โรคไมเกรน หรือ ปวดหัวไมเกรน เป็นโรคเรื้อรังที่สร้างปัญหาให้กับใครหลายๆ จนรบกวนการดำรงชีวิตประจำวัน และทำให้ต้องหาทางรักษาไมเกรนด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้หายขาดจากอาการปวดหัวเรื้อรัง ในบทความนี้ Hugsa เราได้รวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับการรักษาไมเกรนมาให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาทำความเข้าใจ สามารถนำไปประกอบการพิจารณาเข้ารับการรักษาไมเกรนด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไมเกรนคืออะไร?
ไมเกรน หรือ ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine headache) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทซึ่งมีความซับซ้อนเกี่ยวข้องกับหลากหลายปัจจัย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะข้างเดียวเป็นส่วนใหญ่ โดยลักษณะอาการที่เด่นชัดคือการปวดแบบตุบๆ ตั้งแต่ระดับปานกลางไปจนถึงอาการปวดหัวรุนแรง อย่างไรก็ตามในทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคไมเกรนได้แน่ชัด แต่จากข้อมูลการรักษาพบว่าโรคไมเกรนมีสาเหตุที่เกิดขึ้นได้จากทั้งปัจจัยภายในร่างกายของผู้ป่วยเอง รวมไปถึงปัจจัยภายนอกเกี่ยวกับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม จึงส่งผลต่อการรักษาไมเกรนที่มีหลากหลายแนวทาง ทั้งการประทานยา การปรับพฤติกรรม การกายภาพบำบัด หรือ การรับประทานอาหาร เป็นต้น
อาการของโรคไมเกรนเป็นอย่างไร?
อาการปวดไมเกรนสามารถแบ่งออกได้ทั้งหมด 4 ระยะดังนี้
ไมเกรนระยะก่อนมีอาการ (Prodrome)
อาการที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนปวดศีรษะ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการอยากอาหาร
อารมณ์เปลี่ยนแปลง ไม่สามารถควบคุมการหาวได้ ปัสสาวะบ่อย หรือ มีอาการบวมน้ำ
ไมเกรนระยะอาการนำ (Aura)
อาการที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 20-40 นาที ก่อน หรือ ระหว่างปวดศีรษะ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรง เห็นแสงแฟลช แสงสว่างจ้า เป็นเส้นชิกแซก
ไมเกรนระยะปวดศีรษะ (Headache)
อาการที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานตั้งแต่ 4-24 ชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะ และความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ไมเกรนระยะหลังมีอาการ (Postdrome)
อาการที่เกิดขึ้นและสามารถอยู่ได้เป็นวันหลังจากมีอาการปวดไมเกรน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรง อ่อนเพลีย สับสน
สาเหตุของการเกิดไมเกรนคืออะไร?
ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่าอาการไมเกรนเกิดจากอะไร แต่จากการรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาไมเกรนส่วนใหญ่ มีปัจจัยหลักดังนี้
- ความเครียด
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน (เพศหญิง)
- การใช้ยาบางชนิด
- การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือ นอนหลับมากเกินไป
- การกระตุ้นจากสภาพแวดล้อม เช่น แสงจ้า กลิ่นที่รุนแรง เสียงดัง หรือ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบฉับพลัน
- การสูบบุหรี่
- การรับประทานอาหารไม่เพียงพอ หรือ การอดอาหาร
- การออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือ การทำกิจกรรมโดยการเคลื่อนไหวร่างกายมากเกินควร
- อาการถอนคาเฟอีน
ยารักษาไมเกรนในปัจจุบัน
การใช้ยาในการรักษาไมเกรนเป็นการบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยไม่เกิดอาการข้างเคียงต่างๆ มีทั้งยาบรรเทาอาการปวดทั่วไปและยารักษาไมเกรนที่เกิดเฉียบพลัน รวมไปถึงยาที่ใช้ป้องกันการเกิดอาการไมเกรน ซึ่งมียากลุ่มต่างๆ ดังนี้
1. ยารักษาไมเกรนเพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะ
ยาบรรเทาอาการปวดทั่วไป เช่น พาราเซตามอล หรือ ยาในกลุ่ม NSAIDs (non-steroidal antiinflammatory drugs) เช่น Ibuprofen, Aspirin, Diclofenac ,Naproxen โดยการใช้ยาพาราเซตามอลในระยะสั้นค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่ในส่วนของยา NSAIDs มักส่งผลข้างเคียงทำให้ระคายเคือระบบทางเดินอาหารได้ คำแนะนำคือการใช้ยาบรรเทาปวดรักษาไมเกรนมากเกินไป อาจทำให้อาการปวดศีรษะมีความรุนแรงและปวดบ่อยมากขึ้น ควรใช้ยาในกลุ่มนี้ไม่เกิน 3 วันต่อสัปดาห์
2. ยารักษาไมเกรนที่มีความจำเพาะต่อโรคไมเกรน
เป็นการใช้ยาที่ส่งผลจำเพาะต่อไมเกรนโดยตรง เช่น ยากลุ่มทริปแทน Triptans ที่มีคุณสมบัติในการรักษาไมเกรนที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ด้วยฤทธิ์ของยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะและลดอาการคลื่นไส้ได้ดี ซึ่งมีทั้งยารับประทาน ยาละลายในปาก ยาสเปรย์ ยาพ่นจมูก ยาฉีดใต้ผิวหนัง ยาเหน็บทวารหนัก โดยประสิทธิภาพของยากลุ่มนี้จะลดการกระตุ้นของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ทำให้หลอดเลือดเกิดการหดตัว จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคความดันโลหิตสูง
ยากลุ่ม Ergotamines เป็นยารักษาไมเกรนแพทย์ใช้มาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน
มีทั้งยารับประทาน ยาอมใต้ลิ้น ยาสเปรย์พ่นจมูก ยาฉีด ซึ่งยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ในการทำให้หลอดเลือดเกิดการหดตัว มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับยาในกลุ่ม Triptans ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น โดยหากใช้ในปริมาณที่มากอาจส่งผลให้ผู้ป่วยปวดศีรษะรุนแรงและปวดบ่อยขึ้นได้
ยากลุ่ม Opioids ที่ใช้รักษาไมเกรนได้ทั้งแบบเดี่ยวหรือสูตรผสมร่วมกับยาพาราเซตามอล แต่มีข้อควรระวังคืออาจทำให้เกิดการเสพติด หรือ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน รุนแรงมากยิ่งขึ้น แพทย์มักเลือกใช้ยาชนิดนี้ในกรณีที่ยาบรรเทาปวดชนิดอื่นไม่ได้ผล
3. ยารักษาไมเกรนที่ใช้เพื่อป้องกันการเกิดโรค
ยากลุ่มนี้ในรักษาไมเกรนด้วยการป้องกันการกระตุ้นภายในระบบประสาทและอื่นๆ ภายในร่างกาย เพื่อไม่ให้เกิดอาการปวดรุนแรง เช่น กลุ่มยาต้านชัก, กลุ่มยาต้านซึมเศร้า, ลุ่มยาปิดกั้นตัวรับเบตา (Beta-blockers), กลุ่มสารพิษต่อประสาท (Neurotoxins) เป็นต้น โดยที่แพทย์จะต้องตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อให้ทราบสาเหตุของไมเกรนอย่างชัดเจน และเลือกใช้ยาป้องกันได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล
4. ยารักษาไมเกรนอื่นๆ
นอกเหนือจากยารักษาไมเกรนที่ได้รับความนิยมแล้ว ยังมียารักษาอื่นๆ ที่มีผลดีต่ออาการไมเกรนในผู้ป่วยบางราย ตัวอย่างเช่น แมกนีเซียม ที่มีทั้งรูปแบบการรับประทานเสริมเพื่อการป้องกัน และรูปแบบให้แมกนีเซียมเข้าหลอดเลือดดำเพื่อรักษาไมเกรนแบบเฉียบพลัน รวมไปถึงยารักษาไมเกรนประเภทกระตุ้นตัวรับซีโรโทนินชนิด 5-HT1F นอกจากนี้ยังมียาต้าน CGRP ที่นำมาใช้ในการรักษาไมเกรนเฉียบพลัน และ/หรือ ป้องกันไมเกรนได้ ซึ่งยาต้านไมเกรนนี้มีทั้งยาเคมีสังเคราะห์ ยาชีววัตถุ เช่น ยากลุ่ม Gepants ยากลุ่ม Monoclonal antibodies และยาอื่นๆ ที่ใช้ในการรักษาไมเกรน เช่น กลุ่มยาลดความดัน, กลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้า, กลุ่มยากันชัก เป็นต้น
วิธีที่รักษาไมเกรนโดยไม่ใช้ยา
การรักษาไมเกรนโดยไม่ใช้ยาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ป่วยที่ปวดไมเกรนเรื้อรัง และไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของปัจจัยที่กระตุ้นร่างกาย แม้การรักษาไมเกรนด้วยวิธีนี้จะไม่ใช่การรักษาที่เป็นมาตรฐานสากล แต่ในผู้ป่วยบางรายมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่น
การบีบนวด การประคบเย็น หรือการฝังเข็ม การออกกำลังกาย เป็นต้น
ข้อแนะนำเมื่อใช้ยารักษาไมเกรน
เมื่อเข้ารับการรักษาไมเกรนโดยการใช้ยาไม่ว่าจะเป็นยากลุ่มใด ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- ไม่ควรใช้ยาบรรเทาอาการปวดศีรษะทุกชนิดบ่อยเกินไป เนื่องจากอาจทำให้ปวดศีรษะรุนแรงและปวดถี่ขึ้น ควรใช้ยาไม่เกิน 3 วันต่อสัปดาห์ หรือ ไม่เกิน 10 วันต่อ 1 เดือน
- หากผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้และอาเจียน ควรปรับยาจากชนิดรับประทานเป็นยารูปแบบอื่น เนื่องจากการอาเจียนจะขับยาที่รับประทานออกมา ทำให้การรักษาไมเกรนไม่มีประสิทธิภาพ
- หากรักษาไมเกรนด้วยยาฉีดใต้ผิวหนังชนิดฉีดเองได้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ไมเกรน สามารถบรรเทาอาการปวดและป้องกันการเกิดได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา แต่ยาที่ใช้ในการรักษาไมเกรนจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้อาการปวดลดลงได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามการใช้ยาควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะผู้ป่วยแต่ละรายมีปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรนแตกต่างกัน รวมไปถึงปัจจัยด้าน อายุ โรคประจำตัว และระดับความรุนแรงของโรค จึงเกี่ยวข้องกับการใช้ยาให้เหมาะสมมากที่สุด
สำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาเกี่ยวกับอาการปวดหัวเรื้อรัง หรือ ต้องการรักษาไมเกรน สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ ฮักษาคลินิก
เบอร์โทร : 096-696-1999
LINE: @hugsa
Facebook : HUGSAMedical
HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ