เมื่อลูกน้อยเป็นโรคหัวใจ คุณพ่อคุณแม่ควรรับมืออย่างไร
โรคหัวใจ หรือ heart disease เป็นคำเรียกที่ครอบคลุมถึงภาวะความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นลิ้นหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ หรือโรคอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อหัวใจ โดยทั่วไปแล้ว คนเราจะเข้าใจว่าโรคหัวใจนั้นเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากสภาพร่างกายที่ถดถอย ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้แย่ลง หรือถูกพฤติกรรมต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตที่ผ่านมา ส่งผลให้การทำงานของหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอยู่ในภาวะผิดปกติ แต่รู้หรือไม่ ว่าเจ้าตัวน้อยของคุณก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดได้เช่นกัน ซึ่งโรคหัวใจในเด็กเป็นอย่างไร และพ่อแม่ผู้ปกครองควรรับมืออย่างไร ทางเราก็ได้รวบรวมมาให้แล้ว
โรคหัวใจในเด็ก เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ทางกรมการแพทย์ได้เคยออกมาเปิดเผยทางสถิติว่า ในเด็ก 1,000 คน จะมีเด็ก 8 คนที่มีโรคหัวใจติดตัวมาแต่กำเนิด โดยสามารถที่จะตรวจพบได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หลังคลอด หรือมาพบโรคหัวใจในตอนโตก็ได้เช่นกัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กแต่ละคนเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดนั้น สามารถสรุปได้ ดังต่อไปนี้
-
เด็กมีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ หรือโครโมโซน
ปกติแล้ว มนุษย์เราจะมีโครโมโซมทั้งหมด 23 คู่ หรือ 46 โครโมโซม แต่โครโมโซนเองก็สามารถผิดปกติได้เช่นกัน โดยเฉพาะในโครโมโซมคู่ที่ 21 นอกจากจะทำให้เกิดโรคดาวน์ซินโดรมได้แล้ว ยังสามารถทำให้เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดได้ด้วย
-
เกิดจากการที่แม่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์
ผู้เป็นแม่ต้องดูแลรักษาลูกน้อยในครรภ์ให้ดี โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ที่เด็กยังเจริญเติบโตได้ไม่สมบูรณ์ หากผู้เป็นแม่มีภาวะเบาหวาน หรือติดเชื้อหัดเยอรมัน ก็สามารถทำให้ลูกน้อยเกิดโรคหัวใจขึ้นได้
-
เกิดจากการที่แม่ถูกรังสี X-Ray
รังสี X-Ray ที่ใช้ทางการแพทย์ทั่วไป แทบจะไม่เป็นอันตรายต่อคนไข้หรือผู้เข้ารับการตรวจเลย แต่สำหรับสตรีมีครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก ไม่ควรที่จะเข้ารับการ X-Ray เด็ดขาด หรือถ้าสงสัยว่าตั้งครรภ์ให้แจ้งแพทย์พยาบาลทุกครั้งก่อนเข้ารับการรักษา เพราะอาจเกิดภาวะเสี่ยงต่อลูกในครรภ์ และเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กมีภาวะหัวใจผิดปกติได้เช่นกัน
-
เกิดจากการที่แม่ทานยาบางชนิด
ยาบางชนิดก็สามารถส่งผลร้ายต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับยาในกลุ่มแอมเฟตามีน ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เด็กเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดแล้ว ยังสามารถส่งผลข้างเคียงอื่น ๆ ต่อสมองและร่างกายได้เช่นกัน
-
เกิดจากการที่แม่ตั้งครรภ์ในช่วงอายุมาก
ช่วงอายุของผู้เป็นแม่เอง ก็มีผลต่อลูกในครรภ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มีอายุเกินกว่า 35 ปี ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เด็กทุกคนที่เกิดมาแล้วผิดปกติ แต่ก็มีแนวโน้มทำให้เด็กมีภาวะหัวใจผิดปกติมากกว่าผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี จึงควรที่จะเข้าพบแพทย์เพื่อปรึกษา และรับการดูแลอย่างใกล้ชิด
-
ไม่ทราบสาเหตุ
สาเหตุสุดท้ายที่ทำให้เกิดโรคหัวใจในเด็ก นั่นก็คือการไม่ทราบสาเหตุ เพราะถึงแม้ว่าผู้เป็นแม่บางคนจะดูแลตัวเองและลูกน้อยในครรภ์ได้ดีมากเท่าไร แต่เด็กก็สามารถเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด ซึ่งเด็กที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดโดยไม่ทราบสาเหตุนี้ ก็ยังมีสูงถึง 90% ของเด็กที่เป็นโรคหัวใจทั้งหมดอีกด้วย
นอกจากนี้ โรคหัวใจในเด็กก็ยังไม่ได้มีติดตัวมาตั้งแต่เกิดเท่านั้น แต่ยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ประสบกับโรคหัวใจหลังคลอด โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยก็คือโรคคาวาซากิ โรคไข้รูมาติก โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ เป็นต้น
ดังนั้น คุณแม่คุณพ่อคนไหนที่พบว่าลูกน้อยของตนเป็นโรคหัวใจ โปรดอย่าเพิ่งโทษการกระทำหรือการใช้ชีวิตของตัวเอง เพราะโรคคือสิ่งที่เราไม่สามารถกำหนดได้ และเมื่อโรคภัยมาเยือนก็ไม่ใช่ความผิดของใครทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้การแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยเราเองก็ได้พัฒนาไปมากแล้ว จึงสามารถที่จะรักษาและดูแลโดยไม่ให้โรคหัวใจมีภัยอันตรายต่อชีวิตได้
โรคหัวใจในเด็กรักษาได้หรือไม่?
โรคหัวใจในเด็กนั้น จะมีความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกุมารแพทย์ ว่าเด็กควรจะได้รับการรักษาอย่างไร ซึ่งก็สามารถแบ่งการรักษาเบื้องต้นได้ ดังต่อไปนี้
- รักษาด้วยการใช้ยา
หากเด็กไม่มีอาการโรคหัวใจที่รุนแรงมาก หรืออยู่ในภาวะที่ต้องระวังเรื่องหัวใจล้มเหลว กุมารแพทย์อาจเลือกให้ใช้ยาในการรักษา เพื่อป้องกันอาการหัวใจวาย
-
รักษาด้วยการ Intervention
Intervention ในทางการแพทย์นั้นจะหมายถึงการรักษาแบบกึ่งผ่า ตัวอย่างเช่น การใส่บอลลูกเพื่อขยายหลอดหัวใจให้กว้างขึ้น (Balloon Angioplasty) ในกรณีที่เด็กมีอาการหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น
-
รักษาด้วยการผ่าตัด
สุดท้ายของการรักษาโรคหัวใจที่ใครหลายคนก็คงจะเคยได้ยินกันมาบ้าง นั่นก็คือการผ่าตัดนั่นเอง ซึ่งทุกวันนี้การผ่าตัดก็ได้พัฒนาไปมาก จนไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดทรวงอกให้อันตรายอีกต่อไป เพียงแค่ใช้อุปกรณ์สวนหลอดเลือดหรือสวนหัวใจเท่านั้น
-
รักษาด้วยการประคับประคอง
เด็กที่มีโรคหัวใจบางกรณีจะมีอาการที่ไม่รุนแรงมาก จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา หรือผ่าตัดใด ๆ สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกับเพื่อน ไปโรงเรียน หรือออกกำลังกาย แต่อย่างไรก็ตาม ควรติดตามดูแลอาการอยู่ห่าง ๆ และหมั่นพาลูกไปปรึกษากุมารแพทย์ด้านหัวใจอย่างสม่ำเสมอ
พ่อแม่ผู้ปกครองควรรับมือกับโรคหัวใจในเด็กอย่างไร?
ถ้าหากพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนที่พบว่าลูกของตนเป็นโรคหัวใจ ทางเราก็ได้รวบรวมวิธีการดูแลและรับมือโรคหัวใจในเด็กมาให้แล้ว ดังต่อไปนี้
-
ดูแลให้เด็กกินอาหารครบหลักโภชนาการ
เด็กที่เป็นโรคหัวใจ ควรหมั่นดูแลเรื่องอาหารการกินและโภชนาการให้ดี โดยเฉพาะอาหารที่มีธาตุเหล็ก จำพวกปลา เครื่องใน และผักใบเขียวบางประเภท
-
ดูแลให้เด็กหมั่นทานยาสม่ำเสมอ (ถ้ามี)
หากเป็นเด็กที่มียาต้องทานเป็นประจำ ควรดูแลให้เด็กทานยาอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์บอก ไม่ควรหยุดยาหรือเพิ่มยาเองเด็ดขาด
-
ดูแลกวดขัดให้เด็กรักษาฟัน และพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน
เนื่องจากอาการฟันผุ สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในหัวใจหรือสมองได้ เด็กที่มีโรคหัวใจจึงควรระวังและเข้มงวดเรื่องการดูแลรักษาฟันให้มากกว่าเด็กทั่วไป
-
ให้เด็กฉีดวัคซีนตามเกณฑ์
เนื่องจากเด็กที่มีโรคหัวใจ จะเป็นอันตรายกว่าเด็กทั่วไปหากเกิดอาการติดเชื้อต่าง ๆ หรือแค่ไข้หวัดใหญ่ ก็สามารถส่งผลกระทบต่อปอดและหัวใจได้
-
คอยสังเกตอาการเวลาที่เด็กเล่นหรือออกกำลังกาย
แม้ว่าเด็กที่มีอาการไม่รุนแรง จะสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ แต่บางครั้งเด็กอาจไม่รู้ขีดจำกัดของตัวเองและอยากจะเล่นกับเพื่อน พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรจับตาดูเวลาที่เด็กเล่นอะไรที่ใช้แรงหรือออกกำลังกาย ว่ามีอาการหายใจหอบ เหนื่อย หน้ามืด จะเป็นลม หรือเจ็บหน้าอกหรือไม่
-
คอยสังเกตอาการเขียวคล้ำ หายใจหอบลึกของเด็ก
อาการตัวเขียวคล้ำ หายใจหอบลึก ท่าทางเหนื่อย สามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กที่เป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะในเด็กทารก หากมีอาการนี้เกิดขึ้น พยายามทำให้เด็กหยุดร้องไห้ ชันเข่าเด็กงอชิดกับหน้าอก หรือทำการอุ้มพาดบ่าพาไปส่งโรงพยาบาลทันที
-
หากมีไข้ต่ำ ๆ แต่ไม่หายใน 7 วัน ให้รีบพบแพทย์
นอกจากไข้ต่ำ ๆ แล้ว หากเด็กมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดตามข้อ ซึม หรือมีจุดจ้ำเลือดตามตัว ให้รีบพาไปส่งโรงพยาบาลทันที
-
หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือหยิบจับของในที่สาธารณะ
เด็กที่เป็นโรคหัวใจ สามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ง่าย ดังนั้นเมื่ออยู่ในที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัด เด็กควรจะใส่แมสก์เพื่อป้องกันโรคภัยและเชื้อไวรัสต่าง ๆ หรือควรจะหลีกเลี่ยงพื้นที่เหล่านั้นไปเลย หากเด็กหยิบจับของในที่สาธารณะแนะนำให้ผู้ปกครองทำการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสบู่
ถ้าหากคุณสงสัยว่าลูกน้อยของคุณจะมีโรคแอบแฝง หรืออยากตรวจสุขภาพว่าลูกน้อยของตัวเองปกติดีหรือไม่ ก็สามารถมาให้ทาง ฮักษาคลินิก ช่วยตรวจเช็คให้ได้ รับรองเลยว่าเราจะดูแลเด็กๆ ในความดูแลของท่านได้อย่างดีที่สุดแน่นอน