จากรายงานสถิติการเสียชีวิตจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า โรคหัวใจ (Heart Disease) เป็นสาเหตุการของการเสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของคนทั่วโลก และคาดว่าจะมีจำนวนตัวเลขสูงเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งในประเทศไทยก็มีข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขว่า มีคนไทยที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดถึง 58,681 คนต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน การเฝ้าระวังโรคหัวใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนไม่ควรละเลย
โรคหัวใจ หรือที่ในทางการแพทย์อาจเรียกว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease) นั้น เป็นโรคเกี่ยวกับความผิดปกติในการทำงานของหัวใจที่นำไปสู่ภาวะอันตรายต่าง ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด
สำหรับท่านใดที่มีความกังวล ฮักษา เมดิคอล (HUGSA MEDICAL) จะพาไปรู้จักกับการตรวจเอคโค่หัวใจ (Echocardiogram) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “เอคโค่” (Echo) วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ที่จะช่วยให้เรารู้เท่าทันโรคที่อาจแฝงอยู่ สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
เอคโค่หัวใจ (Echocardiogram) คืออะไร?
เอคโค่หัวใจ (Echocardiogram หรือ Echocardiography) คือ วิธีตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง โดยจะแสดงให้เห็นเป็นการจำลองภาพเคลื่อนไหวที่บ่งบอกลักษณะหัวใจ ขนาดหัวใจ การทำงานของห้องหัวใจต่างๆ ลิ้นหัวใจ และการสูบฉีดเลือด
นอกจากนี้ยังสามารถแสดงให้เห็นความผิดปกติของหัวใจได้อย่างละเอียดด้วย เช่น
- การติดเชื้อบริเวณลิ้นหัวใจ
- ตำแหน่งของกล้ามเนื้อหัวใจที่ทำงานผิดปกติ หรือได้รับบาดเจ็บ
- เนื้องอกบริเวณหัวใจ
- การเกิดลิ่มเลือดภายในหลอดเลือดหัวใจ
เอคโค่หัวใจ (Echocardiogram) มีกี่แบบ?
1. เอคโค่หัวใจแบบ Transthoracic Echocardiogram
เป็นรูปแบบการตรวจเอคโค่หัวใจมาตรฐานที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้เข้ารับการตรวจ ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ และไม่มีขั้นตอนการผ่าตัด โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือวางไว้บนหน้าอกเพื่อส่งคลื่นความถี่สูงเข้าสูงผนังหัวใจ แล้วส่งสัญญาณกลับมาที่คอมพิวเตอร์เพื่อแปลงเป็นภาพเคลื่อนไหวสำหรับใช้ในการวินิจฉัย
2. เอคโค่หัวใจแบบ Transesophageal Echocardiogram
จะทำในกรณีที่การตรวจเอคโค่หัวใจแบบ Transthoracic Echocardiogram แล้วไม่เห็นภาพหัวใจ หรือไม่มีความชัดเจนเพียงพอ หรือใช้ในกรณีที่แพทย์ต้องการเห็นรายละเอียดในส่วนของลิ้นหัวใจมากขึ้น
เอคโค่หัวใจแบบ Transesophageal Echocardiogram มีขั้นตอนดังนี้
- ใช้ยาระงับประสาทเพื่อทำให้ผู้เข้ารับการตรวจผ่อนคลายและลดความรู้สึกขณะการตรวจ
- สอดท่อเข้าสู่ช่องทางปากยาวจนถึงหลอดอาหาร แล้วทำการปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูง
การตรวจด้วยวิธีนี้จะทำให้แพทย์ได้ภาพวินิจฉัยโรคหัวใจอย่างชัดเจน แต่ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องพักฟื้นหลังจากที่เข้ารับการตรวจ เพื่อให้มั่นใจว่าฤทธิ์ของยาหมดลงแล้ว ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย หรือการขับขี่
3. เอคโค่หัวใจแบบ Stress Echocardiogram
เป็นการตรวจเอคโค่หัวใจร่วมกับการตรวจสมรรถภาพหัวใจ โดยการให้ผู้เข้ารับการตรวจออกกำลังกายเพื่อตรวจหาความผิดปกติของระบบการทำงานของหัวใจ ทำให้ทราบถึงสาเหตุของโรคหัวใจบางชนิดได้ง่ายขึ้น เนื่องจากการกระตุ้นให้หัวใจทำงานหนัก หรือหัวใจเต้นเร็วมากกว่าการตรวจทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถออกกำลังกายได้ หรือ ร่างกายไม่สะดวกต่อการเคลื่อนไหว แพทย์จะเลือกใช้การตรวจร่วมกับการฉีดยาควบคู่กัน
4. เอคโค่หัวใจแบบ Doppler Echocardiogram
เป็นการตรวจวัด ทิศทาง ความเร็วของกระแสเลือดในหัวใจ ตรวจการไหลเวียนเลือดและความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดง โดยใช้การตรวจคละแบบ Transesophageal Echocardiogram กับ Transthoracic Echocardiogram ซึ่งการเอคโค่หัวใจวิธีนี้เป็นการตรวจที่สามารถแสดงผลการวินิจฉัยได้มากกว่าการตรวจแบบอัลตราซาวด์
5. เอคโค่หัวใจแบบ Echocardiogram 3 มิติ
เป็นการตรวจเอคโค่หัวใจแบบ Transesophageal Echocardiogram และ แบบ Transthoracic Echocardiogram เพื่อเก็บภาพการทำงานของหัวใจจากหลาย ๆ มุม แล้วให้ระบบประมวลผลแสดงภาพออกมาเป็นภาพ 3 มิติ ทำให้เห็นถึงลักษณะการทำงานของหัวใจ เป็นวิธีการวินิจฉัยสำหรับผู้ตรวจที่มีประวัติการผ่าตัดลิ้นหัวใจมาก่อน รวมถึงวินิจฉัยความผิดปกติของหัวใจในเด็ก
6. เอคโค่หัวใจแบบ Fetal Echocardiogram
เป็นวิธีตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของหัวใจของทารกในครรภ์มารดา เพื่อความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ แนะนำให้ตรวจตอนอายุครรภ์ 8-22 สัปดาห์ เนื่องจากการตรวจที่มีการฉายรังสีอาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ได้
ใครบ้างที่ควรเข้ารับการตรวจเอคโค่หัวใจ?
การตรวจเอคโค่หัวใจ เป็นการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นของการทำงานระบบหัวใจ เพื่อที่แพทย์จะใช้ในการวิเคราะห์และสาเหตุของโรคหัวใจได้อย่างแม่นยำ โดยแพทย์จะแนะนำให้ตรวจในผู้ที่มีอาการเสี่ยงดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีอาการเหนื่อยหอบ รู้สึกหายใจลำบาก
- ผู้ที่มีอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก
- ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
- ผู้ที่มีประวัติการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
- ผู้ที่มีภาวะหัวใจบีบตัวน้อยผิดปกติ
- ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงแบบเรื้อรัง
- ผู้ที่มีเสียงหัวใจผิดปกติ ซึ่งอาจมีความผิดปกติจากลิ้นหัวใจ
- ผู้ที่มีความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่กำเนิด และผ่านการผ่าตัดมาแล้ว ซึ่งปัจจุบันยังคงมีอาการของโรค
การตรวจเอคโค่หัวใจมีข้อดีอย่างไร?
ข้อดีของตรวจเอคโค่หัวใจ มีดังนี้
- เป็นการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน ไม่มีผลข้างเคียง และปลอดภัย
- สามารถตรวจได้ในทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ หรือยังอยู่ในช่วงให้นมบุตร
- เป็นวิธีการตรวจที่ไม่เจ็บ ไม่ต้องใช้ยาสลบ
- สามารถตรวจได้มากกว่า 1 ครั้งต่อวัน
- ใช้ประกอบการวินิจโรคหัวใจได้หลากหลายประเภท
- สามารถเห็นการทำงานของลิ้นหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจได้แบบเรียลไทม์
- สามารถทำการตรวจโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดได้ เพื่อประเมินการรักษาได้อย่างเหมาะสม
สามารถใช้ตรวจร่วมกับวิธีอื่นๆ ได้ เช่น การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือการสวนหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
ข้อควรรู้ก่อนตรวจเอคโค่หัวใจมีอะไรบ้าง?
ถึงแม้ว่าการตรวจเอคโค่หัวใจภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะมีความปลอดภัย แต่การตรวจเอคโค่หัวใจในแต่ละแบบก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ ซึ่งผู้เข้ารับการตรวจควรจะศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน เช่น
- การตรวจแบบ Transesophageal Echocardiogram : อาจทำให้ผู้ตรวจระคายเคืองคอได้ เนื่องจากมีการใส่ท่อเป้าทางปาก และผู้ตรวจจะต้องงดอาหารก่อนรับการตรวจตามเวลาที่แพทย์ได้นัดหมายไว้ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ตรวจมีความพร้อม ป้องกันการสำลักหรืออาเจียนระหว่างการตรวจ รวมถึงแพทย์จะทำการฉีดยาชา ทาเจล หรืออมยาชา ระงับความรู้สึกบริเวณลำคอขณะทำการสอดเครื่องมือ
- การตรวจแบบ Transthoracic Echocardiogram : อาจทำให้ผู้ตรวจระคายเคืองผิวหนังเล็กน้อยในขณะที่แพทย์ทำการดึงหัวตรวจออกจากบริเวณหน้าอก
- การตรวจแบบ Stress Echocardiogram : จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจทำให้หัวใจเกิดภาวะเต้นผิดจังหวะ หลังจากนั้นอาการจะดีขึ้นตามลำดับ
- การตรวจแบบ Echocardiogram : ผู้ตรวจจะต้องเปลี่ยนชุดเพื่อเข้าห้องตรวจ เช่นเดียวกับการเข้าห้องเอกซเรย์ และแพทย์จะให้นอนลงที่เตียงเพื่อท่าเจลบริเวณหน้าอกให้สามารถทำการตรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การรายงานผลตรวจเอคโค่หัวใจเป็นอย่างไร?
หลังจากตรวจเอคโค่หัวใจเสร็จแล้ว หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า ไม่พบความผิดปกติ ผู้ตรวจสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติและไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่แพทย์พบความผิดปกติ หรือสิ่งที่น่าสงสัย ผู้ตรวจอาจถูกส่งต่อไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจเพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยละเอียด ซึ่งแผนการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและผลการตรวจ โดยบางรายอาจต้องทำการตรวจเอคโค่หัวใจซ้ำ หรือตรวจด้วยวิธีการอื่นๆ ตามที่แพทย์แนะนำ
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจเอคโค่หัวใจ
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ง่ายต่อการผลัดเปลี่ยน หรือเปิดหน้าอกได้ง่าย
- งดชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ประมาณ 8 ชั่วโมงก่อนรับบริการ
- งดกิจกรรมที่ออกแรงมากก่อนเข้ารับการตรวจ
- หากต้องออกกำลังกายเพื่อตรวจหาความผิดปกติของระบบการทำงานของหัวใจร่วมด้วย แนะนำให้รับประทานอาหารก่อนเข้ารับการตรวจประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดอาการจุกเสียด
- หากมีโรคประจำตัว หรือกำลังรับประทานยารักษาโรคอยู่ จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเข้ารับการตรวจ
การดูแลตัวเองหลังตรวจเอคโค่หัวใจ
หลังตรวจเสร็จแล้ว สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร ยา หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ยกเว้นว่าแพทย์จะสั่งห้าม เช่น ไม่ให้ขับขี่ยานพาหนะ 24 ชั่วโมง ในคนที่ตรวจเอคโค่หัวใจแบบ Transesophageal Echocardiogram หรือไม่ให้รับประทานอาหารรสจัด ร้อนจัด หรือเย็นจัดในคนที่ใช้ยาชา เป็นต้น
การตรวจเอคโค่หัวใจใช้ระยะเวลาประมาณกี่นาที?
การตรวจเอคโค่หัวใจใช้ระยะเวลาประมาณ 30-60 นาที
การตรวจเอคโค่หัวใจอันตรายไหม?
โดยทั่วไป การตรวจเอคโค่หัวใจไม่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บต่อร่างกาย ไม่เป็นอันตรายต่ออวัยวะภายใน ไม่ส่งผลรบกวนต่อการทำงานของหัวใจ จึงมีความปลอดภัยสูงมาก หลังจากตรวจเสร็จแล้วสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ต้องพักฟื้นแต่อย่างใด
การตรวจเอคโค่หัวใจราคากี่บาท?
ค่าบริการตรวจเอคโค่หัวใจ จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับว่าจะต้องตรวจเอคโค่หัวใจด้วยรูปแบบใด หากอยากทราบราคาที่แน่ชัด สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ของฮักษา เมดิคอล เพิ่มเติมได้เลย
สรุปเรื่องการตรวจเอคโค่หัวใจ (Echocardiogram)
ทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาแบบเจาะลึกของการตรวจเอคโค่หัวใจ ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่ช่วยให้คุณทราบถึงจุดต้นตอที่อาจนำไปสู่โรคหัวใจได้ ซึ่งเป็นการตรวจที่ปลอดภัยและสามารถวินิจฉัยโรคหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ที่มีอาการเบื้องต้นคล้ายภาวะโรคหัวใจ การเลือกตรวจสุขภาพหัวใจอย่างทันท่วงทีนั้นเป็นทางเลือกที่แพทย์แนะนำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้สามารถทำการรักษาได้เร็วที่สุด ทั้งยังช่วยหลีกเลี่ยงภาวะรุนแรงของโรคหัวใจที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย
สำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาเกี่ยวกับโรคหัวใจ หรือต้องการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ ฮักษาคลินิก
- เบอร์โทร : 096-696-1999, 091-068-6880
- LINE: @hugsa
- Facebook : HUGSAMedical
HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ