ฝีดาษลิง

ฝีดาษลิง โรคระบาดใหม่ใกล้ตัวคุณ ควรป้องกันอย่างไรในปี 2024

ฝีดาษลิง โรคระบาดใหม่ใกล้ตัวคุณ ควรป้องกันอย่างไรในปี 2024

โรคฝีดาษลิง เป็นโรคระบาดที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การจับตามองและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เนื่องจากมีการระบาดของโรคไปแล้วถึง 75 ประเทศ แต่ด้วยการแพร่ระบาดที่ไม่ได้รวดเร็วหรือเป็นวงกว้างแบบโรคโควิด – 19 อีกทั้งยังไม่มีการระบาดมาถึงประเทศไทย ทำให้ไม่มีการตื่นตัวและรายงานในประเทศกันมากเท่าไรนัก จนกระทั่งวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ทางกรมควบคุมโรคแห่งประเทศไทย ก็ได้ออกมาแถลงว่ามีผู้ป่วยต้องสงสัยว่าเป็นโรคฝีดาษลิงรายแรกในไทย พร้อมกับที่องค์การอนามัยโลกก็ออกมาประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกเช่นกัน โรคฝีดาษลิงจึงได้กลายเป็นโรคระบาดใหม่ที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของคนไทยอีกต่อไป

โรคฝีดาษลิง ระบาดมาจากไหน 

โรคฝีดาษลิง หรือโรคฝีดาษวานร มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Monkeypox เนื่องจากโรคนี้ถูกค้นพบครั้งแรกจากลิงที่ป่วย ในปี พ.ศ. 2501 ด้วยอาการต่าง ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคฝีดาษในคน (หรือที่รู้จักกันในโรคไข้ทรพิษ) เพียงแต่มีความรุนแรงน้อยกว่า ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 ก็มีผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเป็นครั้งแรก ณ ประเทศคองโก หลังจากนั้นก็พบการติดเชื้อแพร่ระบาดในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก เช่น คองโก กาบอง ไนจีเรีย ไลบีเรีย แคเมอร์รูน เป็นต้น 

จนกระทั่งปี พ.ศ.2546 ก็ได้มีการพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงนอกแอฟริกาเป็นครั้งแรก ด้วยสาเหตุจากการสัมผัสสัตว์ติดเชื้อ (ตัวแพรี่ด็อก) ที่นำเข้ามาจากแอฟริกา ณ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้มีการติดเชื้อแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในชั่วขณะหนึ่ง โดยไม่ทราบจำนวนผู้ป่วยที่ชัดเจน ก่อนที่จะระบาดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2560 โดยพบผู้ติดเชื้อต้องสงสัยจากไนจีเรียกว่า 500 ราย และผู้ติดเชื้อ 200 ราย ด้วยอัตราเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อที่ 3% 

จากนั้นในปี พ.ศ. 2561 ก็ได้มีการพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงอยู่นอกทวีปแอฟริกาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่คาดว่าเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด – 19 มาเยือน มีนโยบายรับมือการระบาดของโควิด – 19 มากมายทั้งการกักตัว เว้นระยะห่าง ไปจนถึงสวมหน้ากากอนามัย จึงมีผลทำให้โรคฝีดาษลิงเองก็ชะลอการแพร่ระบาดไปชั่วขณะหนึ่ง ก่อนจะกลายเป็นการแพร่ระบาดครั้งใหญ่หลังจากเดือนพฤษภาคมของปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งการระบาดในครั้งนี้ถือว่าเป็นการระบาดในวงกว้างยิ่งกว่าที่ผ่าน ๆ มา เนื่องจากมีการพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงไปกว่า 75 ประเทศทั่วโลก 

โรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดได้อย่างไร 

โรคฝีดาษลิง ถูกจัดเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสแบบเดียวกับไข้ทรพิษ เพียงแต่เป็นไวรัสคนละชนิดกัน อีกทั้งลักษะการติดต่อและความรุนแรงของโรคก็มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ซึ่งลักษณะการติดต่อแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง มีดังต่อไปนี้ 

จากสัตว์สู่คน 

โรคฝีดาษลิงนั้นนอกจากลิงตามชื่อของโรคแล้ว สัตว์ฟันแทะและลิงบางประเภทก็ยังสามารถเป็นพาหะนำโรคได้อีกด้วย เช่น หนู กระรอก กระต่าย โดยสามารถติดต่อจาก

  • สัมผัสสารคัดหลั่ง (น้ำหนอง เหงื่อ ละอองจากระบบทางเดินหายใจ ฯลฯ) 
  • สัมผัสเลือด 
  • สัมผัสแผลที่เกิดจากรอยโรค (ตุ่มหนอง สารน้ำในตุ่มหนอง)
  • การรับประทานเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ไม่ปรุงสุก 
  • ถูกสัตว์ติดเชื้อกัดหรือข่วน 

จากคนสู่คน 

โรคฝีดาษลิงนั้นก็สามารถติดต่อจากผู้ติดเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้เช่นกัน โดยสามารถติดต่อจาก 

  • สัมผัสสารคัดหลั่ง (น้ำหนอง เหงื่อ ละอองจากระบบทางเดินหายใจ ฯลฯ)
  • สัมผัสเลือด 
  • สัมผัสแผลที่เกิดจากรอยโรค (ตุ่มหนอง สารน้ำในตุ่มหนอง) 
  • การสัมผัสผู้ติดเชื้อโดยตรง 
  • การสัมผัสสิ่งของของผู้ติดเชื้อ หรือของใช้ที่มีสารคัดหลั่ง 
  • การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ 
  • การติดต่อจากแม่สู่ลูกในครรภ์ 

โดยสรุปแล้ว โรคฝีดาษลิงนั้นสามารถติดต่อกันได้อย่างง่ายดายผ่านทางการสัมผัสตัวผู้ติดเชื้อ หรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนของผู้ติดเชื้อ แต่จะไม่ติดต่อกันผ่านทางการจาม ไอ การอยู่ใกล้ชิด หรืออยู่ใต้ชายคาเดียวกันแบบเดียวกับโควิด – 19 ซึ่งโรคฝีดาษลิงจะมีระยะเวลาฟักตัวของเชื้ออยู่ที่ 5 – 20 วันหลังจากติดเชื้อ 

วิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง ในปี 2024 

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ว่าโรคฝีดาษลิงกำลังคืบคลานเข้ามาเป็นภัยใกล้ตัวของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าโรคฝีดาษลิงจะจัดเป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับไข้ทรพิษ แต่วัคซีนสำหรับป้องกันไข้ทรพิษก็ป้องกันโรคฝีดาษลิงได้เพียงแค่ 85% อีกทั้งทางองค์การอนามัยโลกก็ได้ยุติการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษไปตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2523 อีกด้วย 

ในปัจจุบันทางเราจึงต้องป้องกันตัวเองจากโรคฝีดาษลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน ผู้สูงอายุ และเด็กอายุน้อย ที่โรคฝีดาษลิงอาจเข้ามากล้ำกรายทำอันตรายได้ง่ายดายยิ่งกว่าบุคคลทั่วไป 

วิธีการป้องกันโรคฝีดาษลิง 

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง แผล หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่อาจเป็นพาหะของโรคฝีดาษลิง
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง แผล หรือตุ่มหนองของผู้ติดเชื้อ 
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ติดเชื้อ
  4. หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ต้องสงสัย และเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ 
  5. หากเกิดการสัมผัสกับสัตว์ที่อาจเป็นพาหะของโรค ผู้ติดเชื้อ หรือสิ่งของของผู้ติดเชื้อ ให้รีบล้างมือด้วยสบู่สำหรับฆ่าเชื้อหรือเจลแอลกอฮอล์  
  6. หากเป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศสุ่มเสี่ยง หรือมีการสัมผัสกับสัตว์ในเขตติดเชื้อ ควรเฝ้าระวังอาการภายในระยะเวลา 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยควรรีบเข้าพบแพทย์แล้วแจ้งให้ทราบถึงสาเหตุโดยเร็ว ซึ่งอาการของโรคฝีดาษลิง สามารถตรวจสอบได้ในหัวข้อถัดไป 

อาการของโรคฝีดาษลิง ที่ควรเฝ้าระวัง

อาการของโรคฝีดาษลิงนั้นสามารถแบ่งออกได้ 2 ระยะ ตามการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในร่างกาย ดังต่อไปนี้ 

ระยะแรก (ระยะเชื้อลุกลาม ใช้เวลา 1 – 5 วัน)

  • มีอาการไข้ 
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • ปวดหลัง
  • มีอาการอ่อนเพลีย 
  • ต่อมน้ำเหลืองโต (เช่น บริเวณโพรงจมูก ปาก หู ทอนซิลบริเวณลำคอ เป็นต้น) 

ระยะผื่น (ใช้เวลา 1 – 3 วันหลังจากมีไข้) 

  • มีตุ่มเล็ก ๆ คล้ายผื่นขึ้นตามตัว มักพบได้ในบริเวณมือ เท้า เยื่อบุในช่องปาก อวัยวะเพศ เยื่อบุตาขาว และกระจก 
  • ภายในตุ่มนั้นจะมีน้ำใสอยู่ภายใน รู้สึกคัน หรือแสบร้อน
  • จากนั้นตุ่มใสจะกลายเป็นหนอง หากอาการรุนแรงขึ้น ตุ่มหนองจะแตกและแห้งไปเองโดยธรรมชาติ 
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน เจ็บคอ ไอ เหนื่อยหอบ เพลียร่วมด้วย 

สำหรับบุคคลทั่วไป หากติดเชื้อหรือป่วยเป็นโรคฝีดาษลิงแล้ว ก็สามารถที่จะหายได้เองเมื่อระยะเวลาผ่านไป อีกทั้งเมื่อหายจากโรคและพ้นจากภาวะฝีแล้ว ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ เชื้อไวรัสในร่างกายจะสลายหายไปเองและจะไม่มีทางแพร่โรคให้กับผู้อื่นต่อได้โดยเด็ดขาด 

แต่ถึงอย่างนั้นสำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีโรคประจำตัว เชื้อโรคฝีดาษลิงอาจไปกระตุ้นให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือส่งผลให้อาการรุนแรงมากขึ้น จนสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จึงยังเป็นโรคระบาดที่ควรระวังและป้องกันไม่ให้คนที่คุณรักต้องเผชิญกับอันตราย  

นอกจากนี้โรคไข้ทรพิษเองก็เป็นโรคที่มนุษย์ต่อสู้พยายามมาเป็นระยะเวลากว่าพันปี แม้จะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ในที่สุดโรคไข้ทรพิษก็ได้หายไปจากโลกได้โดยสิ้นเชิง โดยประเทศไทยเราเองก็ได้มีการยุติการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2565 เนื่องจากโรคไข้ทรพิษได้หมดสิ้นไปจากโลกอย่างสมบูรณ์แล้ว 

ถึงแม้ว่าตอนนี้เชื้อไวรัสจะกลับมาหาเราในอีกครั้งด้วยชื่อของโรคฝีดาษลิง แต่ถ้าหากพวกเราทุกคนร่วมแรงร่วมใจป้องกันตัวและให้ความร่วมมือกับทางการแพทย์ เมื่อระยะเวลาผ่านไปมนุษย์เราก็สามารถที่จะเอาชนะได้อีกครั้งอย่างแน่นอน สำหรับใครที่กำลังมองหาสถานที่ฝากสุขภาพ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ หรือต้องการฝากชีวิตตนเองและคนที่คุณรักเอาไว้ในมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถไว้ใจได้ สามารถมองหาได้ที่ ฮักษาคลินิก คลินิกใกล้บ้าน ที่พร้อมจะให้บริการคุณด้วยใจ

เบอร์โทร : 096-696-1999

LINE : @hugsa

Facebook : HUGSAMedical

HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ