โรคลิ้นหัวใจรั่ว หนึ่งในภัยร้ายของหัวใจที่ต้องรู้

โรคลิ้นหัวใจรั่ว หนึ่งในภัยร้ายของหัวใจที่ต้องรู้

โรคลิ้นหัวใจรั่ว เป็นหนึ่งในภัยร้ายของหัวใจที่หลายคนคุ้นเคยชื่อกันเป็นอย่างดี ถือเป็นโรคที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนในครอบครัว เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ โดยลิ้นหัวใจมีความเกี่ยวข้องกับหัวใจโดยตรง การเกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่วจึงเป็นอาการผิดปกติที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้ในที่สุด ดังนั้นการป้องกันอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นเรื่องที่ควรต้องรู้ รวมไปถึงการทราบถึงปัจจัยเสี่ยงและการสังเกตอาการต่างๆ ร่วมด้วย

โรคลิ้นหัวใจรั่วคืออะไร?

Valve Heart Disease หรือ โรคลิ้นหัวใจรั่ว คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจไม่สามารถปิดได้สนิทตามปกติ ส่งผลให้การไหลของเลือดเกิดการไหลย้อนกลับ เป็นสาเหตุให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดให้เพียงพอ ผู้ป่วยจะไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่ โดยจะมีอาการเหนื่อยง่ายและอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ในที่สุด ทั้งนี้โรคลิ้นหัวใจรั่วมีสาเหตุมาจากความบกพร่องของหัวใจมาตั้งแต่กำเนิด และ ความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เกิดจากโรคเกี่ยวกับหัวใจได้เช่นเดียวกัน

การทำงานของลิ้นหัวใจปกติเป็นอย่างไร?

การทำงานของลิ้นหัวใจโดยปกติ จะเป็นเยื่อกั้นห้องของหัวใจทั้ง 4 ห้อง มีหน้าที่สำคัญในการกั้นให้เลือดไหลเวียนไปในทิศทางที่ถูกต้องและทำให้ระบบไหลเวียนเลือดเป็นปกติ ในกรณีที่ลิ้นหัวใจรั่วจะส่งผลต่อการไหลของเลือดในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง และอาจส่งผลให้เลือดหยุดไหล หรือ เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันจนเสียชีวิตได้

อาการลิ้นหัวใจรั่วเป็นอย่างไร?

อาการลิ้นหัวใจรั่ว มีสาเหตุสำคัญมาจาก หัวใจฝั่งซ้าย Mitral Valve และ Aortic Valve ที่โดยปกติแล้วทำหน้าที่ปั๊มเลือดไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกายทำงานผิดปกติ มีความดันสูงกว่า บีบตัวแรงกว่า ซึ่งมีสาเหตุมาจากลิ้นหัวใจรั่วที่ทำให้เลือดไหลไม่ถูกต้องตามทิศทางปกติ การพุ่งแรงของเลือดทำให้ลิ้นหัวใจเกิดความเสียหาย ส่วนใหญ่โรคลิ้นหัวใจรั่วมักเกิดในผู้สูงอายุ โดยอาการที่พบ คือ เหนื่อย หอบ อ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นลมบ่อย เนื่องมาจากความผิดปกติของหลอดเลือดและลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพ มีความยืดหยุ่นน้อย มีไขมันหรือหินปูนเกาะ ลิ้นหัวใจมีความกรอบแข็ง นำไปสู่ภาวะที่ทำให้ลิ้นหัวใจเปิด-ปิดไม่สนิท ทั้งนี้อาการของโรคลิ้นหัวใจรั่วโดยทั่วไปแล้ว จะมีอาการไม่รุนแรงและใช้ระยะเวลายาวนาน เมื่อผู้ป่วยมีอายุประมาณ 40 ปี จะเริ่มแสดงอาการรุนแรงให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น มีผลมาจากลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ นั่นเอง

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่ว

  • เกิดจากลิ้นหัวใจบกพร่องตั้งแต่กำเนิด

  • เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ

    • ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ : โรคที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตายและทำให้เกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่วขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันสูง อายุที่มากขึ้น ตลอดจนการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
    • ภาวะลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพ : ภาวะที่เกิดจากลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพตามอายุ ซึ่งพบได้มากในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยมีสาเหตุมาจากเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพ ไม่มีความยืดหยุ่นตามปกติที่ควรเป็น ส่งผลให้ลิ้นหัวใจผิดรูป เปิด-ปิดได้ไม่สนิท และนำไปสู่ภาวะโรคลิ้นหัวใจรั่วได้ในที่สุด
    • การติดเชื้อ : ภาวะลิ้นหัวใจรั่วอาจเกิดได้จากการติดเชื้อต่างๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียทางเดินหายใจ หรือ การติดเชื้อในลำคอ ที่ส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนคือลิ้นหัวใจรั่ว โดยมักจะเกิดในผู้ป่วยเด็ก ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

การตรวจวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจรั่ว

โรคลิ้นหัวใจรั่วสามารถตรวจหาได้โดยการใช้คลื่นเสียงสะท้อน หรือ อัลตราซาวด์ เป็นวิธีการตรวจที่ได้ประสิทธิภาพและมีความแม่นยำสูง ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30 นาที ก็สามารถทราบผลได้ว่ามีความผิดปกติของลิ้นหัวใจ หรือ มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วหรือไม่ รวมไปถึงสามารถทราบได้ว่าการทำงานของระบบหัวใจเป็นอย่างไร ช่วยให้การวิเคราะห์ภาวะต่างๆ เกี่ยวกับหัวใจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น จังหวะการสูบฉีดเลือด ทิศทางการไหลเวียนของเลือด การเปิด-ปิดของลิ้นหัวใจ มีหินปูนหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะพิจารณาการรักษาให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละบุคคลมากที่สุด

วิธีการรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่ว

ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้พัฒนาการรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่ว ได้โดยไม่จะเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งสามารถผ่าตัดแผลเล็กได้เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนและทำให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวได้ดียิ่งขึ้น โดยการรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่วมี 2 วิธี ดังต่อไปนี้

 

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Valve Replacement)

  • การรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่วโดยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจที่เป็นโลหะ 

เป็นแนวทางการรักษาโดยเน้นที่ความทนทานในการใช้งาน ข้อเสียคือผู้ป่วยต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือดเพื่อป้องกันเลือดแข็งตัวตลอดชีวิต

  • การรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่วโดยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจจากเยื่อหุ้มหัวใจหมู หรือ วัว 

เป็นแนวทางการรักษาที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดต่ำมากกว่าวิธีแรก ซึ่งไม่จำเป็นต้องกินยาป้องกันการแข็งตัวของลิ่มเลือดตลอดชีวิต แต่ผลเสียคือ ร่างกายจะมีการต่อต้านและทำลาย จนในที่สุดอาจทำให้เกิดภาวะพังผืด หรือ เกิดหินปูนเกาะ ส่งผลให้ลิ้นหัวใจไม่สามารถเปิด-ปิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเพื่อรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่วนั้น แพทย์จะพิจารณาแนวทางการผ่าตัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล ในกรณีที่เป็นการเปลี่ยนด้วยเนื้อเยื่อจะมีข้อจำกัดในการใช้งานเพียง 10-15 ปี หลังจากนั้นแพทย์จะต้องพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจอีกครั้ง แต่ในส่วนของการเปลี่ยนลิ้นหัวใจที่เป็นโลหะ ซึ่งจะต้องทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดไปตลอดชีวิต จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในสมองได้

การซ่อมลิ้นหัวใจ (Valve Repair) 

  • กรณีลิ้นหัวใจรูห์มาติก

การรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่วโดยการซ่อมลิ้นหัวใจ เป็นวิธีที่แพทย์เลือกใช้ในกรณีที่พบว่าผู้ป่วยมีสาเหตุของโรคมาจากลิ้นหัวใจรูห์มาติก ซึ่งเกิดจากหินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจจนกลายเป็นพังผืด วิธีนี้จะทำการลอกหินปูนออกและใช้เนื้อเยื่ออื่นๆ ที่มีความใกล้เคียงมาซ่อมแซมทดแทน เพื่อให้ลิ้นหัวใจทำงานได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

  • กรณีลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพตามวัย

การรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่วที่เกิดจากลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพตามวัย เช่น ลิ้นหัวใจย้วย ลิ้นหัวใจยืดหรือขาด แพทย์จะเลือกใช้วิธีการซ่อมลิ้นหัวใจให้มีความกระชับ กลับมาใกล้เคียงลิ้นหัวใจปกติมากที่สุด

อย่างไรก็ตามการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจเป็นวิธีที่มีผลดีระยะยาวต่อผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจรั่วมากกว่า หากเทียบกับวิธีการเปลี่ยนลิ้นหัวใจที่ได้กล่าวมาข้างต้น เนื่องจากไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการรับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาแนวทางการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคลมากที่สุด

แนวทางการป้องกันและการหลีกเลี่ยงภาวะรุนแรงจากโรคลิ้นหัวใจรั่ว

จากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า โรคลิ้นหัวใจรั่ว เป็นโรคที่มักไม่แสดงอาการเมื่อเริ่มแรก และจะมีอาการรุนแรงให้เห็นได้ชัดเมื่อมีอายุมากขึ้น ดังนั้นแนวทางการป้องกันที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงภาวะรุนแรงให้ได้มากที่สุดเพื่อให้รู้เท่าทันความเสี่ยง และเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ 

หากพบว่ามีอาการ ใจสั่น เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก หรือ มีโรคกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นสาเหตุของโรคลิ้นหัวใจรั่ว เช่น ความดันสูง เบาหวาน ควรหมั่นสังเกตตนเองและเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคโดยทันที พร้อมกับการดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ควบคู่ไปด้วย 

ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว

ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจรั่วที่เป็นระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการรุนแรง สามารถใช้ชีวิตได้ปกติและทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันทั่วไปได้เช่นเดิม แต่หากมีอาการลิ้นหัวใจรั่วมาก ไม่ว่าจะเป็นอาการหอบเหนื่อย ทั้งที่ทำกิจกรรมทั่วไปตามปกติ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้แรงมาก ลดการสูบบุหรี่ ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และลดการทานอาหารรสจัด รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด


สำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาเกี่ยวกับโรคลิ้นหัวใจรั่ว หรือ ต้องการตรวจหาโรคหัวใจ สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ ฮักษาคลินิก 

เบอร์โทร : 096-696-1999

LINE: @hugsa

Facebook : HUGSAMedical

HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ