ข้อมูลจากผลงานวิจัยนายกสมาคมโรคสมองเสื่อมฯ เผยว่า ประชาชนไทยป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นปีละ 10% โดยในผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ทำกิจกรรมทางกายภาพ หรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีโอกาสเกิดภาวะนี้มากถึง 9 ใน 10 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2565)
จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่าตนมีอาการโรคสมองเสื่อม และภาวะอาการของโรคจะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จนมีอาการสมองฝ่อระยะสุดท้ายในช่วงอายุ 84 ปี หลังจากนั้นจะลดลงเรื่อย ๆ ในช่วงอายุ 85-99 ปี
โรคสมองเสื่อมนั้น ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด สามารถรักษาแบบบรรเทาอาการได้เท่านั้น และถ้าหากผู้ป่วยเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโ ก็จำเป็นที่จะต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด การเรียนรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนโรคสมองเสื่อม เพื่อที่จะได้ดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ชะลอให้โรคเกิดได้ช้าขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย
โรคสมองเสื่อมคืออะไร?
โรคสมองเสื่อม (Dementia) คือ ภาวะการทำงานของสมองมีความบกพร่อง ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมีปัญหาด้าน ความจำ ความคิด การใช้ภาษา การใช้เหตุผล และการตัดสินใจในชีวิตประจำวันผิดปกติไป โดยผู้ป่วยจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ทำให้พฤติกรรมหรือบุคลิกเปลี่ยนไป เช่น การสื่อสารแย่ลง การคิดคำพูดช้าลง การตัดสินใจแย่ลง รวมไปถึงสิ่งที่เคยทำในชีวิตประจำวันอาจไม่สามารถทำได้ จนในที่สุดผู้ป่วยความจำเสื่อมอาจไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จึงต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
โรคสมองเสื่อม สาเหตุเกิดจากอะไร?
โดยส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมีสาเหตุหลักที่พบบ่อย คือ
1. โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากความเสื่อมของสมองโดยตรง หรือ โรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมที่พบได้มากที่สุด ซึ่งอาการของโรคจะเริ่มต้นจากภาวะสมองฝ่อลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำ เมื่อระยะเวลาผ่านไปสมองส่วนอื่นๆ ของผู้ป่วยจะฝ่อตาม ทำให้ส่งผลต่อความคิด การสื่อสาร พฤติกรรม และการตัดสินใจ นำไปสู่อาการของโรคที่มากขึ้น
อาการของโรคอัลไซเมอร์จะแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- สมองฝ่อระยะแรก : จะมีความจำถดถอยจนตัวเองรู้สึกได้ ชอบถามซ้ำ ๆ พูดซ้ำ ๆ เรื่องเดิม ๆ มีอาการสับสนทิศทาง รวมถึงอารมณ์เสียและซึมเศร้าได้ง่าย
- สมองฝ่อระยะกลาง : จะมีความจำแย่ลง เดินออกจากบ้านโดยไม่มีจุดหมาย หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น จากที่เคยเป็นคนใจเย็นก็กลายเป็นคนที่โมโหง่าย
- สมองฝ่อระยะสุดท้าย : จะตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างได้น้อยลง รับประทานอาหารได้น้อย สุขภาพทรุดลงคล้ายผู้ป่วยติดเตียง เคลื่อนไหวน้อยลง หรือไม่เคลื่อนไหวเลย มีอาการปัสสาวะเล็ด กลั้นอุจจาระไม่อยู่ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และสูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันไป
จะเห็นได้ว่า สมองฝ่อระยะสุดท้ายจะมีอาการข้างเคียงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก การชะลอความรุนแรงของโรคสมองเสื่อมให้เกิดช้าลงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราไม่ควรละเลย โดยควรหมั่นสังเกตผู้สูงอายุในครอบครัว หากพบว่ามีอาการหลงลืม ของหายบ่อย จำเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่ได้ หรือถามเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและทำการรักษาอย่างทันท่วงที
2. โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากเส้นเลือดในสมองผิดปกติ
ภาวะเส้นเลือดในสมองผิดปกติ (Vascular Neurocognitive Disorder) มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันสูง หรือเบาหวาน โรคเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เส้นเลือดเล็กๆ ในสมองตีบตัน หรือ เส้นเลือดในสมองแตก นำไปสู่ภาวะของเนื้อสมองทำงานไม่ปกติ จนในที่สุดสมองในส่วนของความคิด ความจำ และการรับรู้ของผู้ป่วยเริ่มแย่ลงไปเรื่อยๆ
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทางการแพทย์สามารถทำการรักษาให้หายได้ ตัวอย่างเช่น
- โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
- ภาวะโพรงสมองโต การติดเชื้อในสมอง
- มีเนื้องอกในสมอง
- มีเลือดคั่งในสมอง
- การดื่มแอลกอฮอล์ และขาดวิตามินที่มีส่วนสำคัญต่อสมอง
สัญญาณเตือนโรคสมองเสื่อมมีอะไรบ้าง?
อาการริเริ่มของโรคสมองเสื่อมส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว เนื่องจากอาการจะค่อยๆ เป็นมากขึ้นอย่างช้าๆ ดังนั้นการสังเกตสัญญาณเตือนที่ดีที่สุดจะต้องเกิดจากผู้ใกล้ชิดที่หมั่นสังเกตผู้สูงอายุว่า มีพฤติกรรม หรือบุคลิกภาพที่เข้าข่ายสัญญาณเตือนโรคสมองเสื่อมหรือไม่ ดังนี้
- มีอาการหลงลืมบ่อย ลืมว่าวางของไว้ที่ไหน อาจโทษผู้อื่นว่านำของไปซ่อน ลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน มีความจำระยะสั้นไม่ค่อยดี
- มักถามเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ลืมว่าเคยพูดเรื่องเดิมไปแล้ว
- ลืมกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่เคยทำเป็นประจำ
- มีปัญหาในการจัดการเงิน การคิดเลข คิดเงิน ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- มีอาการซึมเศร้า ไม่ร่าเริงสดใส
- มีปัญหาความจำเรื่องเส้นทาง ทิศทาง ส่งผลต่อการขับขี่ หลงทางบ่อย จำทางไม่ได้
- ลืมชื่อคนรู้จัก ลืมชื่อสิ่งของ ใช้เวลาในการเลือกคำพูดนาน พูดไม่จบประโยค
- ไม่สนใจกิจกรรม หรือ งานอดิเรกที่เคยชื่นชอบ เข้าสังคมน้อยลง
- มีอาการเฉื่อยชา หงุดหงิดง่าย กังวล สงสัย
- เห็นภาพหลอน เห็นหรือได้ยินเสียงแปลกๆ และเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นจริง
หากพบว่าผู้สูงอายุที่ใกล้ชิดมีอาการใกล้เคียงที่กล่าวมามากกว่า 5 ข้อขึ้นไป ประเมินได้ว่าอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อมได้ จึงไม่ควรนิ่งนอนใจอย่างยิ่ง ควรเข้ารับการวินิจฉัยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด
โรคสมองเสื่อมเกิดขึ้นในคนอายุน้อยได้หรือไม่?
อย่างที่ทราบกันแล้วว่าโดยส่วนใหญ่โรคสมองเสื่อมมักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ แต่ทราบหรือไม่ว่าคนอายุน้อยก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน โดยจากสถิติพบในคนอายุน้อยมากถึง 6.9% ของจำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหมด และส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานทั้งสิ้น ประเด็นสำคัญที่น่าเป็นห่วงคือ มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นภาวะความเครียดจึงไม่สังเกตความผิดปกติดังกล่าว ทำให้อาการของโรคลุกลามไปสู่ภาวะอันตรายได้โดยไม่รู้ตัว
สาเหตุของโรคสมองเสื่อมในคนอายุน้อยเกิดจากอะไร?
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคสมองเสื่อมตั้งแต่อายุยังน้อย
- มีเนื้องอกสมอง หรือ ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
- มีภาวะสมองติดเชื้อ เช่น เอชไอวี ซิฟิลิส และไวรัสอื่นๆ
- มีภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ส่งผลให้เกิดอาการเส้นเลือดสมองตีบจนนำไปสู่ภาวะเซลล์สมองตาย
- มีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ
- ดื่มแอลกอฮอล์ หรือ สูบบุหรี่ เป็นประจำ
- ภาวะร่างกายขาดวิตามิน B12 ส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อม
ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม
โรคสมองเสื่อมสามารถตรวจวินิจฉัยได้หลายวิธี ดังนี้
1. การซักประวัติและตรวจร่างกาย
โดยทั่วไปญาติหรือผู้ใกล้ชิดควรเข้าร่วมการซักประวัติด้วย เนื่องจากผู้ป่วยมักให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนซึ่งเกิดจากอาการหลงลืม หรือบางรายอาจคิดว่าตนไม่ได้ป่วยจึงไม่สามารถให้ข้อมูลที่แพทย์ต้องการได้ละเอียดเท่าที่ควร
ตัวอย่างการซักประวัติ
- ระยะเวลาที่มีอาการ
- ลักษณะการเดิน การทานอาหาร การใช้ยา
- โรคประจำตัว
- ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน
- ประวัติการบาดเจ็บทางสมอง
- ประวัติคนในครอบครัวเกี่ยวกับโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
2. ตรวจโรคสมองเสื่อมโดยการตรวจเลือด
เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อให้ทราบความผิดปกติของระบบเมตาโบลิกของร่างกาย การเจาะเลือดจึงช่วยในการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมได้ละเอียดมากขึ้น
3. ตรวจโรคสมองเสื่อมโดยแบบทดสอบความจำ
เป็นวิธีการตรวจที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะให้ตอบแบบทดสอบ เพื่อทดสอบความจำและสามารถระบุได้ว่าอาการหลงลืมที่เกิดขึ้น รวมไปถึงแพทย์อาจให้ทำกิจกรรมบางประเภทเพื่อทดสอบ เช่น การวาดรูป คิดเลข เขียนนาฬิกา ให้ได้ผลลัพธ์ว่ามีแนวโน้มของภาวะของโรคสมองเสื่อมหรือไม่
4. ตรวจโรคสมองเสื่อมโดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging)
เป็นการตรวจโรคสมองเสื่อมด้วย Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI เป็นการตรวจด้วยคลื่นวิทยุร่วมกับคลื่นสนามแม่เหล็ก ซึ่งจะสร้างภาพแบบ 3 มิติโดยไม่ใช้รังสีเอกซเรย์ในการทำให้เกิดสัญญาณเพื่อสร้างเป็นภาพ การตรวจแบบนี้จะได้ภาพที่คมชัด คล้ายกับลักษณะของสมองมากที่สุด มีประสิทธิภาพสูง ทำให้แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมได้อย่างแม่นยำ ที่สำคัญคือเป็นการตรวจที่ไม่ทำให้ผู้ตรวจรู้สึกเจ็บปวด
โรคสมองเสื่อม รักษาอย่างไร?
การรักษาโรคสมองเสื่อมจะเริ่มจากการวินิจฉัยหาสาเหตุก่อน และถ้าหากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเกิดจากสาเหตุที่สามารถรักษาได้ แพทย์จะทำการรักษาโรคสมองเสื่อมตามสาเหตุของโรคนั้นๆ เช่น
- เป็นโรคสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ : จะใช้การรักษาด้วยการประคองอาการไม่ให้รุนแรงเร็วขึ้น ซึ่งหากตรวจพบเร็วการรักษาก็จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมกับการฝึกพัฒนาสมองด้วยวิธี Cognitive training
- การรักษาโรคสมองเสื่อมด้านพฤติกรรมที่เกิดจากภาวะของโรค : เช่น อารมณ์ร้อน ก้าวร้าว ด่าทอ จนส่งผลต่อการดูแลของผู้ใกล้ชิดที่ยากต่อการทำความเข้าใจ โดยแพทย์จะทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบและทำความเข้าใจผู้ดูแลเกี่ยวกับภาวะต่าง ๆ ของโรคสมองเสื่อม หรือในกรณีแพทย์อาจต้องใช้ยาเพื่อลดอาการของผู้ป่วยให้ดีขึ้น
- ให้คำแนะนำการดูแลผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม : เนื่องจากการดูแลอาจส่งผลต่อสุขภาพกายและใจผู้ดูแลโดยตรง ภาวะต่างๆ อาจสร้างความทุกข์ใจ ความเครียดสะสม และความอ่อนล้าได้ ดังนั้นการแก้ไขปัญหา ให้คำปรึกษาผู้ดูแลจึงมีความสำคัญไม่แพ้กัน เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ดูแลดีนำไปสู่การดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมได้อย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น
สรุปเรื่องโรคสมองเสื่อม
โรคสมองเสื่อมเป็นภัยเงียบที่ควรทราบก่อน เพื่อให้สามารถชะลอความรุนแรงของอาการได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญของการเฝ้าระวัง คือ การทราบถึงสัญญาณเตือนที่เสี่ยงต่อการนำไปสู่โรคสมองเสื่อมได้ ทั้งนี้คนใกล้ตัวควรหมั่นสังเกตคนในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ และไม่ควรตัดสินไปเองว่าเป็นอาการที่ไม่น่าเป็นห่วง เพราะความชะล่าใจเพียงเล็กน้อย อาจนำไปสู่ภาวะที่รุนแรงและยากที่จะรักษาให้ดีขึ้นได้นั่นเอง
สำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม หรือ ต้องการตรวจวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ ฮักษาคลินิก
- เบอร์โทร : 096-696-1999, 091-068-6880
- LINE: @hugsa
- Facebook : HUGSAMedical
HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ