อหิวาตกโรค กลับมาระบาดอีกแล้ว ควรป้องกันและทำตัวอย่างไร?

อหิวาตกโรค กลับมาระบาดอีกแล้ว ควรป้องกันและทำตัวอย่างไร?

         ครั้งหนึ่งในอดีต อหิวาตกโรค ถือว่าเป็นโรคระบาดใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็นยุโรป อเมริกา แอฟริกา หรือเอเชีย ก็ต่างต้องประสบพบเจอกับโรคร้ายนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่เมื่อยุคสมัยค่อย ๆ ผ่านไป ผู้คนเริ่มมีความรู้ทางด้านสุขอนามัย และสาธารณสุขต่าง ๆ ก็ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ ทำให้อหิวาตกโรคค่อย ๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนและถูกกล่าวถึงเพียงแค่ในประวัติศาสตร์ แต่แล้ว หลังจากที่สาธารณสุขของเราเอาชนะอหิวาตกโรคมาได้ถึง 29 ปีเต็ม ในปี พ.ศ.2565 ก็ได้มีผู้ป่วยอหิวาตกโรคปรากฏขึ้นมาอีกครั้งที่เลบานอน จนกลายเป็นการแพร่ระบาดขึ้นมาในปัจจุบัน

อหิวาตกโรคในปัจจุบันสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง?  

        หลังจากเกิดการระบาดหนักที่เลบานอนแล้ว อหิวาตกโรคก็แพร่ระบาดหนักในแถบแอฟริกา ตัวอย่างเช่น รัฐไนจีเรีย ที่มีผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้ออหิวาตกโรคมากกว่าหมื่นคน และผู้เสียชีวิตอีกหลายร้อยคนในช่วงต้นปี พ.ศ.2567 แล้วในที่สุดก็คืบคลานข้ามมหาสมุทรอินเดียเข้ามาสู่ทวีปเอเชียอย่างช้า ๆ

        จนกระทั่งช่วงปลายปี พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา ทาง ‘เมียนมา’ หรือประเทศพม่าข้างเคียงของเรา ก็ได้พบผู้ติดเชื้ออหิวาตกโรคมากถึง 300 ราย และผู้เสียชีวิต 2 รายในเมืองหลวงย่างกุ้ง ทำให้อหิวาตกโรคไม่ใช่โรคที่จะอยู่ไกลตัวของเราอีกต่อไป ซึ่งทางสาธารณสุขและกรมควบคุมโรคแห่งประเทศไทย ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งกำชับเฝ้าระวังจังหวัดพรมแดน ที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มงวดถึงอย่างนั้น อำเภอระมาดของจังหวัดตาก ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับเมืองฉ่วยโก๊โก่ของประเทศเมียนมา ก็ได้ปรากฏผู้ติดเชื้ออหิวาตกโรคแล้ว แม้ว่าจะถูกเฝ้าระวังจนไม่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง แต่ทางสาธารณสุขก็ยังคงทำการตรวจผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อและควบคุมโรคอย่างเข้มงวด

        สถานการณ์ล่าสุดของการแพร่ระบาดอหิวาตกโรคในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2567 จึงมียอดผู้ป่วยอหิวาตกโรคเพียง 11 รายเท่านั้น และยังไม่พบผู้ที่เสียชีวิตอีกด้วยดังนั้นแล้ว ต่อให้ทาง WHO (องค์การอนามัยโลก) จะออกมาประกาศตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2568 ว่าอหิวาตกโรคคือภาวะฉุกเฉินครั้งใหญ่ เนื่องจากการแพร่ระบาดและยอดผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากทั่วทุกมุมโลก แต่ทางสาธารณสุขและกรมควบคุมโรคแห่งประเทศไทยก็ได้ออกมากล่าวว่า เป็นเพียงมาตรการยกระดับให้คนทั้งโลกตื่นรู้และเฝ้าระวังอหิวาตกโรคของ WHO เท่านั้น พวกเราชาวไทยจึงไม่ควรตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุไป แล้วใช้ชีวิตตามหลักความปลอดภัย ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงและควบคุมอหิวาตกโรคได้สำเร็จ อย่างที่เคยทำมาแล้วในอดีตรวมถึงผู้ที่ใช้ชีวิตหรืออยู่ในแวดวงที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้ออย่างหลีกเลี่ยงก็ได้มีการแจกวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคแล้ว

อหิวาตกโรค เป็นโรคระบาดที่มีความร้ายแรงมากเพียงใด?

        อาการของผู้ป่วยอหิวาตกโรค

        อหิวาตกโรคหรือชื่อทางการแพทย์คือ Cholera เป็นโรคที่ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของโรคติดต่อหรือโรคที่สามารถแพร่ระบาดได้ โดยอหิวาตกโรคนี้เกิดจากแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Vibrio cholerae เมื่อเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์แล้ว จะเข้าไปทำให้เกิดอาการอักเสบที่กระเพาะและลำไส้ แล้วกลายเป็นอาการดังต่อไปนี้

    • อาการถ่ายเหลวปริมาณมาก
    • อุจจาระมีลักษณะขาวขุ่น คล้ายน้ำซาวข้าว และมีกลิ่นคาวร่วมด้วย
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • การอ่อนเพลีย กระหายน้ำ หรือปากแห้ง เนื่องจากภาวะขาดน้ำ
    • ช็อกหรือหมดสติ

        โดยอาการของอหิวาตกโรคนั้น ค่อนข้างที่จะคล้ายคลึงกับภาวะอาหารเป็นพิษ หรือท้องเสียจากการกินของแสลงทั่วไป ทำให้หลายคนชะล่าใจ แล้วไม่คาดคิดว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นโรคเก่าที่เคยพบเจอในประวัติศาสตร์อย่างอหิวาตกโรคได้ ดังนั้นหากคุณมีอาการดังกล่าว หรือคนใกล้ตัวมีอาการต้องสงสัยว่าจะเป็นอหิวาตกโรค ให้วิเคราะห์แยกแยะเบื้องต้นได้ ดังต่อไปนี้

  • อหิวาตกโรค  มีอาการถ่ายเหลวรุนแรง อุจจาระเป็นสีขาวขุ่น คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย และกระหายน้ำ
  • โรคอาหารเป็นพิษ  มีอาการถ่ายเหลวเป็นระยะ อาเจียนติดต่อกัน ปวดท้อง มีไข้สูง รวมไปถึงกล้ามเนื้ออ่อนแรงและอาจหายใจลำบาก

        

ซึ่งผู้ป่วยอหิวาตกโรคบางคนอาจจะมีปวดท้องหรือเป็นไข้อยู่บ้าง แต่ก็สามารถพบได้น้อยถึงน้อยมาก ถ้าหากคุณมีอาการถ่ายเหลว แต่ไม่มีอาการปวดท้อง ไม่มีไข้ หากรักษาเบื้องต้นเพื่อแก้อาการท้องเสียแล้วอาการไม่มีทีท่าจะทุเลา ขอแนะนำให้คุณรีบไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล โดยบอกอาการต่าง ๆ และสาเหตุให้ครบถ้วน

        ความรุนแรงของอหิวาตกโรค

        สำหรับความรุนแรงของอหิวาตกโรคนั้น จะไม่ค่อยมีความรุนแรงหรือเจ็บปวดมากนัก แต่ถ้าหากปล่อยให้เกิดการถ่ายเหลวเรื่อย ๆ โดยไม่ได้รับสารน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยช็อก หมดสติจากอาการขาดน้ำรุนแรง จนถึงก่อให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ป่วยเป็นเด็กเล็ก อหิวาตกโรคจะทวีคูณความรุนแรงยิ่งขึ้น แม้ว่าปัจจุบันเราจะมีสาธารณูปโภคเพียบพร้อมกว่าในอดีต แต่อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยอหิวาตกโรคจะอยู่ที่ 50% อยู่ดี แต่ถ้าหากอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาล ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยอหิวาตกโรคจะเหลือเพียง 1% เท่านั้น ดังนั้นยิ่งเข้ารับการรักษาเร็วเท่าไร ผู้ป่วยอหิวาตกโรคก็จะยิ่งสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้เร็วขึ้นเท่านั้น

        แนวทางป้องกันและระวังตัวจากอหิวาตกโรค

        อหิวาตกโรคนั้น ถึงจะถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของโรคติดต่อก็จริง แต่การติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์ มักจะเกิดจากการรับประทานร่วมกัน ใช้แก้วน้ำ ช้อนส้อม หรือไม่ใช้ช้อนกลางตักอาหาร ไม่ได้เป็นโรคที่จะติดต่อกันผ่านการหายใจในพื้นที่เดียวกัน ไม่ได้ติดต่อกันผ่านทางการไอหรือจามได้ ดังนั้น ขอแค่เพียงคุณป้องกันตัวเองและคนรอบตัวให้ดี อหิวาตกโรคก็ไม่สามารถที่จะแพร่ระบาดเป็นวงกว้างได้อย่างโควิด – 19 แล้ว

        ซึ่งถ้าคุณอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือต้องการจะปกป้องคนที่คุณรัก สามารถทำตามแนวทางได้ ดังต่อไปนี้

   1. กินร้อน

        การรับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอหิวาตกโรคได้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ โดยไม่มีการรับประกันความสะอาด อาหารหมักดอง อาหารที่มีแมลงวันตอม หรืออาหารที่ทิ้งไว้ระยะเวลานานแล้ว

   2. ช้อนกลาง

        เมื่อมีการรับประทานอาหารร่วมกันในครอบครัว หรือนอกสถานที่ ควรที่จะใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร หลีกเลี่ยงการใช้ช้อนส้อม จาน ชาม แก้วน้ำ หรือหลอดดูดอันเดียวกัน

   3. ล้างมือ

        การล้างมือด้วยน้ำสบู่ก่อนทานอาหาร หรือหลังเข้าห้องน้ำตามหลักมาตรฐานสากล ไม่เพียงแต่จะป้องกันคุณจากเชื้ออหิวาตกโรคแล้ว ยังสามารถป้องกันโรคโควิด – 19 โนโรไวรัส และโรคอื่น ๆ ได้อีกมากมายเลย จึงควรที่จะให้ความสำคัญกับการล้างมือด้วยน้ำสบู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสบู่ที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้  

   4. ดื่มน้ำสะอาด

        เชื้อแบคทีเรียของอหิวาตกโรคมักจะปนเปื้อนมากับน้ำเป็นส่วนใหญ่ แต่คุณก็สามารถที่จะป้องกันได้ด้วยการดื่มน้ำที่ผ่านการกรอง ต้มสุก หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถกำจัดเชื้อโรคปนเปื้อนในน้ำดื่ม รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำจากแก้วน้ำ ขวดน้ำ หรือภาชนะที่ถูกทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานด้วย

   5. ใช้สุขาภิบาลที่ปลอดภัย

        อหิวาตกโรคสามารถปนเปื้อนมากับการขับถ่ายและอุจจาระได้ด้วยเช่นกัน จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ห้องน้ำสาธารณะที่ดูสกปรกหรือไม่มีการทำความสะอาดมาเป็นระยะเวลานาน รวมถึงควรจะดูแลสุขอนามัยของห้องน้ำในบ้านตนเองให้ดีด้วย แล้วจะสามารถลดการติดเชื้ออหิวาตกโรคได้อย่างทั่วถึง

   6. ล้างผักและผลไม้ที่ซื้อมาทุกครั้ง

        เชื้ออหิวาตกโรคเองก็สามารถตกค้างอยู่บนผักหรือผลไม้ได้ ถ้าหากผักหรือผลไม้ที่ซื้อมาใช้น้ำที่ปนเปื้อนในการล้างเบื้องต้นหรือรดน้ำผักและผลไม้ ดังนั้นเมื่อซื้อผักและผลไม้มาจากแหล่งแล้ว จึงควรที่จะล้างทำความสะอาดให้ถูกวิธีก่อนจะทำอาหารหรือรับประทาน

        สุดท้ายนี้ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการคิดค้นวัคซีนเพื่อป้องกันอหิวาตกโรคขึ้นมาแล้ว แต่วัคซีนนี้ก็ไม่สามารถใช้ได้โดยทั่วไป จึงมีไว้เพื่อผู้คนที่กำลังทำงานหรืออาศัยอยู่ในเขตระบาดของอหิวาตกโรคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เท่านั้น อีกทั้งผู้ที่รับวัคซีนไปแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะติดเชื้ออหิวาตกโรคได้อยู่ดี เพียงแค่จะทุเลาความรุนแรงของโรคลงไปเท่านั้น ทาง ฮักษาคลินิก จึงขอแนะนำให้ทุกท่านปฏิบัติตัวตามแนวทางป้องกันข้างต้นอย่างเคร่งครัด หากทำตามข้อปฏิบัติเหล่านั้นจนกลายเป็นกิจวัตรแล้ว รับรองได้เลยว่าทุกท่านจะปลอดภัยจากอหิวาตกโรคไปเอง โดยไม่จำเป็นต้องรับวัคซีนหรือเข้าสถานพยาบาลใด ๆ ให้วุ่นวาย และในที่สุดก็จะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ไปได้อย่างง่ายดายเหมือนอหิวาตกโรคในอดีต

เบอร์โทร : 096-919-4942

LINE : @hugsa

Facebook : HUGSAMedical

HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ