รู้เท่าทัน 9 อาการโรคแพนิค พร้อมวิธีรับมือและรักษา
โรคแพนิค (Panic Disorder) หรือชื่อทางการในภาษาไทยคือโรคตื่นตระหนก ซึ่งไม่ว่าใครก็สามารถเป็นโรคแพนิคได้ทั้งสิ้น และบางคนอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ว่ากำลังประสบภาวะแพนิคอยู่ ถึงแม้ว่าโรคแพนิคจะไม่ใช่โรคร้ายหรือโรคเร่งด่วนอะไรแบบเบาหวาน ความดัน หรือมะเร็ง และไม่ใช่โรคที่สามารถแพร่ระบาดได้แบบโควิด – 19 แต่โรคแพนิคก็สามารถก่อให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตได้ ยิ่งผู้ที่ไม่รู้ว่าตนเองมีอาการของโรคแพนิค เมื่อประสบพบเจอกับตัวกระตุ้นบางอย่าง ก็อาจส่งผลหนักหนากับหัวใจและร่างกายแบบเฉียบพลันได้ ดังนั้น สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักกับโรคแพนิค หรือสงสัยว่าตนเองอาจจะเป็นโรคแพนิค ก็มาดูกันได้ในบทความนี้เลย
โรคแพนิคเกิดจากอะไร?
โรคแพนิคสามารถเกิดขึ้นได้คนทุกเพศทุกวัย ซึ่งสามารถแบ่งสาเหตุการเกิดโรคแพนิคได้ ดังต่อไปนี้
สาเหตุทางกายภาพ
หากคนในครอบครัวของคุณมีประวัติเป็นโรคแพนิค โรควิตกกังวล หรือโรคทางจิตเภทที่เกี่ยวข้อง ก็จะสามารถส่งผลให้คุณและคนในเครือญาติเป็นโรคแพนิคได้ง่ายกว่าคนอื่น ๆ แต่ทั้งนี้โรคแพนิคก็สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพในสมอง หรือฮอร์โมนที่ใช้ควบคุมสารเคมีต่าง ๆ ในสมองเกิดเสียสมดุลขึ้นมา ก็จะส่งผลให้ระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติไป จนกลายเป็นโรคแพนิคได้โดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งกระตุ้นหรือพันธุกรรมใด ๆ
สาเหตุทางจิตใจ
ผู้ที่เป็นโรคแพนิคหลายคน แม้จะไม่เคยมีประวัติเครือญาติเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเภทมาก่อน แต่ก็สามารถเป็นโรคแพนิคได้เช่นกัน ถ้าหากเผชิญกับความเครียดเป็นเวลานาน ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความกดดัน พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย ไปจนถึงการสูญเสีย การผิดหวัง หรือสถานการณ์ฝังใจบางอย่าง ก็สามารถก่อให้เกิดโรคแพนิคได้เช่นกันซึ่งผู้ที่เป็นโรคแพนิคโดยเกิดจากเหตุทางจิตใจ ก็ได้มีเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ วัน จนสาเหตุทางจิตใจนี้แทบจะกลายเป็นสาเหตุหลักของผู้ที่ประสบกับโรคแพนิคไปแล้ว
9 อาการบ่งบอกว่าคุณมีโอกาสเป็นโรคแพนิค
สำหรับใครที่กำลังกังวลอยู่ว่าตนเองจะเข้าข่ายเป็นโรคแพนิคหรือไม่ ทางเราก็ได้เตรียม 9 อาการที่จะแสดงออกในหมู่ผู้ที่เป็นโรคแพนิคมาให้คุณแล้ว ลองเช็คลิสต์เหล่านี้ดู ว่าตรงกับอาการของคุณหรือไม่
- มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
- มือสั่นอย่างควบคุมไม่ได้ (บางกรณีอาจเป็นที่ตัวสั่น ขาสั่นหรือเท้าสั่นได้ หรือเป็นพร้อม ๆ กัน)
- มีอาการหายใจถี่ หรือรู้สึกเหมือนจะหายใจไม่ออก
- เหงื่อออกมากผิดปกติ
- เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก
- มีอาการปวดท้องหรือรู้สึกคลื่นไส้ในระหว่างที่ตื่นตระหนก
- มีอาการวิงเวียนศีรษะ หรือรู้สึกเหมือนจะหน้ามืด เป็นลม
- 8.รู้สึกว่าร่างกายเกิดอาการชาอย่างควบคุมไม่ได้
- มีความรู้สึกกลัวที่จะสูญเสียการควบคุม กลัวตัวเองจะเป็นบ้า หรือกลัวตัวเองจะตายอย่างรุนแรง
ถ้าหากคุณลองเช็คลิสต์แล้ว พบว่าอาการเหล่านั้นตรงกับตัวคุณมากกว่า 4 ขึ้นไป โดยอาการเหล่านั้นเกิดขึ้นซ้ำๆ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลกับคนรอบข้าง หรือการทำงานเป็นระยะเวลานานกว่า 1 เดือนขึ้นไป ทางเราก็ขอแนะนำให้คุณเข้าพบจิตแพทย์ เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำการวินิจฉัยและตัดสินอย่างแม่นยำต่อไป ว่าคุณเป็นโรคแพนิคจริงหรือไม่ เนื่องจากอาการของโรคแพนิคนั้นสามารถส่งผลให้เกิดโรคจิตเภทอื่น ๆ ตามมา รวมถึงอาการแพนิคที่เกิดขึ้นกับคุณก็อาจเป็นเพียงหนึ่งในอาการของโรคจิตเภทหรือโรคอย่างอื่นก็ได้เช่นกัน
สุดท้ายนี้ถึงแม้ว่าโรคแพนิคจะไม่ใช่โรคร้ายที่ถึงขั้นคร่าชีวิตของคุณได้ทันที แต่ก็สามารถทำให้คุณทุกข์ทรมานกับอาการที่เป็นได้อย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น มีผู้ป่วยแพนิคที่รู้สึกเหมือนตัวเองจะหัวใจวายและเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงจนทนไม่ไหว แต่สภาพของหัวใจและร่างกายนั้นปกติดี เป็นต้น
วิธีรับมือกับโรคแพนิค และการรักษาโรคแพนิคในปัจจุบัน
การรับวินิจฉัยและการรักษาจากแพทย์ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่มีอาการแพนิค แต่ถ้าคุณลองประเมินอาการตัวเองแล้ว ยังคิดว่าอาการไม่หนักมากนัก หรือช่วงนี้ยังไม่มีเวลาไปพบแพทย์แบบตัวต่อตัว ทางเราก็ได้รวบรวมวิธีรับมือกับโรคแพนิค และการรักษาโรคแพนิคในปัจจุบันมาให้คุณแล้ว
วิธีรับมือกับโรคแพนิค เมื่อแพนิคควรทำอย่างไร
ขั้นตอนที่ 1 หายใจเข้าออกลึก ๆ อย่างช้า ๆ
ขั้นตอนที่ 2 บอกตัวเองว่าอาการไม่อันตราย ไม่เป็นไร พยายามไม่คิดและกังวลอะไรในหัว
ขั้นตอนที่ 3 เมื่อทำขั้นตอนที่ 1 – 2 วนไปสักพักก็จะกลับมาเป็นปกติได้เอง
แต่อย่างไรก็ตาม หากอาการแพนิคที่คุณประสบพบเจอนั้นยังไม่ดีขึ้นใน 3 step หรือเกิดอาการแพนิคบ่อยครั้ง หรือเกิดอาการรุนแรงมากขึ้น ก็ขอแนะนำให้คุณเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจร่างกายและรับการวินิจฉัยจากแพทย์อย่างละเอียดอีกครั้ง
การรักษาโรคแพนิคในปัจจุบัน
ในปัจจุบันนั้น ยังไม่มีการวิจัยยาที่ทำให้โรคแพนิคหายขาดได้ แต่ก็สามารถที่จะรักษาได้ทั้งหมด 2 รูปแบบด้วยกัน ดังนี้
1. รักษาโดยการใช้ยา
ยาที่ถูกจัดสรรมาให้กับผู้ป่วยโรคแพนิคนั้น โดยปกติจะมี 2 ชนิด นั่นก็คือชนิดออกฤทธิ์เร็ว เพียงแต่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดการติดใช้ยาในระยะยาวได้ กับชนิดออกฤทธิ์ช้า ซึ่งจะค่อย ๆ เข้าไปช่วยปรับสารเคมีในสมอง มีผลข้างเคียงน้อย แต่ก็อาจต้องกินยาต่อเนื่องกันไประยะเวลาหนึ่ง ซึ่งยาที่ใช้ในการรักษาโรคแพนิคนั้น จำเป็นที่จะต้องให้จิตแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจ่ายยาให้เท่านั้น ไม่ควรหามารับประทานเองหรือหาตามร้านขายยาทั่วไปเด็ดขาด
2. รักษาด้วยการบำบัด
การรักษาด้วยการบำบัด จะเน้นไปที่การให้ความรู้ผู้ป่วย ครอบครัวและคนใกล้ตัวเกี่ยวกับโรคแพนิค ว่าควรจะรับมืออย่างไรเมื่อเกิดอาการแพนิคขึ้นมาฉับพลัน นอกจากนี้ก็อาจมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้ทำเพื่อการผ่อนคลาย ตัวอย่างเช่น การฝึกคลายกล้ามเนื้อ การฝึกสมาธิ หรือการฝึกคิดปรับทัศนคติใหม่
แต่อย่างไรก็ตาม สถานพยาบาลและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคน ก็อาจใช้วิธีรักษาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรักษาพร้อมกันทั้ง 2 รูปแบบเพื่อบรรเทาอาการของโรคแพนิคไม่ให้รุนแรงไปกว่านี้ หรือในบางรายก็อาจต้องใช้ “เวลา” เข้ามาช่วยในการเยียวยาและรักษาด้วย
ดังนั้น ถ้าหากคุณคิดว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวกำลังประสบกับโรคแพนิคนี้อยู่ ให้ลองปฏิบัติตามนี้
- หาสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคแพนิค
- หากสาเหตุนั้นไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม การเสพยา หรือฮอร์โมนผิดปกติ ให้เริ่มหาทางออกจากสภาวะนั้น ตัวอย่างเช่น รู้ว่าความเครียดจนสะสมให้เกิดโรคแพนิคมาจากความกดดันในการทำงาน ควรจะปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม สถานที่ทำงาน หรือความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง
- ถ้าคุณหรือคนใกล้ตัวไม่สามารถที่จะออกจากสภาวะนั้นได้ ก็ไม่ควรเร่งรัดหรือกดดัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่เป็นโรคแพนิคเนื่องจากสถานการณ์ฝังใจหรือเรื่องราวในอดีต จะไม่สามารถออกจากสภาวะนั้นได้ทันที จึงต้องพยายามปรับเปลี่ยนความคิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ว่าจริง ๆ แล้วสถานการณ์เหล่านั้นก็ไม่ได้มีอะไรน่ากังวล
- ถ้าคุณหรือคนใกล้ตัวไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ สิ่งที่ควรทำคือหาคนอยู่เคียงข้างและคอยอยู่เคียงข้างไปจนกว่าอาการจะดีขึ้น ทำให้แน่ใจว่าผู้ที่ประสบกับโรคแพนิคจะมีการผ่อนคลายความเครียดที่ดี รับประทานอาหารได้ปกติ และพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- ไม่ว่าคุณหรือคนใกล้ตัวจะได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทานยาแล้ว โรคแพนิคก็ไม่ใช่โรคที่จะหายได้ทันทีทันใด คนรอบตัวจึงจำเป็นจะต้องมีความเข้าใจ คอยเป็นกำลังใจให้ผู้ที่ประสบกับโรคแพนิคอย่างใจเย็น ไม่ควรรีบร้อนหรือตัดสินสภาพจิตใจผู้อื่นจากความเข้าใจของเราเพียงคนเดียว
ซึ่งในสังคมของเราตอนนี้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคแพนิคและโรคทางจิตเภทก็ได้มีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่กดดัน ความเร่งรีบในการใช้ชีวิต หรือการจดจ่ออยู่กับโลกในโซเชียลมากเกินไป ถ้าหากคุณหรือคนใกล้ตัวของคุณกำลังประสบปัญหามีอาการของโรคแพนิค ก็สามารถมาปรึกษาและรักษากับทาง ฮักษาคลินิก ได้ เราจะคอยดูแลคุณและคนที่คุณรักอย่างใส่ใจเหมือนคนในครอบครัวให้เอง