองใน หรือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ

  • รับประทานยารักษาโรคหนองในที่แพทย์จ่ายยาให้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน เพื่อป้องกันการดื้อยาและประสิทธิภาพยาที่ดีที่สุด

  • เข้าพบแพทย์เพื่อติดตามอาการของโรคหนองในตามนัดทุกครั้ง

  • รักษาความสะอาดของร่างกาย เสื้อผ้าและชุดชั้นใน

  • รักษาความสะอาดของอวัยวะเพศอย่างเป็นนิสัย

  • หากพบอาการผิดปกติ เช่น มีหนองไหลออกจากอวัยวะเพศ มีอาการตกขาวผิดปกติ หรือ อาการคล้ายโรคหนองใน ควรรีบเข้าพบแพทย์โดยเร็ว

  • ไม่ควรหาซื้อยารับประทานเอง

 

โรคหนองใน เป็นหนึ่งในภัยเงียบที่พึงระมัดระวังไม่แพ้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ  และแน่นอนว่าการมีเพศสัมพันธ์นั้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ ดังนั้นการตระหนักรู้ถึงสาเหตุของโรคหนองใน อาการของโรค รวมถึงแนวทางการป้องกันที่ถูกต้องนั้น จะช่วยให้ห่างไกลจากความเสี่ยงโรคหนองในได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ที่สำคัญคือมุมมองต่อโรคหนองในที่อาจทำให้หลายคนไม่กล้าเข้ารับการตรวจรักษา จนส่งผลให้อาการของโรคหนองในทวีความรุนแรงขึ้นโดยไม่รู้ตัว การมองมุมใหม่ว่า หนองใน เป็นโรคทางการแพทย์ที่ทุกคนมีโอกาสเป็นได้ จะช่วยให้การตัดสินใจเข้ารับคำปรึกษาโดยแพทย์เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และส่งผลดีต่อการรักษาได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้น

 

สำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาเกี่ยวกับโรคหนองใน หรือ ต้องการตรวจวินิจฉัยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ ฮักษาคลินิก 

เบอร์โทร : 096-696-1999

LINE: @hugsa

Facebook : HUGSAMedical

 

HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ