โรคซึมเศร้าอาการทางสุขภาพจิต

โรคซึมเศร้าอาการทางสุขภาพจิต ปัญหาใหม่ของคนรุ่นใหม่

โรคซึมเศร้า อาการทางสุขภาพจิตปัญหาใหม่ของคนรุ่นใหม่

โรคซึมเศร้า หนึ่งในโรคทางสุขภาพจิตที่ได้ยินมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งจากการนำเสนอข่าวด้านสุขภาพ การรณรงค์จากภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสื่อโซเชียลต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงผู้ป่วยที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงระดับโลกมากมาย ส่งผลให้เกิดความสนใจและกลายเป็นโรคที่พบได้มากขึ้นอันเนื่องมาจากภาวะที่ส่งผลให้เกิดความเครียด ความเศร้าหมอง และความผิดหวังต่างๆ ที่ผู้ป่วยต้องเผชิญในชีวิต โดยหลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงภาวะหนึ่งที่อาจหายไปเองเมื่อมีภาวะทางจิตใจดีขึ้น แต่ทราบหรือไม่ว่าหากเกิดภาวะเหล่านี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานและส่งผลต่อการดำเนินชีวิตต่างๆ ให้ไม่เป็นไปตามปกติ อาจบ่งบอกได้ว่ามีภาวะซึมเศร้าที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

โรคซึมเศร้าคืออะไร?

โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder) คือ โรคทางจิตเวชที่เกิดจากความผิดปกติ หรือ ความไม่สมดุลทางสารสื่อประสาทในสมองที่มีด้วยกันทั้งหมด  3 ชนิด ได้แก่ โดปามีน ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน โดยส่งผลให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรม อารมณ์ และความรู้สึก เปลี่ยนไปจากปกติ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์อย่างถูกวิธี

สถิติโรคซึมเศร้าในวัยรุ่นไทยปี 2565

โรคซึมเศร้าในวัยรุ่นกลายเป็นหนึ่งในปัญหาทางสุขภาพที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเปิดเผยตัวเลขผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น จากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา พบว่าประชากรของไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวน 1,235,335 คน จากทั้งหมด 50,521,654 คน โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยซึมเศร้ามากที่สุด 10 อันดับแรก คือ

  1. นครราชสีมา 64,928 คน 
  2. เชียงใหม่ 50,112 คน
  3. อุบลราชธานี 46,809 คน
  4. ขอนแก่น 38,878 คน
  5. นนทบุรี 36,694 คน
  6. บุรีรัมย์  34,994 คน
  7. สงขลา 30,827 คน 
  8. สุราษฎร์ธานี 27,848 คน
  9. ศรีสะเกษ 27,769 คน
  10. นครศรีธรรมราช  27,273 คน

อย่างไรก็ตามพบว่าโรคซึมเศร้าในวัยรุ่นส่งผลกระทบต่อประชากรส่วนใหญ่ของไทย โดยมีอัตราเกิดสูงสุดในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ถึง 25 ปี ซึ่งเป็นวัยที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศในระยะยาว ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นมักเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุ์กรรม ปัญหาทางครอบครัวตั้งแต่วัยเด็ก การป่วยเรื้อรัง หรือ ความผิดหวังในชีวิตจากเรื่องต่างๆ เป็นต้น (ขอบคุณข้อมูลจาก : ส่องสถิติ โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น ภัยร้ายทางอารมณ์ ที่สังคมไทยต้องรู้)

โรคซึมเศร้ามีทั้งหมดกี่ประเภท?

โรคซึมเศร้าสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้

  • โรคซึมเศร้าแบบขั้วเดียว : ผู้ป่วยประเภทนี้จะมีอาการซึมเศร้าเท่านั้น
  • โรคซึมเศร้าแบบสองขั้ว หรือ ไบโพลาร์ : ผู้ป่วยประเภทนี้จะมีอาการอารมณ์ขึ้น-ลงมากกว่าคนทั่วไป อาจทำให้เกิดผลเสียในการดำเนินชีวิตได้

สาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร?

โรคซึมเศร้าเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งปัจจัยหลักๆ ที่พบได้ คือ 

  • พันธุกรรม หรือ พื้นฐานเดิมของแต่ละบุคคล ที่มีประวัติของคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือ มีนิสัยคิดมาก มองโลกในแง่ลบ หรือ เป็นคนอ่อนไหวต่อเรื่องต่างๆ ได้ง่าย ตลอดจนการมีสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล
  • สภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูของคนในครอบครัว การได้รับอิทธิพลต่างๆ จากคนใกล้ชิด หรือ ภาวะความเครียดจากการทำงาน การดำเนินชีวิต ตลอดจนปัญหาต่างๆ 

สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้า

  • รู้สึกเศร้า เบื่อ หรือ โมโหง่าย

อาการรู้สึกไม่มีความสุข เกิดภาวะเศร้า เบื่อทุกอย่างในชีวิต หรือ มีอาการโมโหง่าย หงุดหงิดบ่อย โกรธ ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นทุกวันและวนเวียนกับตนเองเป็นประจำ

  • รู้สึกไม่อยากทำสิ่งต่างๆ ที่เคยทำเป็นประจำ

อาการไม่อยากทำสิ่งต่างๆ ทั้งที่เคยทำเป็นประจำ หรือ มีความชื่นชอบ รู้สึกว่าไม่มีความสนุกเหมือนเคย ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรก กิจวัตรประจำวัน เช่น ดูหนัง เล่นดนตรี อ่านหนังสือ เล่นกีฬา ทำอาหาร วาดภาพ เป็นต้น

  • รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า

ผู้ป่วยซึมเศร้ามักมีอาการรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไม่มีความหมายต่อผู้คน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่ดีอย่างหวัง มักโทษตัวเองว่าผิดในทุกเรื่อง รู้สึกแย่กับตัวเองบ่อยครั้ง

  • กระวนกระวาย ทำอะไรช้าลง

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางรายอาจอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวาย ทำอะไรเชื่องช้าลงกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแตกต่างจากแต่ก่อนและอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตได้

  • รับประทานอาหารมากเกินไป หรือ เบื่ออาหาร

ภาวะซึมเศร้าสำหรับบางคนอาจส่งผลต่อการรับประทานอาหารใน 2 แบบ คือ การทานมากเกินไป ทานได้เยอะขึ้นจากเดิม ไม่สามารถควบคุมการรับประทานอาหารของตนเองได้ และ การเบื่ออาหาร ที่ส่งผลทำให้มีน้ำหนักตัวที่ลดลงจากเดิม

  • อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง

อาการรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายกว่าเมื่อก่อน ไม่มีแรงในการทำงาน หรือ ทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน หรือ งานอดิเรกต่างๆ ทั้งที่แต่ก่อนชื่นชอบและทำได้อย่างดี

  • มีปัญหาเรื่องการนอน

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางรายมักมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน ทั้งอาการตอนไม่หลับ หลับไม่สนิท อาการหลับๆ ตื่นๆ หลับยาก หรือบางรายมีอาการในทางตรงกันข้ามคือ อาการง่วงเพลียตลอดเวลา

  • สมาธิสั้นและมีความจำแย่ลง

เมื่อมีภาวะซึมเศร้าผู้ป่วยจะมีอาการสมาธิสั้นลงและมีความจำแย่ลงตามไปด้วย ส่งผลให้มักมีพฤติกรรมใจลอย เหม่อลอย ผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเหมือนก่อน และส่งผลต่อการตัดสินใจในด้านแก้ปัญหาด้านต่างๆ อีกด้วย

  • เริ่มคิดเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเอง

พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอาการซึมเศร้าและมักได้ยินเป็นประจำ ซึ่งผู้ป่วยจะเริ่มบั่นทอนตนเองและคิดที่จะทำร้ายตัวเอง จากภาวะที่รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ชีวิตมืดมน ไม่อยากมีชีวิตอยู่ โดยท้ายที่สุดแล้วอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้

หากสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างได้ว่ามีพฤติกรรมที่เข้าข่ายที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเพียง 5 อาการ และวิเคราะห์แล้วว่าอาการเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยทันที เพื่อให้ประสิทธิภาพของการรักษาตอบสนองได้ทันท่วงที ทั้งนี้หากกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวในการเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้า อาจสอบถามแนวทางการรักษากับสถานพยาบาลต่างๆ ผ่านช่องทางการโทร หรือ ช่องทางออนไลน์ ก่อนได้ 

การวินิจฉัยและรักษาโรคซึมเศร้า

  • การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้านั้นนอกจากจะสังเกตอาการเบื้องต้นจากที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อก่อนหน้านี้แล้ว แพทย์จะต้องสอบถามข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียดทั้งอาการ ระยะเวลา พื้นฐานส่วนตัวของผู้ป่วย จากผู้ป่วยเองและจากญาติใกล้ชิดร่วมด้วย เพื่อให้จิตแพทย์เข้าใจสาเหตุและแน่ใจว่าผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าจริง ไม่ใช่โรคทางจิตเวชอื่นๆ ที่มีความคล้ายคลึงกัน

  • การรักษาโรคซึมเศร้า

ในทางปฏิบัติเพื่อการรักษาโรคซึมเศร้า จะใช้แนวทางการพูดคุย ให้คำปรึกษา และการทำจิตบำบัด รวมไปถึงหากมีความจำเป็นในผู้ป่วยบางกลุ่มจะมีการใช้ยารักษากลุ่มแก้ซึมเศร้าร่วมด้วย อย่างไรก็ตามโรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายขาดได้ เมื่อทำการรักษาเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้และเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การรักษาด้วยยามีความปลอดภัยผลข้างเคียงต่ำ ทำให้เกิดการติดยาหรืออาการอื่นๆ แต่อย่างใด

แนวทางการป้องกันโรคซึมเศร้า

  • การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เป็นพื้นฐานสำคัญต่อสุขภาพร่างกายที่ดีและส่งผลดีต่อการห่างไกลโรคซึมเศร้าเช่นกัน เนื่องจากหากร่างกายขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามิน E, C, D ทองแดง ธาตุเหล็ก โอเมก้า 3 อาจส่งผลต่อความเสี่ยงโรคซึมเศร้าได้

  • การพักผ่อนให้เพียงพอ

ควรนอนหลับและพักผ่อนให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ เพื่อให้ร่ายกายสามารถตื่นนอนขึ้นมาได้อย่างสดชื่น ไม่เพลีย หรือ ง่วงตลอดทั้งวัน

  • การออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 วัน เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันตั้งแต่ 30 นาที่ขึ้นไป จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง รู้สึกผ่อนคลาย สุภาพจิตดี รู้สึกปลอดโปร่ง ช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น 

  • การทำสมาธิ

การทำสมาธิเป็นการช่วยให้สมองเกิดความผ่อนคลาย จิตใจสงบนิ่ง ลดความเครียดได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยเวลาสั้นๆ 5-10 นาที โดยไม่จำเป็นต้องทำในท่านั่งเท่านั้น อาจนั่งเก้าอี้ นั่งเอนตัว หรือ การเดิน เและมีการกำหนดลมหายใจเข้าออก

  • การฝึกคิดบวก

การฝึกคิดบวกต่อทุกเรื่องที่เผชิญใจชีวิตประจำวัน โดยการคิดแง่บวกให้กับตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้จิตใจมีความสดชื่นแจ่มใส มีความเข้มแข็งทางด้านอารมณ์ ให้สามารถจัดการกับความเครียดต่างๆ ในชีวิตได้

สำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า หรือ ต้องการคำแนะนำด้านการดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ ฮักษาคลินิก 

เบอร์โทร : 096-696-1999

LINE: @hugsa

Facebook : HUGSAMedical

HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ