โควิดสายพันธุ์ใหม่

โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 น่ากลัวแค่ไหน เลี่ยงเสี่ยงติดเชื้ออย่างไร?

ไวรัสโควิด-19 นับว่าเป็นวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของมนุษยชาติครั้งล่าสุด ที่กระทบ ต่อหลายภาคส่วนทั่วโลกมากมายนับตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะมีการคิดค้นวัคซีนต้านเชื้อไวรัสนี้ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม แต่กระนั้นเองก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างถาวร โดยล่าสุดในเดือนเมษายน ปี 2566 ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยแห่งโตเกียวได้ออกมาเตือนประชากรทั่วโลกเกี่ยวกับ โควิดสายพันธุ์ใหม่ ที่มีชื่อว่า XBB.1.16 หรือ “อาร์คตูรุส” ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดทั่วโลกในอีกไม่ช้านี้ 

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งโตเกียวพบว่า โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 มีศักยภาพในการแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์ก่อน คือ XBB.1 และ XBB.1.5 มากถึง 1.27 เท่า ซึ่งคาดการณ์ว่าจะอาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ลุกลามไปทั่วโลกได้ ทั้งนี้ยังเป็นโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่แอนติบอดีโควิด-19 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถต้านทานได้อีกด้วย

จากการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 พบการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นใน 22 ประเทศทั่วโลก โดยพบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศอินเดีย จนทำให้องค์กรอนามัยโลกจับตามองเพื่อเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จากฐานข้อมูล GISAID เผยว่าพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ราวๆ 3,000 ราย จากทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 13 เม.ย.) อย่างไรก็ตามจากรายงานพบว่าผู้ติดเชื้อไม่มีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะเป็นสายพันธุ์ที่มีการติดต่อที่สูงกว่าสายพันธุ์ในอดีตก็ตาม

ด้านประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา มีรายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ พบอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 จากเดือนกุมภาพันธ์ ที่มีอยู่เพียง 0.21% ของผู้ป่วยโควิดในประเทศ ล่าสุดในเดือนเมษายนมีสัดส่วนสูงขึ้นถึง 7.2% (ข้อมูล ณ วันที่ 15 เม.ย.) ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่ย้ำได้ชัดว่าการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามโควิดสายพันธุ์ XBB.1.5 ยังคงเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐอเมริกา โดยมีสัดส่วน 78% ของผู้ป่วยโควิดทั้งหมด แต่ยังคงเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด เพื่อรับมือการแพร่ระบาดที่อาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศได้

โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 เป็นอย่างไร แตกต่างจากสายพันธุ์เดิมหรือไม่?

Arcturus หรือ อาร์คตูรุส คือ โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ลูกผสม ระหว่างสายพันธุ์ BA.2.10.1 และ BA.2.75 ที่เป็นสายพันธุ์ย่อยของโควิดสายพันธุ์เดิมอย่าง “โอมิครอน BA.2” ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่ติดเชื้อโควิด XBB.1.16 มีอาการแตกต่างจากเดิมเล็กน้อย โดยพบรายงานว่ามีอาการเยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง เคืองตา และมีขี้ตามากกว่าปกติ ทั้งนี้โดยรวมยังคงมีอาการเดิมของสายพันธุ์ก่อนหน้าอยู่ เช่น ไข้สูง จมูกไม่ได้กลิ่น เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก เป็นต้น

ล่าสุดองค์กรอนามัยโลกได้ขึ้นบัญชีให้โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 อยู่ภายใต้การเฝ้าระวัง เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยระบุว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีศักยภาพสูง สามารถติดเชื้อได้ง่ายขึ้น รวมถึงผู้ติดเชื้อมีโอกาสแสดงอาการของโรคได้ง่ายมากขึ้นด้วยเช่นกัน 

สถานการณ์ โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ในประเทศไทย

จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 16 เมษายน 2566 ได้เผยตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา (9-15 เม.ย.) พบว่ามีอัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่าจากสัปดาห์ก่อนหน้า เฉลี่ยแล้วมีผู้ติดเชื้อเข้ารักษาตัววันละ 62 ราย โดยตลอด 7 วันมีผู้ป่วยรวมทั้งหมด 435 ราย โดยมีรายงานว่าผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบ 30 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 58% และมีผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 36%

สถานการณ์ของโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 พบว่ามีผู้ป่วยในไทยแล้ว 6 ราย จากรายงานผู้ติดเชื้อทั่วโลกทั้งหมด 3 พันราย (ข้อมูล ณ วันที่ 13 เม.ย. 2566) ซึ่งเบื้องต้นเป็นวัยทำงานที่เดินทางมาจากต่างประเทศและมีอาการที่ไม่รุนแรง

โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 มีอาการอย่างไร?

  • มีไข้สูง
  • ระคายเคืองคอ
  • ไอ
  • มีน้ำมูก
  • จมูกรับกลิ่นได้ลดลง
  • ระคายเคืองดวงหาและใบหน้า
  • บางรายอาจพบอาการเยื่อบุตาอักเสบ

กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่?

  • ผู้ป่วยกลุ่ม 608 คือ กลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่มีโรคประจำตัวอยู่ในกลุ่ม 7 โรค
    • โรคเบาหวาน
    • โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
    • โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • โรคมะเร็ง 
    • โรคอ้วน
    • โรคไตวายเรื้อรัง
    •  โรคหลอดเลือดสมอง
  • หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป 
  • ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนและไม่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน

 

ผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่มหลักข้างต้นนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 และเกิดอาการรุนแรงได้ ดังนั้นหากทราบว่าตนมีความเสี่ยงที่กล่าวมานี้ เมื่อตรวจพบเชื้อโควิด-19 ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรับการรักษาโดยทันที เพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการรุนแรงได้อย่างทันท่วงที

โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 สามารถตรวจด้วย ATK และ RT-PCR ได้หรือไม่?

สำหรับข้อสงสัยที่หลายคนเป็นกังวลในเรื่องของการแพร่ระบาดครั้งใหม่ ทำให้ตั้งคำถามว่าการตรวจด้วย ATK และ การตรวจแบบ RT-PCR สามารถตรวจพบเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่นั้น ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการทดลองแล้วว่าชุดตรวจทั้ง 2 ชนิด ยังคงสามารถใช้ในการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสที่ก่อโควิด-19 และแยกผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน หรือ สายพันธุ์ผสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16

ทางด้านผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ หมอยง ได้มีการโพสต์เฟซบุ๊คเกี่ยวกับข้อควรรู้ในการระบาดระลอกใหม่ โดยกล่าวว่า โควิดสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้นและจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงกลางเดือน พฤษภาคม ไปถึงจุดสูงสุดที่เดือน มิถุนายน จากนั้นจะเริ่มลดลงเป็นระยะในเดือน กันยายน เนื่องจากเป็นฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ ประกอบกับเป็นช่วงของการเปิดทำการเรียนของโรงเรียนต่างๆ ในไทยด้วย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการระบาดในไทยได้อีกระลอกหนึ่ง

โดยการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วมากกว่า 20 ประเทศแล้ว ประเทศไทยเองก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจากความรุนแรงของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ในประเทศอินเดียมีมากไปกว่าสายพันธุ์เดิม และพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยอาการแตกต่างจากสายพันธุ์เดิมในอัตราส่วนปกติ ซึ่งอาจมีอาการบางอย่างที่แตกต่างไปบ้าง เช่น ตาแดงในเด็ก ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังยังคงเดิมคือ กลุ่มเสี่ยง 608 และ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ในส่วนของมาตรการการป้องกันยังคงเป็นการรับวัคซีนอย่างเหมาะสม เน้นย้ำในเรื่องของการป้องกันการแพร่ระบาด โดยงดการรวมตัวเป็นจำนวนมาก รักษาความสะอาด สุขอนามัย สวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด

แนวทางการป้องกันการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16

  • สวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ หรือ สถานที่ที่มีการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก
  • เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปี และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต โดยในผู้ที่รับวัคซีนแล้วไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ สามารถรับ LAAB หรือ Long Acting Antibody (ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป) ได้ซึ่งกรมควบคุมโรคได้จัดเตรียมไว้ให้บริการผ่านสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอย่างทั่วถึง
  • ตรวจ ATK ทันทีเมื่อมีอาการป่วยทางเดินหายใจ มีไข้สูง เจ็บคอ ไอ หากตรวจพบผลเป็นบวกควรสวมหน้ากากอนามัยจนกว่าจะหายดี พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หากพบว่าตนมีอาการหนักขึ้น เช่น หายใจผิดปกติ เหนื่อยหอบ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงที ในส่วนของกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด ควรรีบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสและให้แพทย์ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด 

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นสรุปได้ว่าโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ยังไม่พบข้อมูลหรืองานวิจัยใดที่แสดงถึงความรุนแรงของโรคอย่างเป็นทางการ แต่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าพบความแตกต่างจากสายพันธุ์เดิมเล็กน้อย ในด้านการแพร่เชื้อที่เร็วกว่าและมีศักยภาพในการหลบภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าสายพันธุ์เดิม ซึ่งมีข้อสังเกตอาการที่เห็นได้ชัด คือ เยื่อบุตาอักเสบ มีอาการคันตา มีขี้ตาเหนียว ลืมเปลือกตาไม่ขึ้นร่วมด้วย อย่างไรก็ตามในผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 บางรายอาจมีอาการตาแดง ซึ่งเป็นอาการจำเพาะของเชื้อโควิดสายพันธุ์นี้ โดยผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการจำเพาะนี้ให้เห็นอย่างชัดเจน ทั้งนี้สามารถเลี่ยงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ได้ด้วยวิธีการเดิมที่ทุกคนทราบกันเป็นอย่างดี พร้อมทั้งแนะนำให้ป้องกันอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องต่อไป

สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 608 หรือ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง ที่ต้องการปรึกษาเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อโควิด-19, การรักษาโควิด-19, การฉีดวัคซีนป้องกัน หรือ การดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ ฮักษาคลินิก 

เบอร์โทร : 096-696-1999

LINE: @hugsa

Facebook : HUGSAMedical

HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.bbc.com/thai/articles/cje5e3z0xz7o

https://www.thairath.co.th/news/foreign/2689994

https://www.pptvhd36.com/health/news/3168