เรื่องต้องรู้ ความดันสูง-ความดันต่ำ อันตรายแค่ไหน?
ความดันโลหิต คือ ค่าความดันของเลือดที่ดันต้านกับผนังเส้นเลือดแดง จากการสูบฉีดเลือดของหัวใจซึ่งหัวใจมีการบีบตัว เพื่อทำหน้าที่สูบฉีดเลือด ออกซิเจน รวมถึงสารอาหารต่างๆ ผ่านทางหลอดเลือดแดงไปเลี้ยงยังทุกส่วนของร่างกาย โดยค่าความดันต่ำ หรือ ค่าความดันสูง จะได้จากการวัดด้วยเครื่องมือที่ทำให้ทราบเป็นค่าตัวเลข ซึ่งค่าความดันโลหิตของผู้ใหญ่ปกติจะอยู่ที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท และหากมีค่าความดันโลหิตตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง กรณีที่ผู้ใหญ่มีค่าความดันโลหิต ต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่ามีภาวะความดันโลหิตต่ำนั่นเอง
อย่างไรก็ตามความดันโลหิตสูงนั้นส่งผลต่อร่างกายในหลากหลายด้าน อีกทั้งยังเป็นสัญญาณความเสี่ยงต่อร่างกายและทำให้เกิดอาการต่างๆ มากมาย เช่น ปวดตึงต้นคอและท้ายทอย เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายผิดปกติ นอนไม่หลับ ใจสั่น มือเท้าชา ตาพร่ามัว เป็นต้น โดยส่วนมากมักพบผู้ป่วยภาวะความดันสูงและมีความเข้าใจที่ผิดต่อภาวะความดันต่ำ ที่มักคิดว่าไม่ส่งผลต่อสุขภาพแต่อย่างใด มองว่าตนมีสุขภาพแข็งแรงดี แต่ทราบหรือไม่ว่าแท้จริงแล้วความดันสูงและความดันต่ำนั้น ต่างมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ในที่สุดไม่ต่างกัน
เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับความดันสูง
ความดันสูงนับว่าเป็นภัยเงียบที่ส่งผลร้ายต่อหลอดเลือดและหัวใจ ซึ่งหากมีค่าความดันที่ได้จากการวัดขณะที่อยู่ในสภาวะพัก ด้วยค่าคาวมดันซิสโตลี (ค่าความดันตัวบน) มากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท หรือ ค่าความดันไดแอสโตลี (ค่าความดันตัวล่าง) มากกว่าหรือเท่ากับ 90 มิลลิเมตรปรอท จะหมายถึงมีภาวะโรคความดันโลหิตสูง
อาการของความดันสูงเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยความดันสูงส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจน แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเวียนศีรษะ เหนื่อยง่ายผิดปกติ และมีอาการมึนงง ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่ได้เข้ารับการรักษาอาจนำไปสู่ความเสียหายของอวัยวะสำคัญต่างๆ ในร่างกายได้ เช่น หัวใจ สมอง หลอดเลือด ไต และตา ที่เกิดขึ้นจากความดันโลหิตที่สูงส่งผลให้ผนังหลอดเลือดแดงเกิดหนาตัวขึ้น ทำให้รูหลอดเลือดเล็กลงและทำให้เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหากอวัยวะนั้นๆ ถูกทำลายอย่างรุนแรงอาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้ในที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันสูง
ภาวะความดันโลหิตสูงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
ความดันโลหิตสูงชนิด Primary Hypertension
เป็นภาวะความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากภาวะทางการแพทย์ ส่วนใหญ่มักเกิดจากกรรมพันธุ์ สุขภาพร่างกาย โรคอ้วน ซึ่งสามารถรักษาให้กลับเป็นปกติได้ด้วยการทานยา และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างเหมาะสม
ความดันโลหิตสูงชนิด Secondary Hypertension
เป็นภาวะความดันโลหิตสูงที่เกิดจากภาวะทางการแพทย์อื่นๆ หรือ สภาวะสุขภาพพื้นฐานที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ส่งผลต่อหัวใจ หลอดเลือดแดง ไต หรือระบบต่อมไร้ท่อในร่างกาย โดยหญิงตั้งครรภ์อาจมีภาวะนี้เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ได้
อย่างไรก็ตามสาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงเฉียบพลันนั้น อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ในอนาคต โดยมีปัจจัยต่างๆ ที่เป็นเงื่อนไขทางสุขภาพดังนี้
- ความผิดปกติของหลอดเลือด
- โรคต่อมไทรอยด์
- โรคไต
- เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต
- ปัญหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
- ยาคุมกำเนิด ยารักษาโรคไข้หวัด ยาแก้ปวด ฯลฯ
- การใช้ยาเสพติด เช่น โคเคน ยาบ้า
วิธีการป้องกัน
“โรคความดันโลหิตสูง” ถือเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรไทย ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการตรวจเช็คสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงทีโดยไม่ปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน
อย่างไรก็ตามควรตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็ม ทานผักผลไม้ที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ งดการดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ และควบคุมน้ำหนักตัว เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีและห่างไกลต่อภาวะความดันสูงให้ได้มากที่สุด
เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับความดันต่ำ
ภาวะความดันต่ำ เป็นภาวะที่ระดับความดันโลหิตต่ำกว่าค่าปกติ ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายที่สามารถสังเกตได้ เช่น หน้ามืด เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย และในบางรายอาจเป็นสาเหตุทำให้หมดสติได้ เนื่องจากระบบการไหลเวียนเลือดที่มีความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท ในผู้ใหญ่ และค่าความดันต่ำกว่า 100/70 มิลลิเมตรปรอท ในผู้สูงอายุ โดยส่วนใหญ่มักพบในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ หรือ ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตต่ำ
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันต่ำ
ภาวะความดันต่ำเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งชายและหญิงในอัตราใกล้เคียงกัน ซึ่งพบได้ในทุกวัยตั้งแต่เด็กอ่อนไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยขึ้นอยู่กับสาเหตุการเกิดของแต่ละคน ตามหลักแล้วสามารถแบ่งภาวะความดันต่ำได้เป็น 4 ประเภท คือ
ความดันโลหิตต่ำหลังรับประทานอาหาร
เกิดจากความดันต่ำลงอย่างฉับพลันหลังจากการรับประทานอาหาร ส่วนมากพบได้ในผู้สูงอายุที่รับประทานอาหารมากเกินไป ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปที่ระบบทางเดินอาหารมากกว่าปกติ
ความดันโลหิตต่ำจากการลุกขึ้นยืนหรือเปลี่ยนอิริยาบถกะทันหัน
เกิดจากการเปลี่ยนท่าทางหรืออิริยาบถกะทันหัน ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงทันทีเมื่อเปลี่ยนท่าทาง เช่น ยืนขึ้น นั่งลง หรือ หลังการนอนหลับ โดยอาการจะแสดงประมาณ 5-10 นาทีหลังการเปลี่ยนท่าทาง ส่งผลให้ร่างกายมีอาการตาพร่ามัว วิงเวียนศีรษะ และเป็นลม
ความดันโลหิตต่ำจากความผิดปกติของสมอง
เป็นภาวะความดันโลหิตต่ำที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ทำให้ระดับความดันต่ำลงจากการยืนเป็นเวลานาน เนื่องจากการทำงานระหว่างหัวใจและสมองที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ความดันโลหิตต่ำจากความเสียหายของระบบประสาท
ความเสียหายของระบบประสาทสามารถพบได้น้อยหากเทียบกับสาเหตุอื่นๆ ส่งผลเสียหายต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้เกิดความดันต่ำ รวมไปถึงอัตราการเต้นของหัวใจ การย่อยอาหาร และการหายใจ ส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำมากเมื่อลุกขึ้นยืนและความดันสูงมากในขณะที่นอนการเกิดภาวะความดันต่ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากปัญหาสุขภาพ พฤติกรรมการใช้ชีวิต และการรับประทานยา ซึ่งส่วนมากมักมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่อไปนี้
- ภาวะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะโปรตีน วิตามินบี วิตามินซี ที่หากขาดในปริมาณมากจะทำให้เนื้อเยื่อรอบผนังหลอดเลือดแดงอ่อนแอและคลายตัวมากผิดปกติ
- การสูญเสียเลือดแบบกะทันหัน หรือ การสูญเสียเลือดแบบเรื้อรัง
- โรคหัวใจ
- การติดเชื้อรุนแรง
- การสูญเสียน้ำ
- การตั้งครรภ์
- ภาวะซึมเศร้า
วิธีการป้องกัน
ภาวะความดันต่ำแต่ละประเภทมีสาเหตุการเกิดที่ต่างกันออกไป ดังนั้นการป้องกันที่แน่ชัดอาจจำไม่สามารถสรุปได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามมีเพียงแนวทางการลดความเสี่ยงต่อการเกิดความดันต่ำได้เท่านั้น โดยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วน หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน และเน้นอาหารประเภทผัก ผลไม้ ธัญพืช
- ไม่ควรลุกหรือนั่งอย่างรวดเร็วเกินไป
- หมั่นตรวจความดันโลหิตตนเอง หรือ ญาติผู้ใหญ่อย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตสูง
เป็นที่ทราบกันดีว่าภาวะความดันสูงนั้นส่งผลร้ายและอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง จึงทำให้หลายคนให้ความใส่ใจกับภาวะความดันสูงที่มากกว่าความดันต่ำ แต่จากเนื้อหาข้างต้นที่ได้รวบรวมไว้สะท้อนให้เห็นว่าความดันต่ำก็ส่งผลร้ายต่อร่างกายได้เช่นเดียวกัน การที่มองว่าภาวะความดันต่ำไม่เป็นปัญหาต่อสุขภาพจึงเป็นความเข้าใจผิด ทั้งที่จริงแล้วแม้ว่าพบความดันต่ำในระดับปานกลางแต่ก็สามารถทำให้เกิดอาการอ่อนแรง หน้ามืด เวียนศีรษะ และเสี่ยงต่อการหกล้มจนได้รับการบาดเจ็บได้ อีกทั้งยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้เช่นกัน
ความดันโลหิตจึงเป็นภาวะที่ควรให้ความสำคัญ โดยการหมั่นวัดระดับความดันอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับความดันในร่างกาย เมื่อมีอาการที่ผิดปกติเพียงเล็กน้อยควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
ติดต่อสอบถาม ฮักษาคลินิก จันทบุรี
เบอร์โทร : 096-919-4942
LINE : @hugsa
Facebook : HUGSAMedical
HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ