รู้จักกับไข้หวัดใหญ่ อันตรายแค่ไหนและควรป้องกันตัวเองอย่างไร?

รู้จักกับไข้หวัดใหญ่ อันตรายแค่ไหนและควรป้องกันตัวเองอย่างไร?


จากวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ซึ่งสร้างความฮือฮามากที่สุดในวงการบันเทิงและวงการแพทย์ นั่นก็คือข่าวการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของนักแสดง นักร้อง และพิธีกรชื่อดังจากไต้หวันอย่าง ‘สวี ซีหยวน’ หรือ ‘ต้าเอส’ ที่ชาวไทยส่วนใหญ่ รู้จักในนามของนักแสดงหญิงจากเรื่อง ‘F4 รักใสใสหัวใจ 4 ดวง’ โดยเธอได้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ขณะเดินทางท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะอาการทรุดหนักและเสียชีวิตลงในวัยเพียง 48 ปีเท่านั้น ทาง ฮักษาคลินิก เองก็ขอแสดงความเสียใจและไว้อาลัยให้กับเธอ ด้วยการออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ เพื่อไม่ให้มีใครต้องเกิดความสูญเสียอย่างน่าเศร้าเช่นนี้อีก 


ทำความรู้จักกับไข้หวัดใหญ่

โดยปกติแล้ว คนเราสามารถที่จะเป็นไข้หวัดได้ง่าย เนื่องจากในสภาพแวดล้อมทั่วไปจะมีเชื้อไวรัสอยู่ราว 200 ชนิด และเชื้อไวรัสเหล่านั้นสามารถเข้าสู่ร่างกายคุณผ่านการหายใจ การสัมผัส หรือติดจากคนสู่คนได้ ส่วนอาการที่เกิดขึ้นนั้นมักจะไม่หนักมาก อาจเพียงแค่มีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ปวดหัว คัดจมูก หรือมีน้ำมูก เมื่อเวลาผ่านไปราว ๆ 3 – 4 วัน ภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะทำหน้าที่กำจัดเชื้อไวรัสแปลกปลอมออกไป แล้วทำให้ร่างกายกลับมามีสุขภาพแข็งแรงดีดังเดิมได้เอง หากใครที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือเป็นเด็กเล็กที่ภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงพอ ก็สามารถที่จะรับประทานยาบรรเทาอาการต่าง ๆ ร่วมด้วยได้

แต่ไข้หวัดใหญ่จะเกิดจากเชื้อไวรัส Influenza Virus เท่านั้น โดยผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะมีอาการเหมือนผู้ติดเชื้อไข้หวัดธรรมดาแทบทุกประการ ต่างกันตรงผู้ที่ติดเชื้อ Influenza Virus (หรือไข้หวัดใหญ่) จะมีอาการรุนแรงกว่า และเกิดภาวะแทรกซ้อนได้รุนแรงยิ่งกว่า ซึ่งในปัจจุบันไข้หวัดใหญ่ สามารถจำแนกสายพันธุ์หลักได้ดังต่อไปนี้


1. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จะเป็นเชื้อไวรัสที่รุนแรงที่สุดในบรรดาไข้หวัดใหญ่ โดยสามารถแบ่งออกได้อีกหลายชื่อตามลักษณะของไวรัส เช่น ไข้หวัด H1N1 ที่เคยมีการแพร่ระบาดใหญ่ในอดีตปี 2009 ก็เป็นหนึ่งในเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A 

โดยเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้จะแฝงอยู่ในสารคัดหลั่งของผู้ป่วย อย่างน้ำมูกหรือน้ำลาย เมื่อมีการไอ จาม หายใจรดกัน หรือสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง ก็จะสามารถติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ได้เช่นกัน ซึ่งผู้ป่วยก็จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ไอ ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ 


2. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B จะเป็นเชื้อไวรัสที่รุนแรงรองลงมาในบรรดาไข้หวัดใหญ่ โดยสามารถแบ่งออกได้อีกหลายชื่อตามลักษณะของไวรัส เช่น B Victoria, B Yamagata หรือ B Phuket

โดยเชื้อไข้หวัดสายพันธุ์นี้จะระบาดมากในฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว สามารถติดต่อกันได้ผ่านสารคัดหลั่งเหมือนเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และผู้ป่วยก็จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ไอ หนาวสั่น คัดจมูก อาจมีอาการน้ำตาไหลหรือตาแดงตามมาได้ 


3. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C ถือว่าเป็นเชื้อไวรัสที่รุนแรงน้อยที่สุด ในบรรดาเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั้งหมด โดยทั่วไปจะมีอาการคล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A หรือ B เพียงแต่รุนแรงน้อยกว่า ถ้าหากไม่ได้เกิดขึ้นในเด็กเล็ก ผู้สูงวัย หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ก็จะสามารถหายได้เองในเวลาไม่นาน 

ซึ่งไข้หวัดใหญ่ที่คร่าชีวิตของนักแสดงสาวอย่าง ‘ต้าเอส’ ไปนั้น มีแหล่งข่าวระบุเอาไว้ว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A แต่ก็ไม่สามารถยืนยันทางการแพทย์ได้แน่ชัดนัก จะยืนยันได้ก็เพียงว่าเธอนั้นเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาเมื่อติดเชื้อไวรัส Influenza นั่นเอง 


ไข้หวัดใหญ่ อันตรายกับชีวิตแค่ไหน?


  • ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

เดิมทีแล้ว ไข้หวัดใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย เพียงแต่ในผู้ใหญ่อายุ 20 – 65 ปีจะมีภูมิคุ้มกันที่ค่อนข้างแข็งแรง เมื่อติดเชื้อไวรัส Influenza Virus หรือไข้หวัดใหญ่ หากพบแพทย์ ทานยาที่เหมาะสม ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และพักผ่อนอย่างเพียงพอ ก็จะสามารถฟื้นตัวและหายจากไข้หวัดใหญ่ได้เหมือนกับไข้หวัดทั่วไป แต่เชื้อไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงขึ้นมาทันทีสำหรับผู้คนเหล่านี้ 

    • สตรีมีครรภ์
    • เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน – 2 ปี 
    • ผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป 
    • ผู้ป่วยที่มีเชื้อ HIV, ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย, ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง 
    • ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในทางเดินหายใจ 
    • ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน เบาหวาน หรือมีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กก.ขึ้นไป 

โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสียงเหล่านี้ มีโอกาสที่จะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป รวมถึงมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่มากขึ้น หรือรุนแรงขึ้นได้ 


  • ภาวะแทรกซ้อนในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 

ภาวะแทรกซ้อน คือสิ่งที่ทำให้เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นหนึ่งในโรคที่น่ากลัว เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถที่จะเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท หรือในกล้ามเนื้อหัวใจ แล้วก่อให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ 

    • ภาวะขาดน้ำ 
    • ภาวะหายใจลำบากเฉียบพลัน 
    • ภาวะหลอดลมอักเสบ 
    • ภาวะหูชั้นกลางอักเสบ (พบมากในเด็ก)
    • ภาวะไซนัสอักเสบ (พบมากในเด็ก) 
    • ภาวะปอดอักเสบ 
    • ภาวะหลอดลมอักเสบ 
    • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (พบได้น้อย)
    • ภาวะปลายประสาทอักเสบ (พบได้น้อย) 
    • ภาวะสมองอักเสบ (พบได้น้อย) 
    • ทำให้โรคหอบหืด โรคหัวใจ หรือโรคปอดที่เป็นอยู่กำเริบและทรุดหนัก
 

ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่ได้กล่าวถึงไปในข้างต้นนี้ สามารถที่จะเริ่มต้นจากอาการเล็กน้อย ไปจนถึงทรุดหนักมากจนกลายเป็นอาการถึงชีวิตได้อย่างเท่าเทียมกัน ถ้าหากคุณมีอาการของไข้หวัดใหญ่เป็นระยะเวลานานกว่า 1 สัปดาห์ มีไข้สูง เจ็บหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หรือไม่มีผู้ดูแลใกล้ชิด ก็ควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย รับยาบรรเทาอาการหรือแอดมิทโรงพยาบาลเฝ้าดูอาการได้  


ควรป้องกันอย่างไร ไม่ให้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่  

เชื้อไวรัส Influenza Virus นั้นสามารถคงอยู่ได้ทุกฤดูของประเทศไทย แต่ก็จะสามารถแพร่ระบาดได้มากในฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว เพราะเชื้อไวรัสต้องการอุณหภูมิที่หนาวและชื้น ซึ่งในทุกต้นฤดูฝน ในประเทศไทยของเราก็ได้มีการแจกจ่ายและฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่อยู่กลุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว แต่ถ้าหากคุณไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือว่าต้องการป้องกันตัวเองและคนที่คุณรัก ก่อนที่จะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ก็ขอแนะนำวิธีป้องกันตัวเอง ดังนี้ 

  • ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดน้ำ ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ฯลฯ ร่วมกัน 
  • หากอยู่ภายนอกบ้าน ให้หมั่นใช้เจลล้างมือแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่แออัด หรือพื้นที่ที่มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
  • ลดหรือไม่สัมผัสตา จมูก และปากเมื่ออยู่ภายนอกบ้าน หรือยังไม่ได้ล้างมือ 
  • ทำความสะอาดโทรศัพท์ และข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน 
  • เมื่อพบผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ควรเว้นระยะห่างหรือสวมหน้ากากทุกครั้ง 
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายและภูมิคุ้มกันแข็งแรง 
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอต่อวัน

ซึ่งวิธีการป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้นก็คล้ายคลึงกับวิธีการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด – 19 เลย ถ้าหากคุณเป็นคนที่ผ่านพ้นยุคโควิดมาได้ ก็บอกเลยว่าแทบไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง และป้องกันตัวให้ดีเหมือนเดิม เท่านี้คุณก็จะอยู่ห่างไกลทั้งเชื้อไวรัสโควิด – 19 เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ รวมถึงเชื้ออื่น ๆ ที่ติดต่อกันผ่านอากาศและสารคัดหลั่งได้แล้ว 

ถึงแม้ว่าข่าวการเสียชีวิตของ ‘ต้าเอส’ จะกะทันหันและน่าสลดใจ แต่ก็ได้ทำให้ใครหลายคนตระหนักรู้เป็นบทเรียน ว่าไม่ควรประมาทเมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บใดกับร่างกาย อีกทั้งการรักษาของประเทศไทยเราก็ดีกว่าที่ไหน ๆ ในต่างประเทศ เนื่องจากทุกคนทุกเพศทุกวัยสามารถที่จะเข้าถึงโรงพยาบาลของรัฐได้ง่ายดายในค่าใช้จ่ายต่ำ รวมถึงแอดมิทนอนโรงพยาบาลได้อย่างไม่ยากเย็นอีกด้วย ดังนั้น ถ้าหากคุณป่วยหรือมีสัญญาณบางอย่างบ่งบอกว่าร่างกายไม่ปกติ ก็สามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลได้ทุกเมื่อ ทาง ฮักษาคลินิก เองก็เตรียมพร้อมที่จะดูแลใส่ใจรักษาทุกอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของคุณและทุกคนที่คุณรักด้วยเช่นกัน