เมื่อกล่าวถึง โรคหัวใจ (Heart Disease) เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกันดี แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนทั่วโลก และไม่ใช่โรคไกลตัวอย่างที่คิด
เพื่อให้คุณรู้เท่าทันโรคหัวใจมากขึ้น สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นและรับมือได้อย่างทันท่วงที ฮักษา เมดิคอล (HUGSA MEDICAL) จะพาไปเจาะลึกข้อมูลโรคหัวใจ สาเหตุเกิดจากอะไร สัญญาณเตือนมีอะไรบ้าง ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยเป็นอย่างไร สามารถป้องกันได้ไหม อ่านได้ที่บทความนี้เลย!
โรคหัวใจ (Heart Disease) คืออะไร?
โรคหัวใจ (Heart Disease) คือ โรคต่างๆ ที่ส่งผลต่อระบบการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ สามารถแบ่งชนิดของโรคหัวใจได้จากส่วนของหัวใจที่เกิดอาการผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคแตกต่างกันไป
โรคหัวใจมีกี่ชนิด สาเหตุเกิดจากอะไร?
โรคหัวใจมี 6 ชนิด ได้แก่
1. โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease : CAD)
โรคหลอดเลือดหัวใจ สาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดออกซิเจนและขาดอาหาร มีผลมาจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน ทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้
โรคหลอดเลือดหัวใจจะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ได้แก่ เจ็บหรือแน่นหน้าอก ร้าวไปตามกราม แขน ลำคอ ท้อง หรือบริเวณหลัง และในบางรายอาจมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หรือหมดสติร่วมด้วย โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นขณะออกกำลังกาย เมื่อพักครู่หนึ่งอาการก็จะหายไป ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนมีอาการของโรคหัวใจอยู่ และนำไปสู่อาการรุนแรงถึงขั้นหัวใจวายได้
2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส (Myocarditis)
โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหลากหลายชนิด เช่น คอกซากีไวรัส (Coxsackie virus) เอชไอวี (HIV) พาร์โวไวรัส (Parvo virus) หรืออะดีโนไวรัส (Adenovirus) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะอักเสบที่เกิดจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ผลที่ตามมาคือ จะทำให้เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ตามปกติ และทำให้การนำไฟฟ้าของหัวใจทำงานผิดปกติ ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัสนั้น จะทำให้มีอาการไข้ อาการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนบน และอาการเริ่มต้นของการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะไม่มีอาการรุนแรงมากนักจึงไม่ได้ตรวจรักษาอย่างทันท่วงที
สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- เกิดจากการติดเชื้ออื่น ๆ ที่ไม่ใช่เชื้อไวรัส เช่น ปรสิต เชื้อราบางชนิด แบคทีเรีย
- เกิดจากการได้รับสารเคมี เช่น สารตะกั่ว คาร์บอนมอนนอกไซด์
- เกิดจากการได้รับยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ ยาเคมีบำบัด ยากันชักบางชนิด
- เกิดจากการใช้สารเสพติด เช่น โคเคน
- เกิดจากโรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคทาคายาสุ ( Takayasu ‘ s arteritis ) โรคลูปัส (Systemic Lupus Erythematosus : SLE)
3. โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ (Dilated Cardiomyopathy)
โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ สาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ และทำให้หัวใจพิการ มีทั้งคนที่เป็นตั้งแต่กำเนิด และเป็นในภายหลัง โดยโรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการในภายหลังโดยไม่ทราบสาเหตุจะเป็นประเภทที่พบได้มากที่สุด
โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการสามารถแบ่งได้ 3 ชนิดหลัก ๆ ดังนี้
- กล้ามเนื้อหัวใจหนา
- กล้ามเนื้อหัวใจพิการ (กล้ามเนื้อขยายตัวไม่ปกติ เนื่องจากมีโรคบางชนิดแทรกในกล้ามเนื้อหัวใจ)
- กล้ามเนื้อหัวใจไม่หนา (หัวใจขยายตัวและบีบตัวผิดปกติ)
โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการจะทำให้การไหลเวียนเลือดไม่ดี ส่งผลให้ปริมาณเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายได้ไม่เพียงพอ ทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย และส่วนใหญ่จะพบว่า ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจพิการหลังจากตรวจพบโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากไวรัส
4. โรคลิ้นหัวใจพิการจากไข้รูห์มาติก
โดยทั่วไปแล้ว โรคลิ้นหัวใจพิการจะแบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่ ลิ้นหัวใจตีบ และลิ้นหัวใจรั่ว ซึ่งผู้ที่เป็นโรคหัวใจชนิดนี้ อาจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเป็นทั้ง 2 แบบร่วมกันก็ได้ โดยในประเทศไทย โรคลิ้นหัวใจพิการจะมีสาเหตุหลักมาจาก ไข้รูห์มาติก (Rheumatic fever) และพบในเด็กอายุ 5-12 ปี
โรคไข้รูห์มาติกนั้น เกิดจากการติดเชื้อสเตรปโทคอกโคสิส (Streptococcosis) ภายในช่องปาก ส่งผลให้ร่างกายมีปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันต่อเชื้อแบคทีเรียอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปฏิกิริยาต้านเนื้อเยื่อที่เกิดเป็นโรคไข้รูห์มาติก หลังจากนั้นจะมีอาการของโรคหัวใจชนิดลิ้นหัวใจอักเสบเรื้อรัง และมีภาวะลิ้นหัวใจพิการตามมา โดยภาวะลิ้นหัวใจพิการจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยชรา
5. โรคลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ
โรคหัวใจชนิดลิ้นหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ พบว่ามักเกิดหลังจากผู้ป่วยมีความผิดปกติของลิ้นหัวใจ เช่น อาการลิ้นหัวใจพิการจากไข้รูห์มาติก ซึ่งมีผลมาจากอาการอักเสบของหัวใจที่ทำให้ลิ้นหัวใจมีรูปร่างผิดปกติจากเดิม เนื่องจากการลุกลามของเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด จึงทำลายลิ้นหัวใจได้ง่าย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการหนาวสั่น มีไข้ บางรายมีอาการของการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างเห็นได้ชัด เช่น แขนขาดเลือด สมองอัมพาต เป็นต้น
6. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด คือ ความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือ ความปกติทางการเจริญเติบโตตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์มารดา โดยมีความผิดปกติในส่วนของการเติบโตของเนื้อเยื่อที่พัฒนาไปเป็นหัวใจ ส่งผลให้รูปร่างของหัวใจในทารกไม่สมบูรณ์ ทั้งผนังกั้นหัวใจรั่ว ไม่มีผนังกั้นหัวใจ ลิ้นหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว หรือในผู้ป่วยบางรายมีลักษณะความพิการซ้ำซ้อน เช่น Tetralogy of Fallot ที่มีอาการร่วมของทั้ง ลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ ผนังกั้นหัวใจรั่ว ภาวะตัวเขียว หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ต้าคล่อมผนังหัวใจ เป็นต้น
โรคหรือความพิการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ
โรคหัวใจที่เกี่ยวข้องกับโรคอื่นๆ หรือ ความพิการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ ดังต่อไปนี้
- โรคความดันโลหิตสูง
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- กลุ่มอาการหัวใจวายเลือดคั่ง
- เยื่อหุ้มหัวใจหนาผิดปกติบีบรัดหัวใจ
- โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น เนื้องอกของต่อมใต้สมอง คอพอกเป็นพิษ
- โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ เช่น มีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรัง
- หลอดเลือดพิการ เช่น หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง หลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ
- ภาวะขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี
กลุ่มโรคดังกล่าวนี้ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางหัวใจได้ หรือ บางรายอาจเกิดอาการหัวใจวาย เลือดคั่ง หรือ มีอาการอื่นๆ ที่เป็นอาการเฉพาะของโรคร่วมด้วย
สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าคุณอาจเสี่ยงต่อการเป็น “โรคหัวใจ”
- มีอาการเหนื่อยง่ายเมื่อออกกำลังกาย เดินเร็ว หรือ ออกแรงมาก
- หายใจเข้าไม่ปกติ บางรายอาจเป็นตลอดเวลา บางรายเป็นขณะออกกำลังกาย หรือ ใช้แรงมากๆ
- หายใจหอบเหนื่อยขณะนอนหลับทำให้บางครั้งต้องตื่นขึ้นมาหอบกลางดึก
- แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก บริเวณกลางอก หรือ บางรายมีอาการเจ็บหน้าอกด้านซ้าย/ทั้ง2ด้าน จนทำให้ไม่สามารถนอนราบได้ปกติ
- ขา หรือ เท้า บวมโดยไม่ทราบสาเหตุ บริเวณริมฝีปาก ปลายมือ ปลายเท้า มีสีเขียวคล้ำ
- เป็นลมหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุ
วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจมีขั้นตอนอย่างไร?
จะเห็นได้ว่า โรคหัวใจมักจะไม่มีสัญญาณเตือนให้ทราบล่วงหน้า กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็มีอาการรุนแรงแล้ว การตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ หรือเข้ารับการทดสอบสมรรถภาพของหัวใจอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำ โดยการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจมีขั้นตอนดังนี้
ตรวจร่างกายและประวัติสุขภาพ
การตรวจร่างกายอย่างละเอียด ร่วมกับซักประวัติสุขภาพต่าง ๆ เช่น ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจหรือไม่ พฤติกรรมการใช้ชีวิต การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการออกกำลังกาย จะช่วยให้แพทย์ทราบได้ว่าคุณมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า
Exercise Stress Test : การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย
การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย คือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยการติดแผ่นตะกั่วบริเวณหน้าอก เพื่อบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือด ในการวัดค่าการตอบสนองของหัวใจต่อความเครียดทางร่างกาย ซึ่งการทดสอบสามารถทำได้โดยการเดินบนสายพาน หรือการปั่นจักรยานอยู่กับที่
EKG or ECG : การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
Electrocardiogram คือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ด้วยการวางแผ่นนำไฟฟ้าบนหน้าอกเพื่อจับสัญญาณกระแสไฟฟ้า เพื่อให้ทราบผลการทำงานของหัวใจว่าทำงานปกติหรือไม่อย่างไร ซึ่งเป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจเบื้องต้นที่สามารถตรวจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน
Echocardiogram : การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง
หรือที่เรียกว่า “เอคโค่หัวใจ” เป็นการตรวจคลื่นหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนที่มีความถี่สูง โดยใช้สะท้อนคลื่นเสียงเพื่อจับภาพความเคลื่อนไหวของหัวใจ ในการวัดและระบุการทำงานพร้อมกับโครงสร้างของหัวใจ
Radionuclide Scan : การตรวจโดยใช้รังสีฉีดเข้ากระแสเลือด
การตรวจโดยการใช้รังสีฉีดเข้ากระแสเลือดและไหลเข้าสู่หัวใจ โดยแพทย์จะกล้องชนิดพิเศษสำหรับถ่ายภาพหัวใจให้แสดงผลการทำงานของหัวใจผ่านจอภาพ จากนั้นแพทย์จะทำการสังเกตอย่างละเอียดเพื่อให้ทราบว่าการทำงานของหัวใจมีความผิดปกติหรือไม่
Blood enzyme tests : การตรวจหาระดับเอนไซม์ในเลือด
Cardiac enzymes คือ สารที่อยู่ในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเมื่อหัวใจมีการถูกทำลาย การตรวจหาโรคหัวใจจะทำโดยการปล่อยเอนไซม์เข้าสู่กระแสเลือด ให้แสดงถึงระดับเอนไซม์ที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ หากพบว่ามีระดับเพิ่มขึ้นนั่นหมายถึงผู้ตรวจมีภาวะหัวใจวายได้
การสวนหัวใจ
การวินิจฉัยโรคหัวใจด้วยการสวนหัวใจ เป็นการตรวจเอกซเรย์โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ ด้วยการสอดสายยางขนาดเล็กเข้าทางหลอดเลือดบริเวณขาหนีบเข้าสู่หัวใจ ซึ่งสารที่ฉีดผ่านสายยางจะมีลักษณะเฉพาะ ทำให้แพทย์สามารถดูจากจอภาพได้ว่าบริเวณไหนของเส้นเลือดที่มีภาวะตีบหรืออุดตัน
แนวทางการรักษาโรคหัวใจ
แนวทางการรักษาโรคหัวใจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจที่เป็น และระดับความรุนแรงของโรค ยกตัวอย่างเช่น
- ลดปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้อาการโรคหัวใจกำเริบ : เป็นหนึ่งวิธีรักษาโรคหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด เช่น เลิกสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นบริหารความเครียดให้ดี และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รักษาโรคหัวใจด้วยยา : เช่น การรับประทานยาต้านเกล็ดเลือด ยาลดไขมัน ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ หรือยาควบคุมความดันโลหิต เป็นต้น
- ทำบอลลูนหัวใจ : เป็นวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน แล้วใส่ขดลวดถ่างขยาย เพื่อช่วยให้เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีขึ้น
- การจี้ไฟฟ้าด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง : เป็นวิธีรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยจะปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อหัวใจที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ร่วมกับการกระตุ้นหัวใจสั้น ๆ
- การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ : เป็นการฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าไปที่ผนังหน้าอก ใต้ผิวหนังของผู้เข้ารับการรักษา โดยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจจะทำหน้าที่แก้ไขจังหวะการเต้นของหัวใจที่เต้นช้ากว่าที่ควร ทำให้หัวใจเต้นเร็วพอที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายและอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้อย่างเพียงพอ
วิธีป้องกันโรคหัวใจง่าย ๆ ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้
แม้ว่าโรคหัวใจจะไม่มีสาเหตุเฉพาะเจาะจงที่ชัดเจน แต่เราก็สามารถป้องกันโรคหัวใจได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ ได้แก่
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการรับประทานของทอด ของหวาน ของมัน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หมั่นบริหารความเครียดให้ดี ไม่ปล่อยให้ตัวเองเครียดจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
สรุปเรื่องโรคหัวใจ
จะเห็นได้ว่าโรคหัวใจมักเกิดขึ้นโดยที่ผู้ป่วยไม่ทราบอาการได้อย่างชัดเจน การทราบถึงภาวะความเสี่ยงได้ก่อนจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการหยุดการลุกลามสู่อาการของโรคหัวใจ ดังนั้นการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หมั่นสังเกตสุขภาพของตัวเองและคนใกล้ชิดเป็นประจำ จะช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้มากกว่านั่นเอง
สำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาเกี่ยวกับโรคหัวใจ หรือต้องการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ฮักษาคลินิก
- เบอร์โทร : 096-696-1999, 091-068-6880
- LINE: @hugsa
- Facebook : HUGSAMedical
HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ