โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ภัยร้ายเฉียบพลันที่ป้องกันได้

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ภัยร้ายเฉียบพลันที่ป้องกันได้

โรคหลอดเลือดสมอง เป็นหนึ่งในมัจจุราชตัวฉกาจที่ใครต่อใครอาจจะต้องเคยได้ยินกันสักครั้งในชีวิต ไม่ว่าจะในละคร ในข่าว หรือบทความต่าง ๆ เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองนั้นเป็นโรคที่เฉียบพลันและน่ากลัวมาก เพียงเผลอแค่พริบตาเดียวผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองก็อาจจะเสียชีวิตหรือพิการได้เลยทันที จึงถือว่าเป็นโรคที่ควรระมัดระวังไม่แพ้โรคมะเร็ง และโรคร้ายอื่น ๆ กันเลยทีเดียว แต่ถึงอย่างนั้นโรคหลอดเลือดสมองที่ดูเหมือนอันตรายนี้ก็สามารถป้องกันล่วงหน้าได้ ซึ่งจะสามารถป้องกันอย่างไรได้บ้างนั้น ทางเราก็อยากจะขอกล่าวถึงโรคหลอดเลือดสมองให้ทุกคนได้รู้จักกันเสียก่อน 

โรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร อันตรายอย่างไร 

หากนับจากสถิติของทั้งโลกแล้ว จะพบว่า 1 ส่วน 4 จากบรรดาประชากรที่มีอายุมากกว่า 25 ขึ้นไป ได้เป็นโรคหลอดเลือดสมองกันทั้งสิ้น อีกทั้งหากนับจากในบรรดาโรคทั้งหมดแล้ว โรคหลอดเลือดสมองก็เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและความพิการที่เกิดขึ้นอีกด้วย โดยในเพศชายถือว่าเป็นอันดับ 3 รองลงมาจากโรคเอดส์และอุบัติเหตุ สำหรับเพศหญิงการเสียชีวิตและความพิการจากโรคหลอดเลือดในสมอง ก็สูงเป็นอันดับ 2 รองจากโรคเอดส์ด้วยเช่นกัน 

ในปี พ.ศ. 2566 กระทรวงสาธารณสุขเองก็ได้ออกมารายงานสถิติว่า ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากถึง 349,122 รายจากประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งก็มีอัตราผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองไปกว่า 36,214 รายอีกด้วย ดังนั้นในวันโรคหลอดเลือดสมองประจำปี 2566 ทางกรมควบคุมโรคก็ได้ออกมาบอกว่าการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับโรคหลอดเลือดสมอง ก็คือการป้องกันก่อนจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองนั่นเอง 

ซึ่งโรคหลอดเลือดสมองนี้ มีชื่อเรียกในทางสากลว่า Stroke เกิดจากภาวะที่สมองขาดเลือด เนื่องจากหลอดเลือดอาจตีบ มีการอุดตัน หรือว่าหลอดเลือดแตก ทำให้การไหลเวียนของเลือดที่ส่งไปเลี้ยงสมองนั้นหยุดชะงักลง สมองที่ไม่ได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยง และเซลล์สมองไม่ได้รับออกซิเจนตามปกติก็จะหยุดการทำงานตามไป ส่งผลให้เนื้อเยื่อภายในสมองก็จะค่อย ๆ ตายลง หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด ก็จะทำให้ร่างกายเป็นอัมพาต ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต 

โดยโรคหลอดเลือดสมองนี้ สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหลอดเลือด ดังต่อไปนี้ 

  • โรคหลอดเลือดสมองที่ตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke)

โรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากการตีบหรืออุดตัน มักพบได้ถึงร้อยละ 80 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการความผิดปกติกับหลอดเลือดแดงที่จะส่งออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง โดยในกรณีที่หลอดเลือดแดงตีบมักจะเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดมีความหนาขึ้นและช่องทางการลำเลียงเลือดตีบแคบลง ส่วนกรณีที่หลอดเลือดแดงอุดตัน มักเกิดขึ้นจากการที่มีลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่นไหลมาตามกระแสเลือดจนมาอุดตันที่หลอดเลือดสมอง แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้จากการที่มีลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นในหลอดเลือดสมองโดยตรงและลิ่มเลือดนั้นก่อตัวใหญ่ขึ้นจนทำให้หลอดเลือดอุดตัน

  • โรคหลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke)

โรคหลอดเลือดสมองแตกนี้ มีโอกาสพบได้เพียงแค่ร้อยละ 20 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด โดยจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อหลอดเลือดมีความเปราะบางและประจวบเหมาะกับภาวะความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตจะส่งผลให้บริเวณที่เปราะบางนั้นพองและแตกออก ทำให้เลือดและออกซิเจนในหลอดเลือดที่ควรส่งไปเลี้ยงสมองส่งไปไม่ถึง เรียกว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วเลยทีเดียว นอกจากนี้ต่อให้ไม่มีภาวะความดันโลหิตสูง ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงผู้ที่ทานยาบางชนิดด้วยเช่นกัน  

ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้ไม่ยาก ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้  

โรคหลอดเลือดสมองนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และยิ่งอายุมากขึ้นความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองก็ยิ่งมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นโรคหลอดเลือดสมองก็สามารถที่จะป้องกันล่วงหน้า หากหลีกเลี่ยงและป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เอาไว้ตั้งแต่ยังอายุน้อยก็จะไม่มีคำว่าสายเกินแก้อย่างแน่นอน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองนั้น มีดังต่อไปนี้ 

  • การสูบบุหรี่

เนื่องจากสารนิโคตินนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำลายผนังหลอดเลือด และผู้ที่สูบบุหรี่ยังมีอัตราความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองถึง 3.5%

  • การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก

เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์มในปริมาณมาก ๆ จะส่งผลให้เลือดออกง่าย หยุดการแข็งตัวของเลือดยาก และทำให้เกิดการปริแตกของหลอดเลือดในสมองได้ง่ายยิ่งขึ้น จึงควรจำกัดการดื่มแต่น้อย ดื่มแต่พอดี 

  • การทานยาคุมกำเนิดต่อเนื่อง

สำหรับสตรีที่ทานยาคุมกำเนิดประเภทที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างต่อเนื่อง ในทางสถิติแล้วมีอัตราความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองถึง 2.75% จึงควรหลีกเลี่ยงแล้วเลือกทานยาคุมกำเนิดแบบที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินจะลดปัจจัยเสี่ยงได้ดีกว่า 

  • การทานอาหารที่มีไขมันคอลเลสเตอรอลสูง

การทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว อาหารเค็มต่าง ๆ อย่างไม่สมดุลกับผักผลไม้และอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ จะทำให้เกิดไขมันในเลือด และไขมันเหล่านั้นจะไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดอย่างที่เรียกกันว่าไขมันอุดตันในเส้นเลือด ซึ่งก็จะส่งผลให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบและอุดตันเช่นกัน 

สัญญาณเตือนถึงโรคหลอดเลือดสมองที่ห้ามมองข้าม 

เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าแบบทันทีเหมือนการเจ็บป่วยภายนอก แต่ก็เป็นโรคอันตรายที่ไม่สามารถรอช้าได้แม้แต่เพียงวินาทีเดียว คุณจึงควรสังเกตอาการของตัวเองและคนรอบข้างให้ดี ว่าร่างกายนั้นกำลังส่งสัญญาณบอกอะไรบางอย่างก่อนจะเป็นวินาทีฉุกเฉินหรือไม่ ถึงแม้ว่าอาการเหล่านั้นจะเกิดขึ้นและหายไปในระยะเวลาสั้น ๆ ก็ควรที่จะเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัด เพราะอาจเป็นอาการของสมองขาดเลือดชั่วคราว ก่อนที่จะกลายเป็นอาการสมองขาดเลือดถาวรก็เป็นได้ 

โดยทางการแพทย์ก็ได้มีวิธีตรวจสอบอาการง่าย ๆ และรวดเร็วด้วยหลักการ F.A.S.T 

  • F(ace) 

อาการแรก ๆ ของโรคหลอดเลือดสมองจะเป็นอาการปากเบี้ยว หรือมุมปากตก หากไม่แน่ใจให้ลองยิ้มแบบยกมุมปากขึ้นแล้วสังเกตอาการ

  • A(rm)

ให้ลองยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ หากมีอาการแขนอ่อนแรง แขนตกข้างใดข้างหนึ่ง ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้บางรายอาจมีอาการขาอ่อนแรง เดินเซ ร่วมด้วย 

  • S(peech)

speech หรือการพูด ควรทดสอบด้วยการถามคำถามง่าย ๆ ที่มั่นใจว่าใครก็ตอบได้ ดูมีความเข้าใจหรือสื่อสารได้หรือไม่ ตอบเสียงดังฟังชัดหรือไม่ 

  • T(ime)

เมื่อทำการทดสอบต่าง ๆ แล้วมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งให้รีบเข้าไปพบแพทย์ทันที และถ้าหากมีอาการครบทั้งสามประการอาจจะต้องเรียกรถพยาบาล หรือเข้าไปส่งผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉินให้เร็วที่สุด เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมองนั้นเป็นโรคที่ต้องแข่งกับเวลา ยิ่งพาตัวไปโรงพยาบาลและได้รับการรักษาเร็วเท่าไรก็ยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น นอกจากจะลดความเสี่ยงถึงแก่ชีวิตแล้ว ยังสามารถลดอาการทุพพลภาพและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้อีกด้วย 

 

โดยในปัจจุบันนั้น ทางการแพทย์ก็ได้มีการวิจัยและพัฒนาอยู่ไม่น้อย เพื่อให้สามารถช่วยชีวิตและบรรเทาอาการทุพพลภาพของผู้ป่วยหลังจากเกิดโรคหลอดเลือดในสมองตีบ อุดตัน หรือเส้นเลือดสมองแตกเฉียบพลันได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ยา การใส่สายสวนเปิดหลอดเลือด หรือการผ่าตัดต่าง ๆ แต่ก็จะเป็นการดีที่สุดถ้าหากคุณหรือคนรอบข้าง ไม่มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย 

 

นอกเหนือจากการลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ แล้ว โรคหลอดเลือดสมองเองก็ยังสามารถป้องกันได้ง่าย ๆ เพียงแค่คุณเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างต่อเนื่อง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้โรคร้ายที่คร่าชีวิตใครต่อใครก็จะเข้ามากล้ำกรายคุณได้ยากแล้ว ถ้าหากคุณไม่รู้ว่าควรจะเข้าตรวจสุขภาพประจำปีอย่างไร ทางเราก็ขอแนะนำให้คุณฝากสุขภาพเอาไว้กับ ฮักษาคลินิก  ให้คุณสามารถเข้าพบทีมแพทย์ผู้ชำนาญการได้ทันที สามารถใช้บริการและขอคำปรึกษาด้านต่าง ๆ ของสุขภาพคุณได้อย่างรอบด้าน

เบอร์โทร : 096-696-1999

LINE: @hugsa

Facebook : HUGSAMedical

 

HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ