โรคนอนไม่หลับ

โรคนอนไม่หลับ แก้ยังไง? ฮักษาคลินิก เชียงใหม่ มีคำตอบ

โรคนอนไม่หลับ แก้ยังไง? ฮักษาคลินิก เชียงใหม่ มีคำตอบ

 

การนอนหลับเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตไม่แพ้เรื่องสุขภาพอื่นๆ ซึ่งโดยปกติแล้วการนอนจะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายส่วนต่างๆ ได้พักผ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบหัวใจ ระบบหลอดเลือดภายในร่างกาย ที่ทำงานลดลงเนื่องจากการนอนหลับเป็นภาวะที่ร่างกายไม่ได้ออกแรง ที่ทำให้ต้องสูบฉีดโลหิตมาก อีกทั้งการนอนหลับยังเป็นช่วงที่สารเคมีต่างๆ ในร่างกายได้ทำงานเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ รวมไปถึงการนอนหลับอย่างเหมาะสมจะทำให้การทำงานของสมองมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน ดังนั้นโรคนอนไม่หลับจึงส่งผลต่างสุขภาพร่างกายอย่างปฏิเสธไม่ได้

โรคนอนไม่หลับ คืออะไร?

โรคนอนไม่หลับ หรือ Insomnia คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติในการนอนหลับที่ผู้ป่วยจะมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับยาก มีภาวะหลับๆ ตื่นๆ หรือ นอนหลับไม่สนิท โดยมักพบได้ในวันผู้ใหญ่และวัยสูงอายุ ซึ่งหากปล่อยปละละเลยไม่ทำการรักษาจนกลายเป็นภาวะเรื้อรังอาจส่งผลเสียต่อความจำ อารมณ์ สุขภาพด้านอื่นๆ ตามมาได้ อย่างไรก็ตามการนอนหลับปกติแล้วในแต่ละวันควรนอนเฉลี่ย 7-9 ชั่วโมง ดังนั้นอาการนอนไม่หลับที่เกิดจากหลายสาเหตุจะส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

โรคนอนไม่หลับแบ่งออกได้ 4 ประเภท 

โรคนอนไม่หลับอาจเกิดขึ้นได้ในระยะสั้น หรือ เกิดขึ้นได้ในรายวัน สัปดาห์ หรือ ระยะเวลานานเป็นเดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ของแต่ละบุคคล โดยหลักๆ สามารถแบ่งออกได้ดังนี้คือ 

  • หลับยาก หรือ Initial Insomnia
  • หลับแล้วตื่น และหลังจากนั้นร่างกายไม่สามารถหลับได้อีก หรือ Maintenance Insomnia
  • ตื่นเร็วและไม่สามารถหลับต่อได้ หรือ Terminal insomnia
  • หลับยากหลายแบบรวมกัน

 

รู้หรือไม่? “ 3 ใน 4 ประชากรไทย หรือราว 19 ล้านคน กำลังเผชิญกับภาวะนอนไม่หลับโดยที่ ราวๆ ร้อยละ 30 หรือ กว่า 5,700,000 คน นอนหลับยาก ซึ่งกว่าร้อยละ 70 หรือ เกือบ 4,000,000 คน อยู่ในวัยทำงาน (กรมสุขภาพจิต) ”

โรคนอนไม่หลับส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร?

โรคนอนไม่หลับส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและสมองทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งหากมีภาวะนอนไม่หลับเรื้อรังยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วยในอนาคตได้อีกด้วย เช่น

  • ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
  • ประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันลดลง
  • เสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ หอบหืด ได้ง่าย
  • เสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง และ ภาวะเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดหัวใจ
  • ระบบเผาผลาญพลังงานร่างกายที่ผิดปกติ

 

  • ร่างกายมีภาวะอ่อนเพลียส่งผลต่อการเจริญเติบโต
  • อาจมีอาการป่วย เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ท้องผูก ท้องเสีย
  • ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ เช่น ความเครียด กังวล ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน และมีอาการเฉื่อยชา

การนอนหลับให้เพียงพอควรเป็นอย่างไร?

ร่างกายของคนเราต้องการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอและเหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดีทั้งในด้านการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ การฟื้นฟูร่างกาย และช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายสามารถทำงานได้อย่างปกติ ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตตามวัยตลอดจนความสามารถในการเรียนรู้และการจดจำร่วมด้วย ดังนั้นการนอนหลับให้เพียงพอจึงมีความสำคัญต่อร่างกาย โดยแต่ละช่วงวัยควรนอนให้เพียงพอเป็นเวลาดังนี้

  • เด็กทารก 4 เดือน ถึง 12 เดือน ควรนอนหลับ 12 ถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน (รวมนอนกลางวัน)​
  • เด็ก 1 ถึง 2 ปี ควรนอนหลับ 11ถึง 14 ชั่วโมงต่อวัน (รวมนอนกลางวัน) ​
  • เด็ก 3 ถึง 5 ปี ควรนอนหลับ 10 ถึง 13 ชั่วโมงต่อวัน (รวมนอนกลางวัน)​
  • เด็ก 6 ถึง 12 ปี ควรนอนหลับ 9 ถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน​
  • วัยรุ่น 13 ถึง 18 ปี ควรนอนหลับ 8 ถึง 10 ชั่วโมงต่อวัน​
  • วัยผู้ใหญ่ขึ้นไป ควรนอนหลับ 7 ถึง 9 ชั่วโมงต่อวัน​

 

การนอนหลับอย่างมีคุณภาพนั้นจะต้องหลับลึกและต่อเนื่อง โดยในเชิงการแพทย์การนอนหลับลึกช่วยให้คลื่นสมองไม่ได้รับการปลุก หรือ ถูกปลุกน้อยที่สุดในระหว่างการนอนหลับ ด้วยการลดปัจจัยที่ส่งผลต่อการตื่นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอกหรือภายในร่างกาย

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนอนไม่หลับมีอะไรบ้าง?

  • ภาวะความเครียด แรงกดดัน วิตกกังวล หรือมีอาการสิ้นหวัง หมดกำลังใจในการใช้ชีวิต มีอาการซึมเศร้า ท้อแท้ 
  • อาการเจ็บป่วย เช่น ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ มีอาการไอ ปวดท้อง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว
  • ท้องว่าง หรือ อิ่มมากเกินไป ทำให้มีอาการหิวในช่วงดึกหรือแน่นท้องจนทำให้นอนไม่หลับตามปกติ
  • ทำอาชีพที่ต้องเปลี่ยนเวลาในการทำงานอยู่ตลอด ทำงานเป็นกะที่เวลาไม่เหมือนเดิม
  • ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เช่น เสียงดังรบกวนขณะนอนหลับ ความสว่างของแสงที่มากเกินไป หรือ มลภาวะทางอากาศ
  • ดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ สูบบุหรี่ หรือมีการใช้ยาบางชนิด
  • มีนอนละเมอ ฝันร้าย หรือ นอนไม่หลับจนเป็นนิสัย

อาการนอนไม่หลับแบบไหนที่ควรพบแพทย์?

เมื่อสังเกตว่าตนเองมีอาการนอนไม่หลับติดต่อกันต่อเนื่อง และเริ่มส่งผลต่อร่างกายในด้านต่างๆ มากขึ้นกว่าปกติ ไม่ควรปล่อยไว้นานเพราะอาจส่งผลต่อเสียต่อร่างกายในระยะยาวได้ โดยหากพบว่าคุณมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบพบแพทย์ทันที

  • นอนหลับยาก หรือ ใช้เวลากว่าจะนอนหลับมากกว่า 20 นาที
  • มักตื่นกลางดึกทุกๆ 2-3 ชั่วโมง และไม่สามารถหลับต่อได้ทันที
  • นอนหลับได้ไม่นาน มักนอนได้แค่ 2-3 ชั่วโมง แล้วก็ตื่นขึ้นมา
  • นอนไม่หลับเป็นระยะเวลามากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ ติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน
  • อาการนอนไม่หลับส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับ

การตรวจวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับแพทย์จะทำการตรวจร่างกายและซักประวัติโดยละเอียด โดยเป็นคำถามเกี่ยวกับปัญหาการนอนรวมไปถึงอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับสอบถามโรคประจำตัว ยาที่ใช้ประจำซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ หากพบว่ามีอาการนอนไม่หลับเรื้อรังนานกว่า 3 เดือนขึ้นไป หรือ แพทย์พบว่าอาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับอื่นๆ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ จะมีการตรวจคุณภาพการนอน หรือ Sleep Test เพิ่มเติมเพื่อประกอบการวินิจฉัยร่วมด้วย

แนวทางการรักษาโรคนอนไม่หลับ

การรักษาโรคนอนไม่หลับหากพบว่ามีอาการในระยะสั้นอาจหายได้เองด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ หรือ การปรับพฤติกรรมต่างๆ แต่ในภาวะนอนไม่หลับเรื้อรังสามารถทำได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • การบำบัดโรคนอนไม่หลับโดยการปรับพฤติกรรมและปรับเปลี่ยนความคิด Cognitive Behavioral Therapy for insomnia หรือ CBT-I เป็นการบำบัดเพื่อรักษาโรคนอนไม่หลับเรื้อรังด้วยการพูดคุยเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรม และให้ความรู้ด้านการนอนหลับอย่างมีคุณภาพให้กับผู้ป่วย ที่ช่วยให้มีความผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น สามารถควบคุมสิ่งเร้าต่างๆ รอบด้านให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น โดยการบำบัดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ขึ้นไป

 

  • การบำบัดโรคนอนไม่หลับโดยการใช้ยาแพทย์จะเลือกใช้บางกรณีเท่านั้น โดยอาจใช้ยาในระยะสั้นเพื่อช่วยในการนอนหลับร่วมด้วย ถือว่าเป็นแนวทางการรักษาที่เฉพาะผู้ป่วยบางรายเท่านั้น ทั้งนี้แพทย์จะใช้ยาน้อยที่สุดและขนาดของยาต่ำที่สุดและไม่ให้ใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป เพื่อลดโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงที่เสี่ยงต่อภาวะอื่นๆ ในอนาคต

แนวทางการป้องกันโรคนอนไม่หลับ

โรคนอนไม่หลับสามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันได้จากการเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อให้นอนหลับได้อย่างมีคุณภาพและส่งผลดีต่อร่างกายมากที่สุด โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังต่อไปนี้

  • เข้านอนเป็นเวลา ไม่งีบหลับระหว่างวัน หรือ นอนเมื่อง่วงนอน
  • จัดห้องนอนให้มีบรรยากาศเหมาะสมก่อนการนอนหลับ มีความมืด เงียบสงบ อุณหภูมิเหมาะสม
  • งดรับประทานอาหารมื้อหนักก่อนเข้านอน
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักก่อนเวลานอน
  • หลีกเลี่ยงความวิตกกังวล เรื่องเครียด หรือกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกตื่นตัว เช่น เล่นโทรศัพท์มือถือ เล่นเกม
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือ กาแฟ ในช่วงก่อนเข้านอน
  • ลดการสูบบุหรี่ เพราะนิโคตินจะส่งผลทำให้นอนหลับยากขึ้น

 

หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมข้างต้นแล้วยังมีอาการนอนไม่หลับเช่นเคย หรือ อาการยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร แนะนำว่าควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคนอนไม่หลับและทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง สำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษา หรือ รักษาโรคนอนไม่หลับในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ ฮักษาคลินิก 

เบอร์โทร : 096-696-1999

LINE : @hugsa

Facebook : HUGSAMedical

 

HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ