อันตรายของ Food Intolerance โรคภูมิแพ้อาหารแฝง

อันตรายของ Food Intolerance โรคภูมิแพ้อาหารแฝง

 

ทราบหรือไม่ว่า? จากสถิติ 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าคนไทยป่วยเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้น 3-4 เท่า ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลากหลายปัจจัยที่หลายคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เช่น แพ้ขนสัตว์ แพ้อากาศ แพ้ฝุ่น ที่นำไปสู่อาการทางผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ ในบทความนี้เราจะเจาะลึกถึงโรคภูมิแพ้อาหารแฝง หรือ Food intolerance หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่สร้างข้อจำกัดให้กับผู้ป่วย ให้ไม่สามารถรับประทานอาหารทุกอย่างได้ตามต้องการ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาหารบางรายอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเลยทีเดียว 

 

Food Intolerance หรือ โรคภูมิแพ้อาหารแฝง คืออะไร?

Food Intolerance คือ ภาวะของร่างกายที่ผิดปกติจากการแพ้อาหารแบบเรื้อรัง ร่างกายจะไม่สามารถย่อยอาหาร หรือ เมตาบอไลท์องค์ประกอบของอาหารได้ปกติ เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคที่มาจากปฏิกิริยาที่เกิดจากอาหาร ซึ่งส่งผลต่อกระเพาะอาหาร ลำไส้ และร่างกายของผู้ป่วย เมื่อรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติ

 

อาการแพ้อาหารแฝงเป็นภาวะที่ไม่รุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท โดยมีอาการที่พบได้บ่อย คือ ปวดหัวเรื้อรัง ปวดไมเกรน ท้องเสีย ท้องอืดท้องเฟ้อ ไอจาม หรือ ผื่นผิวหนัง เป็นต้น จึงทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจและเข้าใจผิดคิดว่าเป็นภาวะโรคอื่นๆ นำไปสู่การรักษาที่ไม่ถูกวิธี นับว่าเป็นโรคที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัวอีกโรคหนึ่ง ที่เมื่อรู้ตัวว่าป่วยก็อาจมีภาวะรุนแรงก่อนการรักษาให้ทันท่วงที

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้อาหารแฝง

โรคภูมิแพ้อาหารแฝง เกิดจากร่างกายสร้าง Immunoglobulin G หรือ IgG ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่งเพื่อต่อต้านอาหารที่ผู้ป่วยรับประทานเข้าไปในร่างกาย โดยภูมิคุ้มกันนี้สร้างกระบวนการทำลายเนื้อเยื่อตามส่วนต่างๆ เนื่องจากเข้าใจผิดว่าอาหารชนิดนั้นๆ เป็นสิ่งแปลกปลอม ทั้งนี้กระบวนการทำลายที่เกิดขึ้นจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป หากผู้ป่วยยังคงทานอาหารชนิดนั้นๆ อยู่ร่างกายจะเสียหายเพิ่มมากขึ้นและแสดงอาการให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาหารแฝงจะมีอาการตามส่วนต่างๆ แตกต่างกันออกไป

 

โรคภูมิแพ้อาหารแฝง กับ โรคภูมิแพ้อาหาร แตกต่างกันอย่างไร?

แน่นอนว่าหลายๆ คนต้องเกิดความสงสัยว่าโรคภูมิแพ้อาหารแฝง ที่กล่าวมานั้น มีความเหมือนหรือแตกต่างกับโรคภูมิแพ้อาหารที่เราคุ้นเคยกันหรือไม่อย่างไร เบื้องต้นเพื่อให้เข้าใจได้กระจ่างมากขึ้น เราสามารถแบ่งความต่างได้ดังนี้ คือ โรคภูมิแพ้อาหารแฝง (Food Intolerance) เป็นอาการแพ้ชนิดเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ไม่มีอาการแสดงให้เห็นรุนแรงและไม่อันตรายถึงชีวิตในเวลาอันสั้น แต่ในส่วนของโรคภูมิแพ้อาหาร หรือ Food Allergy เป็นอาการแพ้ที่เกิดขึ้นทันที หรือ เกิดขึ้นภายในเวลาอันสั้นหลังจากที่รับประทานอาหาร ชนิดนั้นเข้าสู่ร่างกาย หรือ ร่างกายสัมผัสอาหารชนิดนั้นๆ โดยที่อาการของโรคภูมิแพ้อาหารจะส่งผลกับร่างกายได้ทั้งระบบเดียว หรือ หลายระบบพร้อมกันได้ โดยที่ผู้ป่วยจะมีอาการค่อนข้างรุนแรง (Anaphylaxis)

 

ตัวอย่างอาหารที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้อาหารแฝง (Food intolerance)

อาการของโรคภูมิแพ้อาหารแฝงสามารถเกิดขึ้นได้จากอาหารทุกชนิด โดยเกิดได้ทั้งจากอาหารที่ผู้ป่วยรับประทานเป็นประจำ หรือ อาหารที่ไม่เคยรับประทานมาก่อน ซึ่งตัวอย่างอาหารที่ก่อให้เกิดโรคที่ได้พบบ่อย เช่น

  • ผลิตภัณฑ์จากนม : นม เนย ครีม ชีส โยเกิร์ต เวย์ 
  • เมล็ดธัญพืช (ที่มีกลูเตน) : ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์ ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต
  • ถั่ว : อัลมอนด์ วอลนัท ฮาเซลนัท พีแคน ถั่วลิสง
  • จำพวกเมล็ด : มะม่วงหิมพานต์ เมล็ดทานตะวัน มะพร้าว งา เมล็ดป่าน แห้ว เรปซีด
  • เนื้อสัตว์ : เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อเป็ด
  • อาหารทะเล : กุ้ง หอย ปู ปลา สาหร่าย หมึก แมงกะพรุน
  • สมุนไพร หรือ เครื่องเทศ : เครื่องแกงต่างๆ กระเทียม เมล็ดผักชี ใบโหระพา ผักชี พริกแดง ขิง
  • อาหารกลุ่มอื่น : เห็ด ยีสต์ ชาเขียว กาแฟ น้ำผึ้ง ผงวุ้น

 

โรคภูมิแพ้อาหารแฝงมีอาการอย่างไร?

Food Intolerance ผู้ป่วยจะมีอาการแพ้แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น เนื่องจากผลกระทบของ IgG ที่ต่อต้านอาหารชนิดนั้นๆ ที่ผู้ป่วยได้รับประทานเข้าสู่ร่างกาย  โดยลักษณะอาการที่มักพบได้ในโรคภูมิแพ้อาหารแฝงมีดังต่อไปนี้

  • ปวดไมเกรน ปวดศีรษะเรื้อรัง
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล (เรื้อรัง)
  • ผื่นลมพิษเรื้อรัง (ไม่ทราบสาเหตุ)
  • สิว (เรื้อรัง)
  • ท้องผูก แน่นท้อง มีแก๊สในกระเพาะ
  • ท้องเสีย
  • ลำไส้อักเสบ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • รูมาตอยด์ ข้ออักเสบ
  • ขอบตาดำ มีถุงใต้ตา
  • มีภาวะสมาธิสั้น

 

ขั้นตอนการตรวจหาโรคภูมิแพ้อาหารแฝง

การตรวจหาโรคภูมิแพ้อาหารแฝงนั้นแพทย์จะเริ่มต้นจากการซักถามประวัติสุขภาพเบื้องต้น รวมถึงตรวจร่างกายทั่วไป และหลังจากนั้นแพทย์จะทำการเจาะเลือดเพื่อทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยผู้เข้ารับการตรวจไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร และไม่มีความจำเป็นต้องงดยาแก้แพ้จำพวกแอนตี้ฮิสทามีนก่อนการตรวจ เพียงแค่นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และควรสวมเสื้อที่สะดวกต่อการถอดบริเวณข้อพับแขนเพื่อทำการเจาะเลือดได้ ซึ่งจะใช้เวลาในการวิเคราะห์ผลเลือดประมาณ 2-3 วัน จึงจะนัดผู้ป่วยมาฟังผลตรวจอีกครั้ง โดยจะได้ผลการตรวจแสดงถึงระดับ

อาการภูมิแพ้อาหารแฝงที่แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้ 

  • ระดับสูง หรือ สีแดง แสดงถึงร่างกายมีการสร้าง IgG ในระดับที่สูง หากผู้ป่วยมีการรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ จะส่งผลให้เนื้อเยื่อในร่างกายเกิดการอักเสบ แพทย์จะแนะนำให้งดรับประทานอาหารชนิดนั้นๆเป็นระยะเวลา 3-6 เดือน
  • ระดับปานกลาง หรือ สีเหลือง แสดงถึงร่างกายมีการสร้าง IgG ในระดับปานกลาง ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ ได้สัปดาห์ละครั้ง โดยที่แพทย์จะแนะนำให้หมุนเวียนชนิดอาหารในช่วง 3 เดือนหลังจากทราบผลการตรวจ เพื่อเป็นการป้องกันการลุกลามไปสู่อาการแพ้เพิ่มขึ้นในระดับสีแดงนั่นเอง
  • ระดับปกติ หรือ สีเขียว แสดงถึงไม่มีอาการแพ้อาหารแต่อย่างใด สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ทั้งนี้แพทย์จะแนะนำให้รับประทานอาหารที่หลากหลายและมีปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรรับประทานอาหารประเภทเดิมๆ ติดต่อกัน เนื่องจากอาจส่งผลทำให้เกิดอาการแพ้ในอนาคตได้

เมื่อแพทย์นัดฟังผลการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงจะได้รับสมุดแสดงผลตรวจ และแผ่นการ์ดระบุรายชื่ออาหารที่มีอาการแพ้แฝงของตนเอง เพื่อให้ทราบถึงชนิดอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

 

แนวทางดูแลตนเองเมื่อทราบว่าเป็นภูมิแพ้อาหารแฝง

เมื่อตรวจพบว่ามีภาวะโรคภูมิแพ้อาหารแฝงแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดอาการ ตามคำแนะนำของแพทย์ที่กล่าวไว้ข้างต้นตามระดับสีของผลตรวจ รวมไปถึงในระหว่างชีวิตประจำวันผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตตนเองว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรืออาการมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างไรบ้าง หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงควรรับพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อรับการรักษาตามอาการของการแพ้และตรวจหาอาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้อาหารแฝงต่อไป

 

ทำไมต้องตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง   

  • ทราบถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ที่แท้จริง
  • ช่วยในการวางแผน การปฏิบัติตัว ในการเลือกรับประทานอาหารได้อย่างเหมาะสม
  • สามารถดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองได้ดีมากยิ่งขึ้น

 

โรคภูมิแพ้อาหารแฝงสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?

เนื่องจากโรคภูมิแพ้อาหารแฝง (Food Intolerance) เกิดจากการกระตุ้นจากอาหารชนิดนั้นๆ แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แนวทางการรักษาให้หายขาดจึงเป็นการ งดรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน หลังจากนั้นสามารถกลับมารับประทานได้แต่ต้องทีละน้อย ไม่ควรรับประทานมากเกินไป เนื่องจากอาจทำให้อาการภูมิแพ้กลับมากำเริบได้ รวมถึงควรรับประทานอาหารให้มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่รับประทานอาหารเดิมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็จะสามารถช่วยลดการเกิดโรคภูมิแพ้อาหารแฝงได้

 

เพราะในร่างกายของคนเรามีการตอบสนองต่ออาหารที่แตกต่างกัน ดังนั้นการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง จะช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้มากขึ้น หากไม่หมั่นสังเกตตนเองและชะล่าใจต่อภาวะผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารชนิดเดิมซ้ำๆ อาจส่งผลต่อร่างกายมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ จึงควรรู้จักร่างกายของตนเองให้มากที่สุด เพื่อการดูแลสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

สำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษา หรือ ต้องการตรวจหาโรคภูมิแพ้อาหารแฝง (Food Intolerance) สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ ฮักษาคลินิก 

เบอร์โทร : 096-696-1999

LINE: @hugsa

Facebook : HUGSAMedical

 

HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ