โรคไข้เลือดออกและการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ครอบคลุม 4 สายพันธุ์
เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน โรคระบาดที่ตามมาทุกๆ ปีนั่นก็คือ โรคไข้เลือดออก เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนสามารถพบพาหะนำโรคอย่างยุงลายได้ชุกชุม โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำขังต่างๆ ซึ่งจากสถานการณ์ไข้เลือดออกเดือนมกราคม 2567 โดยกรมควบคุมโรคเปิดเผยว่า พบผู้ป่วยทั้งหมด 8,197 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 1.9 เท่า และมีผู้เสียชีวิตแล้วทั้งสิ้น 13 ราย อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมักพบผู้ป่วยในกลุ่มอายุ 5 ถึง 14 ปี และเสียชีวิตมากสุดในกลุ่มที่อายุมากกว่า 65 ปี ทั้งนี้พบมากทางภาคใต้และภาคกลางของประเทศไทย
โรคไข้เลือดออกคืออะไร?
โรคไข้เลือดออก หรือ Dengue hemorrhagic fever คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า dengue virus (ไวรัสเดงกี) เป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรคสู่คนผ่านการกัดของยุงลายที่เคยกัดคนที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี 1 ใน 4 สายพันธุ์ (DENV-1 – DENV-4) ส่วนใหญ่มักพบได้ในแถบประเทศเขตร้อนชื้นและมักระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี
อาการของโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกที่เกิดกับผู้ป่วยในครั้งแรกส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ หรือ พบอาการได้น้อยมาก โดยมักป่วยแบบไม่รู้ตัวเมื่อหายดีแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะสายพันธุ์ที่ติดเชื้อ ทำให้ร่างกายไม่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกอีก แต่อย่างไรก็ตามยังสามารถติดเชื้อไข้เลือดออกจาก 3 สายพันธุ์ที่เหลือได้ ซึ่งจะมีอาการที่รุนแรงกว่าเมื่อติดเชื้อครั้งที่สองขึ้นไป โดยอาการที่พบ คือ มีไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระบอกตา อาการเหล่านี้มักจะหายได้เองหลังจาก 1 สัปดาห์ และในช่วงที่ไข้ลดลงผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงหรือพบภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เช่น ความดันต่ำ มีเลือดออก หรือ เกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น
อาการของโรคไข้เลือดออกแบ่งได้ 3 ระยะ
Febrile phase หรือ ระยะไข้สูง
เป็นระยะที่ผู้ป่วยไข้เลือดออกมีไข้สูงเฉียบพลัน 39-40 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลา 2-7 วัน มีอาการคล้ายคลึงกับไข้หวัดแต่ไม่มีน้ำมูกและไม่มีอาการไอ ซึ่งมีอาการดังต่อไปนี้
- มีจ้ำเลือด หรือ ผื่นแดงขึ้นที่บริเวณผิวหนัง
- ปวดเบ้าตา ปวดรอบกระบอกตา
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดศีรษะ หน้าแดง
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ปวดข้อ หรือ ปวดกระดูก
- เบื่ออาหาร
Critical phase หรือ ระยะวิกฤต
เป็นระยะที่ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะต้องมีการเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด ร่างกายจะเข้าสู่ระยะนี้เมื่อผ่านไปประมาณ 3-7 วันหลังจากมีอาการไข้สูง ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักจะไม่ได้เข้าสู่ระยะนี้แต่ในกรณีที่พบ จะเกิดภาวะช็อกจากไข้สูง หรือ ช็อกจากร่างกายภายในมีเลือดรั่วไหลออกนอกหลอดเลือด ส่งผลทำให้ความดันโลหิตต่ำ ชัก และหัวใจหยุดเต้นได้ โดยระยะนี้จะมีอาการที่เห็นได้ชัดคือ
- มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เลือดออกตามไรฟัน หรือ เลือดกำเดาไหล
- มีจ้ำเลือด หรือ จุดเลือดเล็กๆ ตามผิวหนัง
- คลื่นไส้ อาเจียนอย่างต่อเนื่อง เบื่ออาหาร
- ปวดท้องอย่างรุนแรงบริเวณชายโครงขวา
- ปัสสาวะ หรือ อุจจาระปนเลือด
- หายใจลำบาก หายใจถี่และเร็ว
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- มือเท้าเย็น ตัวเย็น
- ผู้หญิงจะมีประจำเดือนมาก หรือ นานกว่าปกติ
Recovery phase หรือ ระยะฟื้นตัว
ระยะสุดท้ายของโรคไข้เลือดออกเกิดขึ้นกับผู้ที่ผ่านระยะไข้สูงที่ไม่ได้เข้าสู่ระยะวิกฤต หรือ ผู้ที่ผ่านระยะวิกฤตมาแล้วประมาณ 1 – 2 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มเข้าสู่การฟื้นตัว ทำให้มีอาการดีขึ้นตามลำดับ ระบบการทำงานของเส้นเลือดสามารถกลับมาทำงานได้ปกติ โดยสามารถสังเกตระยะฟื้นตัวได้ดังนี้
- อุณหภูมิร่างกายเป็นปกติ ไขลดลง
- อาการต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกร่างกายทั่วไปดีขึ้นตามลำดับ
- ปัสสาวะออกได้มากขึ้น
- ความดันโลหิตสูงขึ้น
- ภาวะตับโตลดลงภายใน 1-2 สัปดาห์
- รับประทานอาหารได้มากขึ้น
ใครที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกพบได้ในทุกเพศทุกวัย โดยจากข้อมูลผู้ป่วยส่วนใหญ่มักพบในวัยเด็กและวัยทำงาน ซึ่งผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อระยะโรครุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนอันตราย คือ
- ผู้ที่มีโรคที่เกิดจากฮีโมโกลบินผิดปกติ หรือ มีโรคที่ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย
- เด็กทารก ผู้สูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์
- ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างช่วงประจำเดือน หรือ มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
- ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร
- ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตวาย ตับแข็ง โรคหัวใจขาดเลือด หอบหืด
- ผู้ที่ใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) หรือ ยาในกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory หรือ NSAIDs)
การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก
ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าอาการของโรคไข้เลือดออกในระยะแรกคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดใหญ่ หรือ โรคติดเชื้ออื่นๆ การวินิจฉัยโรคจึงต้องใช้การตรวจเพิ่มเติมนอกเหนือจากการซักประวัติและการสังเกตอาการเบื้องต้น ดังนี้
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)
- การตรวจภูมิคุ้มกันต่อไข้เลือดออก (IgM)
- การตรวจ NS1 Ag ต่อเชื้อโดยตรง
- การตรวจ PCR เพื่อหาเชื้อไวรัสเดงกี
แนวทางการรักษาโรคไข้เลือดออก
การรักษาโรคไข้เลือดออกในปัจจุบันนั้นยังไม่มียารักษา แต่จะเป็นการรักษาตามอาการและความรุนแรงของแต่ละบุคคล เพื่อให้ร่างกายของผู้ป่วยฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็วที่สุด ซึ่งในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงจะสามารถหายได้เองภายใน 2-7 วัน โดยการดูแลเบื้องต้นควรดื่มน้ำ หรือ น้ำเกลือแร่ เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ ควรเช็ดตัวเพื่อลดไข้สูงเป็นระยะ รับประทานยาลดไข้ที่แพทย์จัดไว้ให้อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีอาการอาเจียนมาก ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว มีอาการปวดท้องมาก ไม่ปัสสาวะ และตัวเย็นผิดปกติ เป็นเวลานานกว่า 6 ชั่วโมง ควรรีบเข้าพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม
วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก
ปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดใหม่ ที่มีความแตกต่างกับวัคซีนชนิดก่อนหน้านี้ ในด้านประสิทธิภาพ ความปลอดภัยของวัคซีน รวมถึงจำนวนเข็มของการฉีดที่แตกต่างกัน ซึ่งวัคซีนชนิดใหม่ได้มีการผลิตจากประเทศเยอรมนี เหมาะกับผู้ที่เคยเป็นไข้เลือกออกมาก่อนและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน ใช้ได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 4 ถึง 60 ปี อีกทั้งยังสามารถฉีดได้โดยไม่ต้องทำการตรวจเลือดก่อนการฉีด โดยจะทำการฉีดเพียง 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน
อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของวัคซีนทุกชนิดไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไข้เลือดออกได้ 100% ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสยังสามารถติดเชื้อได้แต่ความรุนแรงของโรคจะลดลงกว่าที่ควรจะเป็นได้ จากผลการวิจัยพบว่าวัคซีนชนิดใหม่นี้ป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ถึง 90.4% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูง ทั้งนี้ผลข้างเคียงอาจเกิดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เช่น อาการปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ แต่อาการเหล่านี้มักหายได้เองในเวลา 1 ถึง 3 วัน
ผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกัน
โรคไข้เลือดออกมีด้วยกันทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ซึ่งการติดเชื้อสายพันธุ์หนึ่งๆ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นกับสายพันธุ์นั้น เมื่อร่างกายติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ร่างกายจะไม่สามารถต้านทานได้ ดังนั้นในกรณีที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกแล้วยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อที่เหลือและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ โดยแนะนำให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 6 เดือน หลังจากที่หายจากโรคไข้เลือดออก เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อโรคต่ำและส่งผลดีต่อประสิทธิภาพของวัคซีนมากยิ่งขึ้น
ใครบ้างที่จำเป็นต้องรับวัคซีนอย่างเร่งด่วน
ผู้ที่จำเป็นต้องรับวัคซีนอย่างเร่งด่วน คือกลุ่มเปราะบางที่หากติดเชื้อไข้เลือดออกแล้วจะมีความเสี่ยงต่อเกิดอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่นๆ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคธาลัสซีเมีย โรคเลือด โรคไต ฯลฯ
- ผู้สูงอายุ ที่มีโรคประจำตัวร่วมหลายโรค และมีภูมิต้านทานต่ำ
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน
หากใครที่ต้องการขอคำปรึกษา รักษาโรคไข้เลือดออก หรือ ต้องการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ฮักษา คลินิก ทุกสาขา
โทร. 096-696-1999
LINE : @hugsa
Facebook : HUGSAMedical
HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ