สัญญาณเตือนเสี่ยงโรคหัวใจ

สัญญาณเตือนเสี่ยงโรคหัวใจ เช็คง่ายๆ ด้วยตัวเอง

สัญญาณเตือนเสี่ยงโรคหัวใจ เช็คง่ายๆ ด้วยตัวเอง

 

โรคหัวใจ เป็นหนึ่งในโรคที่มีการรณรงค์และสร้างการตระหนักถึงอันตรายอย่างแพร่หลาย จนหลายคนคุ้นเคยกับโรคหัวใจในนามของโรคที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมายนับไม่ถ้วน แต่ทราบหรือไม่ว่าการสร้างการรับรู้อย่างหนักของทุกภาคส่วน ไม่ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจลดลงได้ ซึ่งจากสถิติขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้ระบุว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุในการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก และในเอเชียพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้สูงสุด ด้วยจำนวน 58% ของจำนวนผู้เสียชีวิตจาก 10.8 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยพบผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 58,681 คนต่อปี เฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข)

 

อย่างไรก็ตามในอดีตมักจะพบผู้ป่วย โรคหัวใจ ในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันพบการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจสูงขึ้นในกลุ่มวันทำงานมากยิ่งขึ้น ด้วยปัจจัยต่างๆ ในการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น การเคลื่อนไหวที่น้อยลงจากพฤติกรรมการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ด หรือ อาหารที่มีไขมันสูง ความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย การดื่มแอลกอฮอร์ และการสูบบุหรี่ เป็นต้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้มากยิ่งขึ้น

โรคหัวใจคืออะไร?

โรคหัวใจ (Heart Diseas) คือ โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อระบบหัวใจ ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจให้มีความผิดปกติ กล่าวคือเป็นโรคที่ประกอบด้วยกลุ่มโรคต่างๆ ซึ่งกระทบต่อการทำงานของหัวใจทั้งสิ้น โดยปกติแล้วการทำงานของหัวใจจะทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตเพื่อนำพาออกซิเจนและธาตุอาหารต่างๆ ไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย การทำงานของทั้ง 4 ห้องจะสมบูรณ์และไม่มีภาวะเสี่ยงต่อหัวใจส่วนใดส่วนหนึ่งจึงจะถือว่าไม่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ 

 

สัญญาณเตือน “โรคหัวใจ” เช็คได้ด้วยตัวเอง

  • มีอาการเหนื่อยง่ายเมื่อออกกำลังกาย เดินเร็ว หรือ ออกแรงมาก
  • มีอาการเจ็บหน้าอก แน่นกลางอก หรือ เจ็บหน้าอกบริเวณด้านซ้ายหรือทั้ง 2 ข้าง แน่นหน้าอกร้าวไปที่กราม แขน ไหล่ หรือลิ้นปี่ ทำให้ไม่สามารถนอนราบได้ หายใจไม่สะดวก เหนื่อย และอึดอัดบริเวณหน้าอก
  • มีอาการหายใจไม่ปกติรู้สึกหายใจลำบาก อาจเป็นได้ตลอดเวลา ขณะออกกำลังกาย หรือ ตอนออกแรงมากๆ หรือ อาจมีอาการในช่วงเวลานอนหลับกลางคืน
  • มีอาการหายใจหอบกลางดึก จนต้องตื่นขึ้นมาหายใจ
  • มีอาการขาหรือเท้าบวม เช่น ปลายมือ ปลายเท้า และริมฝีปากเขียวคล้ำ
  • มีอาการใจสั่น และ วิงเวียนศีรษะ
  • มีอาการไอแห้งเรื้อรัง

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็น “โรคหัวใจ”

การที่จะทราบได้ว่าเป็นโรคหัวใจนั้นจะต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วยวิธีการต่างๆ ตามความเหมาะสม โดยการพิจารณาของแพทย์ ซึ่งประกอบไปด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

 

  • เริ่มต้นจากการซักประวัติสุขภาพและการสอบถามอาการเบื้องต้น เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจหรือไม่
  • ตรวจร่างกายทุกระบบร่างกายที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่น การเต้นของหัวใจ การตรวจวัดไขมันและหินปูนในหลอดเลือด เป็นต้น
  • การตรวจโรคหัวใจด้วย คลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง Echocardiography เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยกายวิภาคของหัวใจ เช่น การเคลื่อนที่และการบีบตัว ความหนาของผนังหัวใจ เป็นต้น 
  • การตรวจโรคหัวใจด้วย คลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย Exercise Stress Test หรือ  EST ซึ่งเป็นการตรวจโดยให้เดิน หรือ วิ่งบนสายพาน เพื่อทำการกระตุ้นหัวใจ
  • การตรวจโรคหัวใจด้วย คลื่นไฟฟ้าหัวใจ Electrocardiography หรือ EKG ซึ่งเป็นการใช้สื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กติดบริเวณหน้าอก และแขน-ขา
  • การตรวจโรคหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง CT Coronary Artery เป็นการวิเคราะห์ความผิดปกติของหัวใจ ที่สามารถทราบได้ว่าเส้นเลือดตีบ-ตัน มีไขมันเกาะหลอดเลือดแดงหรือไม่ เห็นการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจ 
  • การสวนหลอดเลือดหัวใจ Coronary Artery Angiography หรือ CAG เป็นการฉีดสีเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจ ในกรณีที่มีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ วิธีนี้สามารถวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำว่ามีการตีบหรือใกล้ตันในจุดใด

โรคหัวใจมีทั้งหมดกี่ประเภท

โรคหัวใจประเภทต่างๆ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ ซึ่งเกิดขึ้นในส่วนของหัวใจแตกต่างกันไป โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้

  • ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)

โรคหัวใจที่เกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจล้มเหลว หรือ หัวใจอ่อนกำลัง ซึ่งเป็นภาวะที่การทำงานของหัวใจผิดปกติ มีความอ่อนแรงลงจากเดิม ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตต่างๆ โดยความสามารถในสูบฉีดเลือด หรือ การรับเลือด ทำงานผิดปกติ  ทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ได้รับเลือดไม่เพียงพอ 

  • หลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน เป็นโรคหัวใจที่มักพบได้ในผู้ใหญ่ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ อายุที่มากขึ้น และขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการตีบตัน และเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ในที่สุด ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือ หัวใจพิบัติ (Heart Attack) และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง

  • ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia)

โรคหัวใจที่เกิดจากภาวะการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ ที่มีความเร็วมากหรือช้ากว่าปกติที่ควรเป็น เกิดจากการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ หรือ การนำไฟฟ้าผิดปกติ ซึ่งเกิดได้จากความผิดปกติหลายปัจจัย เช่น แผลเป็นหรือก้อนไขมันที่หลอดเลือด ลิ้นหัวใจผิดปกติ หลอดเลือดหัวใจตีบตัน เป็นต้น โดยส่งผลให้มีอาการ เจ็บหน้าอก หน้ามืดหมดสติ หรือ หัวใจวาย

  • หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (Aortic Aneurysm)

โรคหัวใจที่เกิดจากหลอดเลือดแดงโป่งพอง เนื่องจากการนำเลือดจากหัวใจไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายมีความผิดปกติ หนังของหลอดเลือดไม่มีความแข็งแรง เสื่อมสภาพ ส่งผลให้เกิดการโป่งพองจนอาจแตกออกได้ ซึ่งพบได้บ่อยบริเวณช่องท้องและช่องอก

  • หัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease)

หนึ่งในโรคหัวใจที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของการเจริญเติบโตของหัวใจขณะที่เป็นทารกในครรภ์มารดา มักเกิดขึ้นในช่วง 90 วันของการตั้งครรภ์ โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากรูโหว่ของผนังกั้นห้องหัวใจ หลอดเลือดผิดตำแหน่ง ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบตัน เป็นต้น ซึ่งสามารถตรวจได้ด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ หรือ Echocardiogram

  • หัวใจรูห์มาติก (Rheumatic Fever)

โรคหัวใจที่พบได้ในเด็กในช่วงอายุ 7 ถึง 15 ปี เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเบตาฮีโมไลติก สเตร็ปโตคอคคัสที่ลำคอ ส่งผลทำให้มีอาการไข้สูง คออักเสบ โดยปกติแล้วร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคชนิดนี้ หากมีการติดเชื้อซ้ำอาจทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบได้ อย่างไรก็ตามหากมีการอักเสบซ้ำหลายครั้งจะทำให้เกิดพังผืดที่ลิ้นหัวใจ ส่งผลให้ลิ้นหัวใจตีบ รั่ว หรือแคบลงได้

พฤติกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

โรคหัวใจสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ โดยการดูแลสุขภาพร่างกายตนเองด้วยวิธีการดังนี้

  • ออกกำลังกาย Fat Burn

เป็นการออกกำลังกายที่เน้นเบิร์นไขมันในช่วงที่อัตราการเต้น 70% ของการเต้นหัวใจสูงสุดให้เหมาะสมตามช่วงอายุ ซึ่งมีความแตกต่างกันโดยสามารถคำนวณได้ด้วยสูตร 0.7 x ( 220 – อายุ) จะได้อัตราการเต้นหัวใจที่เหมาะสมในการออกกำลังกาย แนะนำว่าควรออกกำลังกายสัปดาห์ละ 5 วัน อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที วิธีนี้จะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไขมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • เลี่ยงการรับประทานไขมันทรานส์

ไขมันทรานส์เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจในกลุ่มวัยทำงานมากขึ้น เพราะไขมันทรานส์จะเพิ่มระดับไขมันเลว LDL และลดระดับไขมันดี HDL ส่งผลเสียต่อหลอดเลือดหัวใจได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักพบได้ใน เบเกอรี่ คุกกี้ ขนมขบเคี้ยว ครีมเทียม เนยเทียม อาหารจังก์ฟู้ดส์ อาหารทอดต่างๆ เป็นต้น

  • การนอนให้เพียงพอและมีคุณภาพ

ควรนอนหลับพักผ่อนไม่น้อยกว่า 6 ถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน และควรนอนหลับลึก หรือ Deep Sleep เพื่อตื่นขึ้นมาแล้วสดชื่นแจ่มใส 

  • หลีกเลี่ยงความเครียด

ความเครียดส่งผลต่อทั้งร่างกายและการทำงานของหัวใจ หากมีความเครียดเรื้อรังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ ดังนั้นหากพบว่าตนเองมีภาวะเครียดควรหากิจกรรมผ่อนคลายหรือปรึกษาจิตแพทย์เพื่อบรรเทาให้ความเครียดลดลง หรือ สามารถรับมือกับความเครียดได้ดียิ่งขึ้น

  • เลี่ยงความเสี่ยงโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง

ทั้งสองภาวะจะส่งผลให้ผนังหลอดเลือดหัวใจอักเสบเรื้อรัง นำไปสู่โรคหัวใจชนิดต่างๆ ในภาวะเฉียบพลันได้ ดังนั้นควรเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรคนี้จะเป็นการป้องกันดีที่สุด

  • ลด หรือ เลิกสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่มีผลต่อหลอดเลือดหัวใจและเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เนื่องจากสารนิโคตินและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในควันบุหรี่รวมถึงสารอื่น ๆ ทำให้เส้นเลือดแข็ง ผนังเส้นเลือดหนา หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจขาดออกซิเจน นำไปสู่ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้

 

การรู้ทันสัญญาณเตือนโรคหัวใจได้ง่ายๆ ด้วยการหมั่นสังเกตตัวเองและหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอย่อมดีกว่าการรักษาภายหลัง เมื่อสังเกตเห็นความผิดปกติจากภายนอกได้เร็วเท่าไหร่ นับว่าเป็นความโชคดีให้ได้สามารถรับมือและรักษาอย่างทันท่วงทีต่อไป อย่างไรก็ตามหากใครที่ต้องการปรึกษาหรือรักษาโรคหัวใจ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ฮักษา คลินิก ทุกสาขา

โทร.  096-696-1999

LINE : @hugsa

Facebook : HUGSAMedical

 

HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ