อาหารต้องห้ามโรคหัวใจ

อาหารต้องห้ามที่ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรกิน

อาหารต้องห้ามที่ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรกิน

หากคุณเป็นโรคหัวใจหรือคนใกล้ตัวเป็นโรคหัวใจ บทความนี้สำคัญมากกับการดูแลสุขภาพของคุณและคนในครอบครัว เพราะเป็นโรคที่ต้องใส่ใจด้านการกินอาหารมากเป็นพิเศษ เนื่องจากส่งผลโดดตรงต่อภาวะของโรคที่ทำให้อาการกำเริบรุนแรงได้ รวมไปถึงประสิทธิภาพในการรักษาลดลงร่วมด้วย อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่ผู้ที่เป็นโรคหัวใจห้ามกินเท่านั้น ใครที่ยังไม่เป็นโรคหัวใจก็ควรศึกษาไว้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้การทานอาหารในทุกๆ มื้อของคุณส่งผลดีต่อสุขภาพและห่างใกล้จากโรคหัวใจได้ด้วยเช่นกัน

โรคหัวใจ หรือ Heart Disease คืออะไร?

โรคหัวใจ คือ โรคต่างๆ ที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ โดยสามารถแบ่งโรคหัวใจได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ

  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจ

  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

  • โรคลิ้นหัวใจ

  • โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ

การทำงานของหัวใจเป็นอย่างไร?

การทำงานของหัวใจมีอวัยวะสำคัญที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อและภายในหัวใจ แบ่งออกเป็น 4 ห้อง คือ ห้องบน 2 ห้อง และ ห้องล่าง 2 ห้อง อยู่ตรงกลางใต้กระดูกหน้าอกค่อนไปทางซ้ายเล็กน้อย ซึ่งหัวใจมีหน้าที่หลักในการสูบฉีดเลือดเพื่อนำพาออกซิเจนและสารอาหารไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยหัวใจซีกขวามีหน้าที่รับเลือดจากร่างกายที่ใช้แล้วสูบฉีดไปยังปอดเพื่อรับออกซิเจน ส่วนเลือดที่มีสัดส่วนของออกซิเจนสูงจะไหลกลับไปที่หัวใจด้านซ้ายและถูกสูบฉีดผ่านเส้นเลือดใหญ่ไปยังทุกส่วนของร่างกายต่อไป

อย่างไรก็ตามอวัยวะสำคัญที่เรียกว่าหัวใจนี้สามารถปล่อยสัญญาณไฟฟ้าได้ โดยเกิดขึ้นจากหัวใจห้องขวาบนที่มีการกระจายออกไปตามเซลล์นำไฟฟ้าภายในหัวใจ ไปยังห้องบนซ้ายและต่อไปที่ห้องล่าง ทำให้เมื่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจได้รับกระแสไฟฟ้าดังกล่าวเกิดการหดตัวสั้นลงและส่งผลให้เกิดการบีบตัวของห้องหัวใจนั่นเอง

โรคหัวใจอันตรายมากน้อยแค่ไหน?

อย่างทราบกันดีว่าโรคหัวใจมีความเสี่ยงถึงชีวิตได้ อันเนื่องมาจากความผิดปกติของหัวใจที่แยกออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน โดยจากสถิติในประเทศไทยพบว่าโรคหัวใจที่คร่าชีวิตผู้ป่วยมากที่สุดคือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน (Heart Attack) ซึ่งเป็นการเสียชีวิตที่ไม่มีอาการแสดงให้เห็นก่อนหน้า เรียกได้ว่ากะทันหันโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวเองว่ามีภาวะเสี่ยงใดๆ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในคนอายุน้อยไปจนถึงผู้สูงอายุ นับว่าเป็นหนึ่งในภัยเงียบที่ควรหันมาให้ความสนใจและทำความเข้าใจโรคหัวใจให้มากยิ่งขึ้น ความอันตรายของโรคหัวใจจะสามารถรักษาให้ทันท่วงทีได้นั้นควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตัวเองเสมอ ที่สำคัญคือไม่ควรชะล่าใจคิดว่าตนเองไม่เป็นอะไรมาก หากพบว่าตนเองมีอาการแน่นหน้าอกร้าวไปถึงไหล่ มีอาการใจสั่นผิดปกติ ทั้งยังมีอาการนี้ซ้ำๆ บ่อยๆ ควรรีบตรวจรักษาเพื่อลดความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงในอนาคต

โดยในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อจุดประสงค์ในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ด้วยการตรวจหารอยโรคหัวใจและการใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการพยากรณ์ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจและหลอดเลือดได้ในระยะเวลา 10 ปีที่มีความแม่นยำสูง

อาหารต้องห้ามที่ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรกินมีอะไรบ้าง?

  • อาหารที่มีไขมันไม่ดี หรือ Low-density Lipoprotein (LDL)

อาหารที่มีไขมันไม่ดี (LDL) เป็นไขมันที่มีการจับตัวสะสมบริเวณหลอดเลือด เมื่อผู้ป่วยโรคหัวใจกินไขมันเหล่านี้มากจะทำให้เส้นเลือดเกิดการอุดตัน ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งหรือตีบ นำมาซึ่งความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองได้ เช่น อาหาร Fast Food และอาหารประเภทเบเกอรี เป็นต้น

  • อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง (Saturated Fat)

อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงเป็นไขมันที่หากผู้ป่วยโรคหัวใจกินมากเกินไป อาจทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นได้ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่ออาการของโรคหัวใจที่มากขึ้นตามไปด้วย เช่น เนื้อสัตว์แปรรูป (ไส้กรอก แฮม โบโลน่า แหนม หมูยอ ไส้อั่ว กุนเชียง) เนื้อสัตว์ ไข่แดง ไขมันสัตว์ หนังไก่ หนังหมู น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เนย กะทิ เป็นต้น

  • อาหารที่มีรสหวานและรสเค็มจัด

    • อาหารรสเค็มที่มีส่วนผสมของโซเดียมและผงชูรส ผงปรุงรส หรือ ซอสปรุงรส ที่ใช้ในการประกอบอาหารรวมไปถึงการถนอมอาหารที่มีความเค็มมาก ตัวอย่างเช่น ผักดอง กะปิ  ปลาเค็ม เนื้อเค็ม กุ้งแห้ง ไข่เค็ม ไชโป้วเค็ม เป็นต้น
    • อาหารรสหวานที่ได้จากส่วนประกอบของแป้งและน้ำตาลจากผลไม้ เช่น อาหารกลุ่มเบเกอรี่ต่างๆ ที่มีส่วนประกอบของ เนย นม แป้ง น้ำตาล น้ำอัดลม น้ำผลไม้คั้นสด เป็นต้น

 

  • อาหารทะเล

อาหารทะเลโดยเฉพาะ กุ้ง ปู หอย หมึก มีระดับคอเลสเตอรอลที่สูงมาก หากผู้ป่วยโรคหัวใจกินในปริมาณมากจะส่งผลทำให้ภาวะโรคหัวใจเสี่ยงรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยแนะนำให้กินในปริมาณจำกัดให้ระดับคอเลสเตอรอลไม่เกิน 200 กรัม/วัน และสำหรับผู้ที่สุขภาพปกติไม่ควรให้ระดับคอเลสเตอรอลเกิน 300 กรัม/วัน จึงจะเลี่ยงโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจและโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้

  • เครื่องดื่มชา กาแฟ และน้ำอัดลม

เครื่องดื่มชา กาแฟ และน้ำอัดลม ที่มีส่วนผสมของสารเคเฟอีน ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ใจสั่นผิดปกติ และทำให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมา หากผู้ป่วยโรคหัวใจต้องการดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ควรดื่มในปริมาณน้อยและได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้รักษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ว่าปริมาณเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับอาการของแต่ละบุคคล

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโรคหัวใจเท่านั้น ผู้ที่ร่างกายแข็งแรงดีก็ไม่ควรดื่มในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งมีเป็นสาเหตุทำให้การทำงานของหัวใจและเส้นเลือดหัวใจทำงานหนักกว่าปกติได้

อาหารประเภทไหนบ้างที่ผู้ป่วยโรคหัวใจควรกิน?

เมื่อทราบแล้วว่าอาหารต้องห้ามของผู้ป่วยโรคหัวใจคืออะไร เรามาดูกันว่าแล้วอาหารประเภทไหนบ้างที่มีประโยชน์ต่อหัวใจและสร้างเสริมให้หัวใจทำงานได้อย่างแข็งแรงยิ่งขึ้น

  • ไฟเบอร์ : ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด

ไฟเบอร์ที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจคือไฟเบอร์จากธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต และเมล็ดธัญพืชต่างๆ มีคุณค่าทางอาหารที่ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดได้ อีกทั้งยังลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดในผู้ที่ร่างกายปกติได้อีกด้วย

  • น้ำมันจากถั่วเปลือกแข็ง : ช่วยลดความเสี่ยงความดันโลหิตสูง

น้ำมันจากถั่วเปลือกแข็งต่างๆ และเมล็ดพืชที่มีกรดแอลฟา-ลิโนเลนิกสูง ช่วยลดความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูงได้ หากกินในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากจนเกินไป เนื่องจากเป็นน้ำมันที่ให้พลังงานสูงอาจส่งผลต่อภาวะอ้วนได้ ตัวอย่างเช่น น้ำมันวอลนัต น้ำมันคาโนลา น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น 

  • เบอร์รี่ : ช่วยป้องกันหลอดเลือดอุดตัน

ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ต่างๆ มีสารต้านอนุมูลอิสระมากมายๆ ไม่ว่าจะเป็น ใยอาหาร กรดโฟลิก วิตามันซี และ โพแทสเซียม ซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันการสะสมของไขมันบริเวณผนังหลอดเลือด ช่วยยับยั้งการแข็งตัวของเลือดได้ดี อีกทั้งยังมีส่วนช่วยป้องกันความเครียดได้เป็นอย่างดี

  • อะโวคาโด : ช่วยโพแทสเซียมให้ร่างกาย

โดยทั่วไปวัยผู้ใหญ่เพศหญิงควรได้รับโพแทสเซียมในแต่ละวันประมาณ 2,050 ถึง 3,400 มิลลิกรัม และผู้ใหญ่เพศชายอยู่ที่ประมาณ 2,500–4,200 มิลลิกรัม ซึ่งอะโวคาโดน้ำหนัก 100 กรัม หรือประมาณครึ่งผลจะมีโพแทสเซียมอยู่ที่ประมาณ 485 มิลลิกรัม ซึ่งหากกินในปริมาณเพียงพอจะช่วยลดความดันโลหิตที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจได้

  • อัลมอนด์ : ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล

อัลมอนด์มีส่วนช่วยเพิ่มระดับไขมันดี (HDL) และลดระดับไขมันเลว (LDL) ในร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ อีกทั้งยังช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเรื่องระบบการเผาผลาญพลังงาน ส่งผลดีต่อสมองและความจำรวมไปถึงการทำงานของลำไส้

  • ผักใบเขียว : ช่วยลดปกป้องหลอดเลือดหัวใจ

การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดจากหลอดแดงตีบหรือตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัว หรือ อาจเกิดจากไขมันเกาะผนังของหลอดเลือด การกินผักใบเขียวจึงมีส่วนช่วยปกป้องหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคหัวใจควรให้ความสำคัญกับการกินอาหารควบคู่ไปกับการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง หมั่นสังเกตสุขภาพร่างกายของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หาเวลาว่างออกกำลังกาย และปฏิบัติตามคำแนะนำของหมออย่างเคร่งครัด สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ห่างไกลจากภาวะโรคหัวใจที่รุนแรงและโรคอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

สำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาเกี่ยวกับโรคหัวใจ หรือ ต้องการรายละเอียดด้านการรักษาโรคหัวใจในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ ฮักษาคลินิก 

เบอร์โทร : 096-696-1999

LINE: @hugsa

Facebook : HUGSAMedical

HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ