ตอบทุกคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคหัวใจ | Hugsa Medical Clinic
โรคหัวใจ หนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยและไม่ว่าใครๆ ก็คุ้นเคยกับชื่อนี้เป็นอย่างดี แต่เชื่อหรือไม่ว่าน้อยคนที่จะเข้าใจรายละเอียดของโรคหัวใจได้อย่างเจาะลึกมากกว่า ทั้งในด้านของสาเหตุการเกิดโรคหัวใจ การดูแลและป้องกัน รวมไปถึงแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งหลายคนมักมีคำถามเกี่ยวกับโรคหัวใจที่แตกต่างกันไป อีกทั้งยังเป็นกังวลกับภาวะเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เกิดโรคหัวใจได้ในอนาคต ดังนั้นเพื่อการรับมือได้อย่างเหมาะสมทั้งกับตนเองและคนในครอบครัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ บทความนี้ Hugsa จึงได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคหัวใจมาให้ได้ทำความเข้าใจได้กระจ่างมากยิ่งขึ้น
ถาม : โรคหัวใจคืออะไร?
ตอบ : โรคหัวใจ หรือ Heart Disease คือ กลุ่มภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อหัวใจหรือหลอดเลือดที่เชื่อมต่อกับหัวใจมีการทำงานที่ผิดปกติ โดยที่โรคหัวใจมีด้วยกันหลายประเภท เช่น โรคลิ้นหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคติดเชื้อบริเวณหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน เป็นต้น อย่างไรก็ตามในประเทศไทยพบโรคหลอดเลือดหัวใจได้บ่อยที่สุดจาก ซึ่งจากการรายงานของกระทรวงสาธารณสุขปี 2565 พบว่าเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตมากถึง ชั่วโมงละ 8 ราย โดยคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ อย่างต่อเนื่อง
ถาม : อาการของโรคหัวใจเป็นอย่างไร?
ตอบ : อาการของโรคหัวใจจะมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจนั้นๆ ทั้งนี้สามารถสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะโรคหัวใจได้จากอาการคร่าวๆ ดังต่อไปนี้
เจ็บหน้าอกผิดปกติ
อาการเจ็บหน้าอก 3 ลักษณะที่เตือนว่าอาจมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คือ เจ็บหรือแน่นหน้าอกบริเวณกลางอก คล้ายมีอะไรมาทับจนปวดร้าวไปถึงกราม ไหล่ แขน หรือลิ้นปี่
ต่อมาคืออาการเจ็บหรือแน่นหน้าอกเมื่อร่างกายมีการออกแรง สุดท้ายคืออาการเจ็บหรือแน่นหน้าอกแต่อาการจะดีขึ้นเมื่อได้นั่งพัก
หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น
อาการของโรคหัวใจมักพบว่ามีภาวะใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ โดยสามารถแบ่งได้ตามตำแหน่งที่เกิดขึ้น คือ
- หัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดจังหวะ เนื่องจากกระแสไฟฟ้าหัวใจเพิ่มขึ้นทำให้เกิดการลัดวงจรและนำไปสู่อาการหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ พบมากในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจบางชนิด หรือ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
- หัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดจังหวะ เนื่องจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ห้องล่างเกิดความผิดพลาด ส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติจึงไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้
ขาบวม
ผู้ที่เป็นโรคหัวใจมักจะมีอาการขาบวมที่เกิดจากมีเกลือ หรือ โซเดียม และน้ำคั่งอยู่ในร่างกาย เนื่องจากความผิดปกติของภาวะการทำงานของหัวใจด้านขวาทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพ ซึ่งเลือดจากบริเวณขาไม่สามารถไหลไปสู่หัวใจด้านขวาได้ตามปกติ ส่งผลให้บริเวณขามีเลือดค้างมากขึ้น
ร่างกายอ่อนเพลียรู้สึกเหนื่อยง่าย
ร่างกายของผู้ป่วยโรคหัวใจจะเหนื่อยง่ายเมื่อออกแรงมาก ส่งผลให้หายใจเร็วหายใจฮอบเหนื่อย โดยในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักจะมีอาการเหนื่อยในขณะพักร่วมด้วย ซึ่งบางรายอาจมีอาการเหนื่อยมากจนไม่สามารถนอนราบได้ จะต้องนอนศีรษะสูง หรือ นั่งหลับเท่านั้น
มีอาการวูบ หรือ หน้ามืด
อาการวูบ หน้ามืด หมดสติ ตาลาย หรือ หมดสติชั่วขณะ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสมองและหัวใจนั่นเอง
ถาม : สาเหตุของการเกิดโรคหัวใจคืออะไร?
ตอบ : โรคหัวใจมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยเสี่ยงที่หลากหลาย โดยอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน หรือ เกิดจากปัจจัยเดียวก็ได้เช่นกัน ในทางการแพทย์สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจได้หลักๆ คือ
ด้านสุขภาพของหลอดเลือด
หลอดเลือดที่ดีจะส่งผลต่อการส่งผ่านเลือดจากร่างกายไปสู่หัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากพบว่าหลอดเลือดเกิดความผิดปกติมีการตีบตัน อุดตัน จะทำให้เกิดอาการของโรคหัวใจได้ในที่สุด
ด้านระบบการทำงานของหัวใจ
หากพบความผิดปกติในทำงานของหัวใจ จะส่งผลเกิดปัจจัยเสี่ยงรบกวนระบบไหลเวียนของหัวใจ นำไปสู่อาการของโรคหัวใจชนิดต่างๆ ได้
ด้านสุขภาพจิตใจ
สุขภาพจิตที่ดี ไม่มีภาวะความเครียด หรือ ซึมเศร้า จะส่งผลดีต่อการทำงานและความยืดหยุ่นของหลอดเลือดที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปสู่หัวใจทำได้ปกติ ในทางกลับกันหากพบภาวะสุขภาพจิตย่ำแย่ หรือมีความเครียด จะทำให้ความดันสูงขึ้นและหัวใจเต้นเร็ว อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนที่หลั่งออกมาแล้วกระทบต่อหลอดเลือดและหัวใจโดยตรงทำให้หัวใจโตและการบีบตัวลดลง
ด้านพันธุกรรม
สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดโรคหัวใจที่พบได้มาก อาจเกิดได้จากการสืบทอดพันธุกรรมจากครอบครัว เมื่อพบว่ามีคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรคหัวใจเมื่อมีอายุน้อย ทำให้ลูกหลานมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจสูงกว่าบุคคลทั่วไป
ด้านพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ
พฤติกรรมการดูแลสุขภาพร่างกายที่ไม่เหมาะสม เป็นสาเหตุของโรคหัวใจที่พบได้มากในวัยรุ่น จากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์
ถาม : การตรวจโรคหัวใจทำอย่างไร?
ตอบ : การตรวจโรคหัวใจ เป็นวิธีการประเมินสุขภาพและความแข็งแรงของหัวใจ เพื่อให้ทราบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร ทั้งในเรื่องของกล้ามเนื้อหัวใจ โครงสร้างหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ ฯลฯ โดยการเข้ารับการตรวจโรคหัวใจนั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการรู้เท่าทันความเสี่ยงภาวะโรคต่างๆ ในอนาคต หากรู้ได้เร็วย่อมส่งผลดีต่อการรักษาที่ทันท่วงทีได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งการตรวจหัวใจ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ดังนี้
การตรวจหัวใจแบบพื้นฐาน
การตรวจหัวใจเบื้องต้นเพื่อคัดกรองพื้นฐานและประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ เพื่อทำการตรวจแบบละเอียดต่อไป โดยแพทย์จะทำการการซักประวัติ ตรวจสภาพร่างกายทั่วไป ตรวจไขมันในเลือด ตรวจระดับน้ำตาล รวมถึงการเอกซเรย์หัวใจและปอด
การตรวจหัวใจด้วยเครื่องมือพิเศษ
การตรวจหัวใจด้วยการใช้เครื่องมือเฉพาะเพื่อให้ได้ค่าความละเอียดในเชิงลึก ได้แก่
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG หรือ Electrocardiogram
- การตรวจหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง
- การตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน
- การตรวจแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ หรือ Coronary Calcium Score
- ตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง
ถาม : การป้องกันโรคหัวใจมีวิธีการอย่างไร?
ตอบ : โรคหัวใจสามารถป้องกันได้ด้วยการใส่ใจสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดอย่างเหมาะสม ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกายเพราะจะช่วยให้ระบบการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดมีความแข็งแรง และช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ ได้เช่นกัน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสามารถทำได้ง่ายๆ อย่างน้อยวันละ 30 นาทีขึ้นไป เช่น วิ่ง เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือ เล่นกีฬาต่างๆ
ควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ความดันโลหิตสูงคือหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจขึ้น ดังนั้นเพื่อการป้องกันที่ดีควรรักษาระดับความดันโลหิตไม่ให้เกินเกณฑ์ โดยการควบคุมอาหารที่มีไขมันสูง ลดการบริโภคเกลือ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
น้ำหนักตัวเกินส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือกได้ ดังนั้นควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ด้วยการใส่ใจในการรับประทานอาหารควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย
งดสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ จึงควรลด เลิก หรืองดสูบบุหรี่เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น
ลดความเครียด
ภาวะเครียดส่งผลต่อระบบการทำงานของหัวใจและสุขภาพร่างกายได้ ดังนั้นการจัดการกับความเครียดคือสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกสมาธิ หรือทำกิจกรรมผ่อนคลายต่างๆ
ตรวจสุขภาพหัวใจอย่างสม่ำเสมอ
การป้องกันโรคหัวใจที่ดีนอกจากการดูแลสุขภาพอย่างดีแล้ว การตรวจสุขภาพหัวใจอย่างสม่ำเสมอคือแนวทางป้องกันที่ควรทำควบคู่ไปด้วยเช่นกัน เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันสุขภาพหัวใจและช่วยให้การรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โรคหัวใจคือหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย ดังนั้นการหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพหัวใจในทุกเพศทุกวัยจึงเป็นสิ่งที่ควรทำก่อนที่จะสายเกินแก้ ซึ่งคำตอบที่เราได้รวบรวมมาในบทความนี้ครอบคลุมข้อสงสัยโดยพื้นฐานเกี่ยวกับโรคหัวใจไม่น้อย หากท่านใดที่สนใจปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันโรคหัวใจอย่างมีประสิทธิภาพ หรือ ต้องการรักษาโรคหัวใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ฮักษาคลินิก
เบอร์โทร : 096-696-1999
LINE : @hugsa
Facebook : HUGSAMedical
HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ