ฝนปีนี้น้ำท่วมขังทุกพื้นที่ อย่าลืมส่งกำลังใจและระวังภัยจากโรคฉี่หนู
ฤดูฝนปี พ.ศ.2567 นี้ ถือว่ามีมรสุมเข้ามาภายในประเทศไทยของเรามากยิ่งกว่าปีก่อน ๆ จนทำให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ทั้งน้ำท่วมขังแทบทุกพื้นที่ ทั้งน้ำป่าไหลหลากในบางภูมิภาค ทั้งมีผู้ประสบภัยเดือดร้อนกันทั่วทุกหย่อมหญ้า จนต้องหอบหิ้วข้าวของและสัตว์เลี้ยงที่รักอพยพย้ายขึ้นที่สูง แต่ในโชคร้ายก็ยังมีน้ำใจคนไทยที่ยิ่งใหญ่กว่าสายธาร ด้วยการส่งต่อข่าว บริจาคสิ่งของจำเป็น สนับสนุนเจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่ รวมถึงอาสาช่วยเหลือทั้งคน สัตว์ และสิ่งของต่าง ๆ กันอย่างเนืองแน่น ทางฮักษาคลินิกเองก็ขอส่งอีกหนึ่งกำลังใจให้กับทุกหน่วยงานด้วยเช่นกัน และเมื่อเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่เช่นนี้ ทางเราจึงจะขอพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับโรคฉี่หนู ที่มักจะแอบแฝงมาคอยซ้ำเติมพร้อมกับมวลน้ำขัง
โรคฉี่หนู คืออะไร?
โรคฉี่หนู หรือโรคไข้ฉี่หนู หรือศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า Leptospirosis เป็นโรคติดต่อประเภทจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) โดยแรกเริ่มเดิมทีโรคฉี่หนูเกิดขึ้นมาจากเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า Leptospira interrogans ซึ่งเชื้อโรคชนิดนี้สามารถอาศัยอยู่ในท่อหลอดไตของสัตว์ได้ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีอายุขัยสั้น เช่น หนู ต่อมาเมื่อสัตว์ติดเชื้อเหล่านั้นปัสสาวะออกมา เชื้อแบคทีเรียก็จะถูกปล่อยออกมาด้วย ถ้าหากบริเวณนั้นมีน้ำท่วมขัง เชื้อโรคก็จะปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำท่วมขังอีกทั้งยังสามารถดำรงอยู่ในแหล่งน้ำต่าง ๆ ได้นานหลายเดือนเลยทีเดียว โรคนี้จึงถูกเรียกว่าโรคฉี่หนูนั่นเอง
ถึงอย่างนั้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทอื่น ๆ ก็สามารถมีเชื้อ Leptospira interrogans และก่อให้เกิดโรคฉี่หนูได้ไม่ต่างกัน เช่น สุกร โค กระบือ สุนัข ม้า แพะ แกะ ฯลฯ ซึ่งสัตว์ทุกประเภทที่มีเชื้อ Leptospira interrogans จะสามารถปล่อยเชื้อได้ตลอดเวลาหลายสัปดาห์ หรือตลอดช่วงชีวิต โดยที่สัตว์เหล่านั้นอาจจะไม่มีอาการป่วยหรือสัญญาณผิดปกติใด ๆ
ซึ่งโรคฉี่หนูนี้ ไม่เพียงแต่จะปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังสามารถซุกซ่อนอยู่ได้ตามดินที่เปียกชื้น หรือพืชผักบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้การสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้อของโรคฉี่หนูเอง ก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้เช่นกัน ปกติแล้วโรคฉี่หนูนี้มักจะพบได้บ่อยในหมู่ผู้ที่ทำงานภาคเกษตร เช่น ชาวนา ชาวไร่ หรือผู้ดูแลปศุสัตว์ต่าง ๆ แต่เมื่อถึงฤดูฝนที่มีน้ำท่วมขัง มีแหล่งน้ำที่ไหลมารวมกันในพื้นที่ปิด หรืออุทกภัยต่าง ๆ ทำให้ผู้ที่ต้องผจญกับน้ำท่วมขังเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงทำให้โรคฉี่หนูสามารถระบาดสู่คนทั่วไปได้ง่ายดายมากขึ้น
โรคฉี่หนู สามารถแพร่ระบาดได้อย่างไร?
โรคฉี่หนูเป็นโรคที่สามารถแพร่จากสัตว์สู่คนได้อย่างง่ายดายก็จริง แต่พบเห็นกรณีที่แพร่จากคนสู่คนได้ยาก ดังนั้นหากมีคนรอบตัวหรือคนใกล้ชิดของคุณเป็นโรคฉี่หนู สามารถให้การช่วยเหลือและรักษาพยาบาลได้ โดยไม่จำเป็นต้องกังวลใด ๆ เลย ซึ่งสำหรับการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนของโรคฉี่หนูนั้น สามารถสรุปได้ ดังต่อไปนี้
การสัมผัสสัตว์ติดเชื้อ
เนื่องจากการจะสังเกตอาการและพบว่าสัตว์เหล่านั้นมีเชื้อแบคทีเรียของโรคฉี่หนูนั้น ค่อนข้างที่จะเป็นไปได้ยาก หากเป็นไปได้จึงควรหลีกเลี่ยงสัตว์พาหะต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหนูหรือสัตว์พาหะที่ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
- สัมผัสสัตว์พาหะโดยตรง
- สัมผัสเนื้อของสัตว์พาหะ
- การรับประทานเนื้อสัตว์ติดเชื้อ
- การสัมผัสเชื้อในปัสสาวะของสัตว์พาหะ
การสัมผัสทางอ้อม
ทางสถิติพบว่าส่วนใหญ่ของผู้ที่ป่วยเป็นโรคฉี่หนู มักจะเกิดจากการสัมผัสทางอ้อมกับเชื้อแบคทีเรีย ไม่ว่าจะเป็น
- การแช่น้ำหรือลุยน้ำท่วมขังที่ปนเปื้อนโรคฉี่หนูเป็นเวลานาน
- การที่บาดแผลบนผิวหนังสัมผัสกับน้ำที่มีการปนเปื้อน
- การว่ายน้ำแล้วสำลักน้ำที่มีการปนเปื้อน
- การที่เยื่อบุตา จมูก ปาก สัมผัสกับน้ำที่มีการปนเปื้อน
- การย่ำหรือลุยดินโคลนที่มีการปนเปื้อน
- การหายใจเอาละอองที่เกิดจากของเหลวที่มีการปนเปื้อนเข้าไป
- การรับประทานพืชผักที่มีการปนเปื้อน
- การติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์
ซึ่งการติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์นั้น ทำให้มีโอกาสแท้งเพิ่มสูงขึ้นได้ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีกรณีที่แม่และทารกรอดชีวิตมาได้อยู่เช่นกัน หากแต่เด็กจะมีอาการของโรคฉี่หนูเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ สตรีมีครรภ์ที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นโรคฉี่หนูจึงควรรีบเข้าพบแพทย์ และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
อาการของผู้เป็นโรคฉี่หนู
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคฉี่หนูนั้น สามารถเป็นได้ตั้งแต่ไม่มีอาการไปจนถึงมีอาการรุนแรงต่อชีวิต อีกทั้งอาการระยะแรกของโรคฉี่หนูสามารถเข้าใจว่าเป็นเพียงไข้หวัดฤดูฝนได้ ดังนั้นถ้าหากคุณมีประวัติการผจญกับน้ำท่วมขัง หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีอุทกภัย ประกอบกับรับประทานยาไข้หวัดเบื้องต้นแล้วอาการยังรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จึงควรรีบมาพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติและอาการโดยเร็ว ซึ่งอาการของผู้เป็นโรคฉี่หนู สามารถสรุปได้ ดังต่อไปนี้
อาการระยะแรก
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคฉี่หนูจะมีอาการภายใน 2 วัน หรือยาวนานกว่า 26 วัน หลังจากที่มีประวัติการผจญน้ำท่วมขัง หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีอุทกภัยได้ จึงไม่ควรประมาทหากยังไม่เกิดอาการใด ๆ ในช่วงแรก
- มีไข้สูง
- มีอาการหนาวสั่น
- มีอาการปวดกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ หรือปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดหน้าท้อง
- มีอาการปวดต้นขา น่อง หรือบริเวณที่แช่น้ำ
- มีอาการเจ็บคอ หรือเจ็บหน้าอก
- มีอาการไอ คลื่นไส้ อาเจียน
- เยื่อบุตาแดง
- มีผื่น
- มีอาการตัวเหลืองคล้ายดีซ่าน
อาการระยะแรกเหล่านี้ จะอยู่ได้นานเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ จากนั้นก็จะหายเป็นปกติช่วงระยะเวลา 1 – 3 วัน แล้วอาการจะกลับมารุนแรงเข้าระยะที่สอง
อาการระยะที่สอง
อาการของระยะที่สองจะรุนแรงกว่าระยะแรก อีกทั้งมีโอกาสที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงต่าง ๆ ตามมา จึงควรสังเกตอาการเหล่านี้ไว้ให้ดี
- มีอาการมือ เท้า หรือข้อเท้าบวม
- มีอาการเจ็บหน้าอก
- มีอาการหายใจลำบาก หอบเหนื่อย หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง คล้ายภาวะดีซ่านขั้นรุนแรง
- มีอาการไอแล้วมีเสมหะปนเลือด
- มีอาการเลือดกำเดาไหล เกิดจ้ำเลือดตามผิวหนัง
ซึ่งนอกจากอาการที่พบเห็นได้ภายนอกเหล่านี้แล้ว โรคฉี่หนูยังสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนภายในร่างกายที่เราไม่สามารถรับรู้ได้หากไม่ได้พบแพทย์ เช่น อาการไตวายเฉียบพลัน อาการตับโต ม้ามโต ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เลือดออกในปอด หรือตามอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย จนเป็นสาเหตุให้ถึงแก่ชีวิตได้
โรคฉี่หนูควรป้องกันอย่างไร ในเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้
เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันที่ยังคงมีฝนตกชุก หลีกเลี่ยงพื้นที่อุทกภัย หรือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังต่าง ๆ ได้ยาก หรือหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เราจึงควรที่จะป้องกันโรคฉี่หนูเอาไว้เมื่อต้องเข้าพื้นที่เหล่านั้นแทน
ควรสวมรองเท้าบู้ตหรือป้องกันบริเวณที่ต้องแช่น้ำทุกครั้ง
หากเป็นน้ำท่วมขังที่มีความลึกไม่มาก ควรสวมรองเท้าบู้ตหรือประยุกต์ถุงพลาสติกต่าง ๆ ไม่ให้ร่างกายต้องแช่น้ำที่อาจปนเปื้อนเป็นระยะเวลานาน
อย่าให้บาดแผลสัมผัสกับน้ำที่อาจปนเปื้อน
หากมีบาดแผลบริเวณเท้า น่อง ขา หรือบริเวณที่ต้องสัมผัสกับน้ำท่วมขัง ควรป้องกันบาดแผลให้ดี อาจติดพลาสเตอร์หรือผ้าพันแผลสำหรับกันน้ำโดยเฉพาะและไม่หลุดง่าย
หากสัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อนไปแล้ว ควรรีบล้างออก
หากคุณหรือคนใกล้ชิดสัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อนไปแล้ว ทางที่ดีที่สุดควรรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด พร้อมเช็ดให้แห้งทันที
รับประทานเนื้อสัตว์และพืชผักที่ปลอดภัย
เนื่องจากโรคฉี่หนูนั้นสามารถคงอยู่ในสัตว์หรือบริเวณที่ปนเปื้อนได้นาน จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์หรือพืชผักที่มาจากแหล่งน้ำท่วมขัง แต่ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรรับประทานโดยการปรุงสุกหรือผ่านความร้อนเป็นเวลานาน
หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ
เนื่องจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถติดโรคฉี่หนูได้อย่างง่ายดาย จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะในภาวะที่มีน้ำท่วมขังหลากหลายพื้นที่เช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหนูหรือปศุสัตว์ ถ้าหากคุณมีสัตว์เลี้ยงแสนรักอย่างสุนัข แล้วเพิ่งฝ่าวิกฤตน้ำท่วมมาด้วยกันก็ไม่ควรประมาท แล้วพาเขาไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและสุขภาพให้แน่ใจด้วยจะเป็นการดีที่สุด
สำหรับใครที่ต้องการขอคำแนะนำ หรือ ต้องการตรวจรักษาโรคฉี่หนูโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ฮักษา คลินิก ทุกสาขา
โทร. 096-696-1999
LINE : @hugsa
Facebook : HUGSAMedical
HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ