วิธีแก้อาการออฟฟิศซินโดรม ที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้
ปัญหาสุขภาพสุดฮิตของมนุษย์เงินเดือนในปัจจุบันคงหนีไม่พ้น ออฟฟิศซินโดรม ที่กลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่หายของใครหลายๆ คน ยิ่งกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงจากลักษณะการทำงานที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ได้ หรือ การทำงานที่ต้องทำท่าเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ หลายชั่วโมงต่อวัน ตลอดจนใครที่ทำงานด้วยท่วงท่าที่ไม่เหมาะสมต่อเนื่องเป็นเวลานานจนทำให้ร่างกายเกิดความเมื่อยล้า อักเสบ เจ็บปวด สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมเรื้อรังได้ทั้งสิ้น วันนี้ Hugsa ได้รวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีแก้ออฟฟิศซินโดรมมาฝากบรรดามนุษย์เงินเดือนที่กำลังเผชิญปัญหาสุขภาพนี้อยู่ รับรองว่าสามารถนำไปปรับใช้บรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรมได้ดียิ่งขึ้นแน่นอน
ออฟฟิศซินโดรมคืออะไร?
คำถามที่คาใจใครหลายๆ คน ว่าออฟฟิศซินโดรมที่เคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้างนั้น แท้จริงแล้วมีความหมายว่าอย่างไรกันแน่ คำตอบก็คือ อาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เยื่อพังผืด ปวดหรือชาที่เกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อและเส้นเอ็น โดยมักมีอาการปวดเริ่มต้นจากจุดหนึ่งและลามไปสู่ส่วนอื่นๆ ตามร่างกาย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรม
ออฟฟิศซินโดรม มักพบได้มากในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศที่มีลักษณะการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่มาจากท่าทางในการทำงานเป็นเวลานานๆ โดยไม่มีการเปลี่ยนท่าทาง เคลื่อนไหวร่างกายน้อย ทำท่าทางอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเวลานาน รวมไปถึงการอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน เช่น การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ การยืนหลังค่อม ก้มคอมากเกินไป ยกไหล่หรือห่อไหล เป็นต้น ส่งผลโดยตรงให้ร่างกายเกิดความเมื่อยล้า ปวดเมื่อย หรือมีอาการชาตามบริเวณต่างๆ ทั้งนี้ยังรวมไปถึงลักษณะอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ และ เครื่องมือ ในการทำงานที่อาจไม่เหมาะสมกับสรีระร่างกายของแต่ละบุคคลร่วมด้วย
อาการของออฟฟิศซินโดรมเป็นอย่างไร?
จากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า อาการออฟฟิศซินโดรม เกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานาน จึงส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นๆ เกิดอาการอักเสบ ปวดเมื่อย เนื่องจากกล้ามเนื้อมีการขมวดเป็นปมและดึงรั้งกันไปมา จากการใช้งานซ้ำๆ ในท่วงท่าที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีอาการปวดตึงในจุดเดิมในช่วงแรกๆ หลังจากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปอาการปวดจะร้าวลุกลามไปสู่อีกจุดหนึ่ง ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นๆ เกิดการหดเกร็ง และเมื่อปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษาเพื่อแก้อาการออฟฟิศซินโดรมตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้ปวดเป็นบริเวณกว้างและยากต่อการแก้ปัญหาตำแหน่งต้นตอของออฟฟิศซินโดรมได้อย่างตรงจุด โดยอาการของออฟฟิศซินโดรมที่พบเห็นได้บ่อย เช่น
อาการนิ้วล็อก
อาการที่เกิดจากการออกแรงนิ้วมือมากเกินไป และใช้แรงบ่อยครั้งเป็นเวลานานๆ ส่งผลให้นิ้วมือเกิดการเสียดสีจนมีอาการอักเสบบริเวณปลอกหุ้มเอ็น และเส้นเอ็น เป็นหนึ่งในกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนทำงานที่ต้องใช้มือ เช่น แม่บ้าน
อาการเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ
อาการออฟฟิศซินโดรมที่เกิดจากการบวม หรือ บาดเจ็บ บริเวณเอ็นกล้ามเนื้อ ส่วนมากพบได้บริเวณหัวไหล่ ข้อมือ ข้อเท้า ข้อศอก ข้อเข่า โดยเกิดจากอุบัติเหตุ การใช้งานที่รุนแรง หรือ การใช้งานบริเวณนั้นๆ มากเกินไปเป็นเวลานาน
อาการเส้นประสาทที่ข้อมือถูกกดทับ
อาการที่เกิดจากบริเวณข้อมือด้านฝ่ามือมีพังผืด ส่งผลให้เส้นประสาทบริเวณนั้นถูกกดทับ ทำให้มีอาการปวด หรือ ชา ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ หรือ บริเวณแขน เป็นหนึ่งในอาการออฟฟิศซินโดรมที่เกิดขึ้นบ่อยในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่
อาการปวดหลัง
อาการปวดหลังคือหนึ่งในกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมที่หลายคนหาวิธีแก้มากมาย ซึ่งเกิดจากการนั่ง หรือ การยืน ด้วยท่วงท่าที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานานๆ หรือ อาจเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อบริเวณหลังรุนแรงมากเกินควร ทำให้กล้ามเนื้อหลังเกิดการบาดเจ็บ
อาการปวดหัว
อาการปวดหัวที่มาจากออฟฟิศซินโดรม ส่วนมากมักเกิดจากปัญหากล้ามเนื้อบริเวณบ่าที่ตึงมากกว่าปกติ ส่งผลให้ลุกลามไปสู่ศีรษะทำให้มีอาการปวดหัวตามมาได้ เนื่องจากเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนศีรษะได้สะดวก หรือ ในบางกรณีอาจมีอาการออฟฟิศซินโดรมบริเวณตาทำให้ลุกลามไปสู่บริเวณศีรษะ ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงทำให้ปวดหัวไมเกรนได้
รวมวิธีแก้อาการออฟฟิศซินโดรมที่ได้รับความนิยม
วิธีแก้ออฟฟิศซินโดรมด้วยการเปลี่ยนท่าทาง
การเปลี่ยนท่าทางในการทำงานระหว่างวัน จะช่วยให้อาการออฟฟิศซินโดรมที่เกิดจากการนั่งทำงานเป็นเวลานาน การยืนทำงานเป็นเวลานานๆ ดีขึ้นได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จากเดิมไม่เปลี่ยนท่าทางระหว่างวันเลย ให้กำหนดเวลากับตัวเองอย่างจริงจัง ว่าเวลาไหนบ้างที่ควรยืดเส้นยืดสาย เคลื่อนไหวร่างกายให้ผ่อนคลายบ้าง ลุกเดินไปมาระหว่างการทำงานเพื่อเปลี่ยนท่าทางให้บ่อยมากขึ้น
วิธีแก้ออฟฟิศซินโดรมด้วยหลักสรีรศาสตร์
การแก้ปัญหาสุขภาพจากอาการออฟฟิศซินโดรมด้วยหลักการทางสรีรศาสตร์ ที่ใช้การปรับอิริยาบถให้เป็นไปตามหลักการทางสรีระที่เหมาะสม ทั้งการนั่ง การยืน การนอน การเดิน เพื่อลดอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ร่างกายในการทำงาน อีกทั้งยังช่วยให้สุขภาพหมอนรองกระดูกไม่เสื่อมสภาพ ป้องกันอาการที่เกี่ยวข้องกับข้อ และที่สำคัญคือช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพให้ดูดีมากยิ่งขึ้นด้วย
วิธีแก้ออฟฟิศซินโดรมด้วยการปรับสภาพแวดล้อม
การแก้ออฟฟิศซินโดรมด้วยการปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้มีลักษณะที่เหมาะสมกับร่างกาย เช่น ผู้ที่มีภาวะปวดหลัง ควรเลือกใช้เก้าอี้ที่มีการออกแบบมาเพื่อสุขภาพหลัง รองรับการนั่งทำงานได้อย่างเหมาะสม ลดโอกาสเสี่ยงในการทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหลังอักเสบจากการนั่งในท่าทางที่ผิดหลักสรีรศาสตร์ หรือในกรณีผู้ที่มีภาวะตาแห้ง มีอาการแสบตา ตาพร่ามัวเมื่อนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ควรปรับสภาพแวดล้อมที่ทำงานให้มีแสงสว่างเพียงพอ ไม่สว่างหรือมืดจนเกินไป เป็นต้น
วิธีแก้ออฟฟิศซินโดรมด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
เป็นหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ร่างกายมีความแข็งแรง ซึ่งมีผลโดยตรงกับระบบการทำงานของร่างกายทุกสัดส่วน เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อทุกส่วนได้เป็นอย่างดี ส่งผลดีต่อการผ่อนคลายความเครียดของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ช่วยป้องกันภาวะเส้นเอ็นและข้อยึดต่างๆ ได้รับบาดเจ็บ โดยผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรมสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ จากการออกกำลังกายเบาๆ เพื่อบรรเทาอาการได้ดีขึ้น เช่น การว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน โยคะ เดิน เป็นต้น
วิธีแก้ออฟฟิศซินโดรมด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ
แน่นอนว่าร่างกายจะสมดุลได้นั้นย่อมเกี่ยวข้องกับการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลังจากการทำงานมาตลอดทั้งวันด้วยท่าทางเดิมๆ ซ้ำๆ ควรพักกล้ามเนื้อด้วยการนอนพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้กล้ามเนื้อได้ฟื้นตัวได้ดีขึ้น แถมยังช่วยบรรเทาอาการปวดตึงข้อต่อต่างๆ ได้ดีอีกด้วย
วิธีแก้ออฟฟิศซินโดรมด้วยการรับประทานยา
การรับประทานยาเป็นวิธีแก้อาการออฟฟิศซินโดรมที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดรุนแรง เพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นก่อนลุกลามไปสู่อาการเรื้อรัง ส่วนใหญ่มักใช้ในเมื่อมีอาการปวด เช่น คอ บ่า ไหล่ หลัง สะโพก ซึ่งเป็นส่วนที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งนี้การใช้ยารักษาอาการออฟฟิศซินโดรมควรอยู่ในการดูแลของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
วิธีแก้ออฟฟิศซินโดรมด้วยการทำกายภาพบำบัด
การทำกายภาพบำบัดเพื่อแก้อาการออฟฟิศซินโดรม เป็นอีกหนึ่งการรักษาที่ได้รับความนิยมจากผู้ป่วยมากมาย เนื่องจากการทำกายภาพบำบัดเป็นทางเลือกที่น่าสนใจทดแทนการรับประทานยาต่อเนื่องได้มากกว่า แต่ควรอยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำของนักกายภาพผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลมากที่สุด โดยการประเมินอย่างละเอียดทั้งด้านสุขภาพ สาเหตุของอาการออฟฟิศซินโดรม ตลอดจนการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามแผนการรักษา เพื่อให้ผลลัพธ์ในการรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด
วิธีแก้ออฟฟิศซินโดรมด้วยเวชศาสตร์ทางเลือก
ปัจจุบันเวชศาสตร์ทางเลือกได้เข้ามามีส่วนในการแก้อาการออฟฟิศซินโดรมมากขึ้น ด้วยการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางกายภาพต่างๆ เข้ามาบรรเทาอาการปวด ลดอาการอักเสบส่วนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การฝังเข็ม เป็นวิธีแก้ออฟฟิศซินโดรมที่ยับยั้งความเจ็บปวดช่วยกระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทที่มีผลต่อประสาทส่วนกลาง ทำให้ความเจ็บปวดลดลง ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ปรับสมดุลในร่างกายได้อย่างดี หรือ การนวดแผนไทย ที่ได้รับความนิยมจากคนไทยอย่างมาก เนื่องจากเป็นวิธีการรักษาที่ช่วยเรื่องการปวดเมื่อยได้อย่างตรงจุดและเป็นวิธีธรรมชาติที่ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีต่างๆ
วิธีแก้ออฟฟิศซินโดรมด้วยการจัดกระดูกสันหลัง
การจัดกระดูกเริ่มได้รับความนิยมไม่นานมานี้ เป็นอีกหนึ่งวิธีแก้ออฟฟิศซินโดรมที่ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และกระดูกได้อย่างตรงจุด ด้วยการจัดกระดูกตามหลักทางสรีรวิทยาให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นตัวจากการอักเสบและการเจ็บปวดจากท่วงท่าที่ไม่ถูกต้องให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งควรอยู่ภายใต้การจัดกระดูกโดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับใบอนุญาตเฉพาะทางอย่างถูกต้องเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยรวมถึงการรักษาออฟฟิศซินโดรมได้อย่างตรงจุด
วิธีแก้ออฟฟิศซินโดรมด้วย Shockwave Therapy
Shockwave Therapy คือวิธีแก้อาการออฟฟิศซินโดรมด้วยคลื่นแรงกระแทก เป็นแนวทางการรักษาที่กระตุ้นบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บให้เกิดกระบวนการซ่อมแซมตนเองถึงชั้นเนื้อเยื่อ ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย ลดอาการอักเสบ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรังบริเวณ ข้อ กระดูก เส้นเอ็น เป็นระยะเวลานาน
อย่างไรก็ตามวิธีแก้อาการออฟฟิศซินโดรมสามารถเริ่มต้นได้ด้วยตนเอง ด้วยการรู้ถึงสาเหตุของอาการและปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เตือนตนเองอยู่เสมอว่าควรยืดเหยียดร่างกายในเวลาทำงานบ้าง ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการทำงานเป็นเวลานาน และพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางการป้องกันที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากกว่า แต่หากพบว่าตนมีอาการออฟฟิศซินโดรมเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียดตลอดจนหาแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
สำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาวิธีแก้อาการออฟฟิศซินโดรมให้หายขาด หรือ ต้องการคำแนะนำในการหลีกเลี่ยงอาการออฟฟิศซินโดรมเรื้อรัง สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ ฮักษาคลินิก
เบอร์โทร : 096-696-1999
LINE: @hugsa
Facebook : HUGSAMedical