รักษาโรคไมเกรน

ปวดหัว ไมเกรน ภัยร้ายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

อาการปวดหัวไมเกรน เป็นหนึ่งในโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหัวที่หลายคนคุ้นชื่อเป็นอย่างดี ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและมักเกิดขึ้นจนทำให้เกิดผลกระทบในชีวิตประจำวันได้ ส่วนใหญ่หลายคนเข้าใจว่าที่ตนเองมีอาการปวดหัวเป็นครั้งคราวแล้วหายไปนั้นอาจเป็นไมเกรน โดยหาซื้อยาแก้ปวดมาทานและไม่เข้ารับการตรวจรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทราบหรือไม่ว่าอาจทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นภัยใกล้ตัวที่คุณอาจมองข้ามไปได้ บทความจึงนี้ได้รวบรวมประเด็นสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับไมเกรน ให้ได้สังเกตอาการของตนเองได้ง่ายมากขึ้น ก่อนตัดสินใจมาพบแพทย์ต่อไป

ปวดหัว ไมเกรน คืออะไร? 

ไมเกรน หรือ Migraine Headache คือ อาการปวดศีรษะที่เกิดจากความผิดปกติชั่วคราวของในการทำงานของสมอง ที่มีผลกระทบต่อสารเคมี หลอดเลือดในสมอง เส้นประสาท และระดับเคมีภายในสมอง ส่งผลให้มีอาการปวดซ้ำๆ จากการบีบและคลายตัวของหลอดเลือดในเยื่อหุ้มสมองที่มากกว่าปกติ ทำให้มีอาการปวดศีรษะข้างเดียว ปวดบริเวณรอบกระบอกตา รวมถึงมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตาไวต่อแสง (แพ้แสง) บางรายอาจมีอาการปวดทั้งสองข้างหรือปวดสลับซ้ายขวาได้เช่นกัน

สาเหตุของที่ทำให้เกิดไมเกรนคืออะไร?

ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุการเกินไมเกรนที่แน่ชัด แต่จากการรวบรวมข้อมูลจากผู้ป่วยทั่วโลกสามารถระบุปัจจัยต่างๆ ที่กระตุ้นทำให้เกิดการปวดหัวไมเกรน ดังนี้

  • ความเครียด

  • ฮอร์โมนหญิงมีการเปลี่ยนแปลง

  • การสูบบุหรี่

  • นอนหลับไม่เพียงพอ หรือ นอนหลับมากเกินไป

  • การใช้ยาบางชนิด

  • รับประทานอาหารไม่เพียงพอ

  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างเฉียบพลัน

  • แสง เสียง กลิ่น ที่มากกว่าปกติ

  • ออกกำลังการแบบหักโหม หรือ เคลื่อนไหวร่างกายมากเกินควร

  • การสืบทอดทางพันธุกรรม

  • การรับประทานอาหารไม่เพียงพอ

อาการของไมเกรนแบ่งได้เป็น 4 ระยะ

ไมเกรนสามารถแบ่งระยะอาการปวดออกเป็น 4 ระยะ โดยลำดับจากการแสดงอาการของผู้ป่วย ดังนี้

  1. Prodrome : ระยะบอกเหตุล่วงหน้า

ส่วนใหญ่จะมีอาการบอกเหตุล่วงหน้าประมาณ 1-2 วัน ก่อนปวดหัวไมเกรน โดยจะมีอาการอารมณ์แปรปรวน ปวดตึงต้นคอ เป็นต้น

  1. Aura : อาการเตือนนำ

ระยะนี้ผู้ป่วยไมเกรนบางรายมักจะมีอาการมองเห็นผิดปกติ รู้สึกได้ว่ามีความผิดปกติทางสายตา อาจเห็นภาพบิดเบี้ยว ภาพเบลอ เห็นแสงระยิบระยับ หรือเห็นแสงไฟสีขาวมีขอบหยัก ซึ่งในผู้ป่วยไมเกรนบางรายอาจไม่แสดงอาการเตือนนำนี้อย่างชัดเจน

  1. Headache : อาการปวดศีรษะไมเกรน

ระยะนี้ผู้ป่วยไมเกรน หรือ คนทั่วไป มักจะคุ้นเคยกันดี เนื่องจากผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวข้างเดียว ปวดหัวตุ๊บๆ ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างสลับไปมา ซึ่งบางรายาอาจมีอาการรุนแรงจนส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ไม่สามารถทำงานได้ ส่วนใหญ่จะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้อาเจียน แพ้สิ่งเร้าต่างๆ ง่ายเป็นพิเศษ เช่น แสงจ้า กลิ่นฉุน หรือ เสียงดัง

  1. Postdrome : เข้าสู่ภาวะปกติ 

เป็นระยะที่ผู้ป่วยไมเกรนไม่มีอาการปวดจากระยะที่สาม (Headache) ระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ไวต่อสิ่งเร้า วิงเวียนศีรษะ และมีอาการสับสน ซึ่งคล้ายกับระยะที่สาม

แนวทางการรักษาไมเกรนในปัจจุบัน

จากเนื้อหาข้างต้นที่กล่าวว่าที่มีปัจจัยกระตุ้นไมเกรนได้หลากหลาย ดังนั้นการรักษาจะต้องเริ่มต้นจากการหาสาเหตุของไมเกรนในผู้ป่วยแต่ละคนให้ทราบก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นแพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด ดังนั้นการหมั่นสังเกตต้นตอที่ทำให้เกิดอาการไมเกรนในตนเองก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งแนวทางการรักษาของแพทย์จะเน้นไปที่การหาสาเหตุของไมเกรน จากนั้นจึงจะรักษาผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างเหมาะสมมากที่สุด โดยแนวทางการรักษาหลักๆ สามารถแบ่งได้ดังนี้

  • การบรรเทาอาการปวดไมเกรนด้วยยา

การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดไมเกรน เป็นเพียงแนวทางการลดความปวดเท่านั้น ไม่ใช่การรักษาให้หายได้ถาวร โดยแพทย์จะแนะนำให้ทานยาทันทีเมื่อมีอาการไมเกรน เพื่อให้ยาที่ทานมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดมากที่สุด 

    • ยาบรรเทาอาการปวดไมเกรน (ชนิดไม่รุนแรง)

      • ยาพาราเซตามอล
      • ยาลดอาการอักเสบ (ไม่ใช่สเตียรอยด์) : Ibuprofen, Celecoxib, Etoricoxib Naproxen
    • ยาบรรเทาอาการปวดไมเกรน (ชนิดรุนแรง) 

      • ยากลุ่ม Triptans : Sumatriptan, Eletriptan
      • ยาที่มีส่วนผสมของ Ergotamine : Ergotamine + Caffeine
  • การบรรเทาอาการร่วมของไมเกรนด้วยยา

เป็นการบรรเทา อาการคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งเป็นอาการร่วมที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากอาการปวดหัวไมเกรน ด้วยยา Metoclopramide และ Domperidone

  • การใช้ยาป้องกันอาการปวดไมเกรน

เป็นแนวทางการป้องกันการเกิดไมเกรน ด้วยการใช้กลุ่มยายาลดความดัน ได้แก่ Verapamil, Metoprolol tartrate, Propranolol  กลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้า Amitriptyline กลุ่มยากันชัก Topiramate, Valproate และกลุ่มยา Calcitonin gene-related peptide (CGRP) monoclonal antibodies

  • การทำกายภาพบำบัดแก้อาการปวดไมเกรน

เป็นแนวทางการรักษาไมเกรนในกรณีที่พบว่าผู้ป่วยมีสาเหตุของโรคจากความผิดปกติของโครงสร้างทางร่างกาย ซึ่งมีผลมาจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โดยอาจเกิดจากการนอน ท่านั่ง ท่ายืน หรือ การเดิน ที่ไม่ถูกต้อง จึงส่งผลให้กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ เกิดการฉีกขาดและทำงานไม่สมดุล ดังนั้นการทำกายภาพจะช่วยแก้ไขสาเหตุของอาการปวดหัวควบคู่ไปกับการรักษาให้ร่างกายทำงานได้อย่างสมดุลมากขึ้น

  • การฝังเข็มบรรเทาอาการปวดไมเกรน

เป็นการรักษาและบรรเทาอาการปวดไมเกรนด้วยการใช้แพทย์ทางเลือก ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ให้เลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้น วิธีฝังเข็มช่วยลดอาการปวดได้อีกวิธีหนึ่งซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคไมเกรนในแต่ละคนด้วย

  • การใช้ยาฉีดป้องกันการเกิดไมเกรน

เป็นแนวทางการป้องกันไมเกรนด้วยการฉีดยาเข้าสู่เส้นประสาทบริเวณท้ายทอย หนึ่งทางเลือกที่แพทย์แนะนำสำหรับผู้ป่วยไมเกรนเรื้อรัง เนื่องจากไม่มีผลข้างเคียง มีประสิทธิภาพสูง เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถทนรับผลข้างเคียงที่เกิดจากยาป้องกันชนิดอื่นๆ ได้

การรักษาไมเกรนด้วยยามีข้อเสียหรือไม่?

การรักษาไมเกรนด้วยยานั้นอาจส่งผลเสียต่อร่างกายผู้ป่วยบางรายได้ เช่น อาจทำให้เกิดแผลเปื่อย แผลอักเสบ เลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ เป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรังแทรกซ้อนเนื่องจากการใช้ยาแก้ปวดเป็นระยะเวลานาน หรือ มีอาการข้างเคียงจากยาที่ส่งผลให้เลือดไหลเวียนผิดปกติ ประสิทธิภาพในการหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายลดลง

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไมเกรน

สำหรับผู้ป่วยไมเกรนควรปฏิบัติตัวตามแนวทางการป้องกันโรคกำเริบซ้ำ และลดความรุนแรงจากอาการไมเกรนได้ด้วยแนวทางดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงสาเหตุที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดอาการไมเกรนให้ได้มากที่สุด โดยการหมั่นสังเกตว่าก่อนมีอาการปวด มีปัจจัยกระตุ้นใดบ้างที่ทำให้เกิดไมเกรนซ้ำๆ และส่งผลกับอาการปวดมากที่สุด
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้ร่างกายปรับระดับสารเคมีในร่างกายได้อย่างสมดุล ฟื้นฟูร่างกายให้ทำงานได้ปกติ ทั้งยังช่วยให้ร่างกายหลั่งสาร Endorphins ซึ่งส่งผลให้มีความสุขมากขึ้น ทั้งนี้ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหมเกินไป เพราะอาจเป็นปัจจัยให้เกิดไมเกรนได้เช่นเดียวกัน
  • เมื่อมีอาการปวดไมเกรน ควรหยุดพัก 10-20 นาที ในห้องมืด มีอากาศถ่ายเท และเงียบสงบ

ปวดไมเกรนแบบไหนควรรีบไปพบแพทย์?

อาการปวดไมเกรนแบบไหน หรือ สัญญาณของไมเกรนแบบใด ที่บ่งบอกว่าควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน 

  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง และเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน
  • ปวดศีรษะครั้งละนานๆ หรือ ปวดศีรษะบ่อยๆ
  • มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดเมื่อยคอและมีไข้พร้อมๆ กัน
  • ปวดศีรษะเรื้อรัง
  • มองเห็นภาพซ้อน ภาพเบลอ
  • มีอาการสับสน มึนงง พูดติดขัด อ่อนแรง หรือ มีอาการชัก
  • อาการปวดศีรษะในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปี

สำหรับผู้ที่มีอาการข้างต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม หรือ รักษาช้า อาจส่งผลให้อาการปวดไมเกรนรุนแรงมากขึ้น มีระยะอาการปวดนานขึ้น ความถี่ของไมเกรนกำเริบบ่อยขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นอาจทำให้ร่างกายไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวดอีกต่อไปได้นั่นเอง

 

และสำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาเกี่ยวกับโรคปวดหัว โรคไมเกรน หรือ ต้องการปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับไมเกรน สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ ฮักษาคลินิก

เบอร์โทร : 096-696-1999

LINE: @hugsa

Facebook : HUGSAMedical

HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ