ทราบหรือไม่ว่า? จากสถิติขององค์การอนามัยโลก พบข้อมูลอันน่าตกใจเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจสูงถึง 7.2 ล้านราย และในประเทศไทยพบว่าในทุกๆ 1 ชั่วโมง มีผู้เสียชีวิตจากภาวะหัวใจขาดเลือด 2 ราย หรือ ประมาณปีละ 37,000 ราย ซึ่งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีแนวโน้มการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตันเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นสาเหตุหนึ่งในการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของไทยที่ต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนทั่วไป ให้ทราบถึงสาเหตุและอันตรายที่ควรตระหนักถึงก่อนจะสายเกินแก้
สาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากไขมันและเนื้อเยื่อสะสม ที่เกิดขึ้นบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้เยื่อบุผนังหลอดเลือดชั้นในที่มีการสะสมหนาตัวขึ้นจากปกติ เป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบและตัน จากนั้นเลือดจะไหลผ่านได้น้อยลง ออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ จนนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยที่ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้เนื่องจากการอุดตันของหลอดเลือด อีกทั้งยังส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้อีกด้วย
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีปัจจัยเสี่ยงที่แบ่งออกได้ 2 ประเภท ดังต่อไปนี้
ปัจจัยเสี่ยงของหลอดเลือดหัวใจตีบที่ไม่สามารถแก้ไขได้
- เพศชายจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้มากกว่าเพศหญิง
- เพศหญิงช่วงวัยหมดประจำเดือนมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบใกล้เคียงกับผู้ชาย
- อายุที่มากขึ้นส่งผลให้การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวที่เคยป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย
ปัจจัยเสี่ยงของหลอดเลือดหัวใจตีบที่สามารถแก้ไขได้
จากการรวบรวมข้อมูลโดยการเฝ้าระวังสถานการณ์ตามปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย (ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ.2551-2552) พบว่าปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมเสี่ยง หรือ หลายปัจจัยรวมกัน เนื่องจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้องรวมถึงอาการแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคต่างๆ ร่วมด้วย
- ปัจจัยทางด้านความเครียด ส่งผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ เนื่องจากภาวะความเศร้า ความเครียดเรื้อรังเป็นเวลานานติดต่อกัน ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมหรือจัดการกับสาเหตุได้ ทำให้ร่างกายได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างปฏิเสธไม่ได้
- ปัจจัยด้านสุขภาพเกี่ยวกับน้ำหนักเกินและภาวะอ้วน ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น เนื่องจากภาวะดังกล่าวเป็นปัจจัยร่วมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเมตาโบลิกในร่างกาย (Metabolic Syndrome หรือ Insulin Resistance) ซึ่งหากพบว่ามีความเสี่ยงดังต่อไปนี้ตั้งแต่ 3 ข้อขึ้นไป แพทย์จะประเมินได้ว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคเกี่ยวกับหัวใจอื่นๆ มากขึ้น
- ภาวะอ้วนลงพุง วัดได้จากเส้นรอบเอวผู้หญิงอยู่ที่ 80 เซนติเมตร และเอวผู้ชายอยู่ที่ 90 เซนติเมตร
- ภาวะความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีค่าความดันโลหิตมากกว่าหรือเท่ากับ 130/85 มิลลิเมตรปรอท
- ภาวะเบาหวาน ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าหรือเท่ากับ 110 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (ค่าจากการตรวจเลือดหลังงดอาหารและเครื่องดื่มเป็นเวลา 8 ชั่วโมง)
- ภาวะไขมันในเลือดสูง ผู้ที่มีค่าไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ ผู้ป่วยที่รับประทานยาลดไขมัน (ค่าไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดหลังงดอาหารและเครื่องดื่มเป็นเวลา 12 ชั่วโมง)
- ภาวะเอชดีแอลคอลเลสเตอรอลต่ำ (HDL-C) ผู้หญิงที่มีค่าไขมันดีในเลือดต่ำกว่าหรือเท่ากับ 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และผู้ชายที่มีค่าไขมันดีในเลือดต่ำกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ภาวะความดันโลหิตสูง ผู้ที่ค่าความดันโลหิตสูงมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท เป็นสาเหตุทำให้กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างด้านซ้ายหนาตัวขึ้น ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้นั่นเอง
- ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ ระดับไขมันในเลือดที่ผิดปกติส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ โดยระดับที่ปกติของคอลเลสเตอรอลรวมควรน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และระดับ LDL-C หรือ ไขมันตัวร้ายควรน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ภาวะโรคเบาหวาน ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง นำไปสู่สาเหตุของความเสื่อมสภาพของหลอดเลือด เยื่อบุภายในหลอดเลือดทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้
- การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ หรือ ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น (บุหรี่มือสอง) รวมถึงผู้ที่เคยสูบบุหรี่ติดต่อกันเป็นเวลานานโดยเพิ่งหยุดสูบได้ไม่นาน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากสารนิโคตินได้ทำลายเยื่อบุผนังหลอดเลือดชั้นใน และคาร์บอนมอนอกไซด์ทำลายคุณสมบัติการนำพาออกซิเจนของเม็ดเลือดแดงในร่างกาย จึงทำให้หัวใจทำงานอย่างหนักมากขึ้น
- การไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สาเหตุจากการที่ร่างกายไม่ได้ออกกำลังหรือ มีกิจกรรมเคลื่อนไหวทางกายไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและภาวะอื่นๆ เกี่ยวกับหัวใจได้สูงถึง 1.5 เท่าเลยทีเดียว
อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- มีอาการเหนื่อยง่าย หายใจหอบ หายใจไม่เต็มปอด บางรายมีอาการเจ็บเค้นหน้าอกร่วมด้วย โดยที่อาการอาจเกิดขึ้นแบบมาๆ หายๆ หรือ เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน มาเป็นระยะเวลานานกว่า 3 สัปดาห์ขึ้นไป
- เหนื่อยง่ายแม้ในขณะใช้ชีวิตปกติ หรือ ทำกิจกรรมที่ออกแรงน้อย
- เจ็บหนัก รู้สึกรัดแน่นบริเวณหน้าอก หรือ บริเวณใต้กระดูกหน้าอก ปวดร้าวไปถึงบริเวณคอ ไหล่ กราม และแขนทั้ง 2 ข้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้างซ้ายจะเจ็บมากกว่าขณะออกแรงทำกิจกรรมต่างๆ
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม ควบคู่ไปกับอาการเจ็บแน่นหน้าอก
- หมดสติ หรือ หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
การตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะเริ่มต้นจากการตรวจร่างกายทั่วไป และการซักประวัติเพื่อที่แพทย์จะได้ทราบถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคหรือไม่ เช่น โรคประจำตัว ประวัติคนในครอบครัว การสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร เป็นต้น หากแพทย์ประเมินว่ามีความเสี่ยงจะแนะนำให้เข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือ การตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม โดยมีแนวทางการตรวจดังต่อไปนี้
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ Electrocardiogram
- การตรวจระดับเอนไซม์กล้ามเนื้อหัวใจในเลือด หรือ Cardiac enzyme test
- การถ่ายภาพรังสีของทรวงอก Chest X-ray
- การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง Echocardiogram
- การสวนหัวใจ หรือ Cardiac catheterization
- การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย หรือ Exercise stress test
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง Computed tomographic angiography
แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยยา
- ยาต้านการแข็งตัวของลิ่มเลือด
- ยาต้านเกล็ดเลือด
- ยาขยายหลอดเลือด
- ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ
- ยาควบคุมความดันโลหิต
- ยาลดไขมัน
- การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบโดยการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ โดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Off-Pump CABG) ซึ่งเป็นการผ่าตัดแบบไม่ต้องหยุดหัวใจ
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ โดยใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (On Pump CABG) ซึ่งเป็นการผ่าตัดแบบหยุดการทำงานของหัวใจทั้งหมด
- การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือด
- การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยการใช้ขดลวดตาข่ายค้ำยันหลอดเลือดที่มีการอุดตัน
การป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
เนื่องจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนั้นแนวทางการป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือ การเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพร่วมด้วย
- ควรบริโภคอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการในแต่ละวัน
- รับประทานอาหารที่มีไขมันและแคลอรีต่ำ
- หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัวและไขมันไม่อิ่มตัวทรานส์
- รับประทานผักและผลไม้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ลดหรืองดการสูบบุหรี่
- ตรวจสุขภาพประจำปี
ทั้งนี้ควรหมั่นสังเกตสุขภาพร่างกายของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีความผิดปกติ ไม่ควรชะล่าใจ ควรพบแพทย์โดยทันที เพื่อการตรวจรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม หากพบว่าร่างกายมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือ โรคอื่นๆ จะได้ทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ และป้องกันการลุกลามไปสู่ภาวะอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิตได้นั่นเอง
สำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือ ต้องการตรวจหาโรคหัวใจ สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ ฮักษาคลินิก
เบอร์โทร : 096-696-1999
LINE: @hugsa
Facebook : HUGSAMedical
HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ