โรคพาร์กินสัน หรือ Parkinson’s disease คือโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง ในส่วนของระบบประสาทส่วนที่ทำการสร้างโดพามีน (Dopamine) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีปริมาณโดพามีนลดน้อยลง จนเกิดความผิดปกติในการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำให้มีอาการสั่นเกร็ง และอาการอื่นๆ ซึ่งกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
พาร์กินสันพบได้บ่อยที่สุดในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงสูงถึง 1.5 เท่า โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มีผลร่วม ดังนั้นกรมการแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของโรคพาร์กินสันในผู้สูงอายุมากเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย กระทบต่อคุณภาพชีวิตและจิตใจของผู้ดูแล รวมไปถึงพาร์กินสันยังมีผลต่ออัตราการเสียชีวิตในผู้สูงอายุอีกด้วย
สาเหตุของโรคพาร์กินสันคืออะไร?
สำหรับโรคพาร์กินสันในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อย่างไรก็ตามจากการรวบรวมข้อมูลพบว่ามีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคได้จาก 2 ปัจจัยหลักๆ ดังต่อไปนี้
- ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม : เป็นปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสเกิดโรคพาร์กินสันได้ เนื่องจากการรับสารบางอย่างเป็นเวลานานๆ การสูดดม หรือ การรับประทานอาหารบางชนิด ทั้งนี้ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าสารใดที่มาจากสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลให้เกิดพาร์กินสันได้แน่ชัด ซึ่งแพทย์ทำได้เพียงสันนิษฐานเพื่อทำการรักษาตามอาการต่อไป
- ปัจจัยทางพันธุกรรม : เป็นปัจจัยที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งในผู้สูงอายุที่มียีนผิดปกติอาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสันเพิ่มมากขึ้น
โรคพาร์กินสันมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคพาร์กินสันโดยหลักๆ จะแสดงอาการที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ผิดปกติ (Motor Symptoms) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการสั่นเกร็งทั้งที่อยู่เฉยๆ มีอาการเคลื่อนไหวช้ากว่าปกติ มีอาการร่างกายแข็งเกร็ง ทรงตัวไม่ได้หรือทรงตัวได้ลำบาก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยหกล้มและประสบอุบัติเหตุได้ ในทางการแพทย์เรียกความเสี่ยงเหล่านี้ว่า อาการพาร์กินโซนิซึ่ม
นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันบางรายอาจมีอาการนอกเหนือจากอาการข้างต้นที่ได้กล่าวมา โดยเป็นอาการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวร่างกาย (Non-motor Symptoms) ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนก่อนเข้าสู่โรคพาร์กินสันอย่างเต็มตัว ทางการแพทย์เรียกสัญญาณเตือนนี้ว่า Prodromal symptoms ประกอบด้วยอาการดังต่อไปนี้
- ภาวะซึมเศร้า
- อาการนอนละเมอในตอนกลางคืน
- อาการท้องผูกเรื้อรัง
- อาการลิ้นไม่รับรสอาหาร หรือ อาการจมูกไม่รับกลิ่น
อย่างไรก็ตามไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ผู้ที่มีอาการนอนละเมอทุกรายจะเป็นโรคพาร์กินสันเสมอไป เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่แพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัยเท่านั้น หากอาการโดยรวมของผู้สูงอายุมีประวัติครอบครัวเป็นพาร์กินสันร่วมด้วย อาจมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคพาร์กินสันได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากบริเวณก้านสมองส่วนล่างที่มีหน้าที่ควบคุมการนอนหลับและควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติในการขับถ่ายนั้นเสื่อมลง จึงสามารถบ่งบอกได้ถึงภาวะเสี่ยงต่อโรคพาร์กินสันนั่นเอง ทั้งนี้อาการดังกล่าวอาจเกิดก่อนอาการพาร์กินสันทางการเคลื่อนไหวร่างกายได้นานถึง 6-20 ปี
โรคพาร์กินสันแบ่งออกเป็น 5 ระยะ ดังนี้
พาร์กินสันระยะที่ 1 :
ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันระยะนี้จะมีอาการเริ่มต้นจากการสั่นเมื่อไม่มีการเคลื่อนไหวอวัยวะ มักเกิดบริเวณแขน นิ้วมือ มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อแขน ขา รวมถึงลำตัว
พาร์กินสันระยะที่ 2 :
ผู้ป่วยจะมีอาการลุกลามไปยังอวัยวะอีกข้างอย่างเห็นได้ชัด เคลื่อนไหวช้า มีอาการหลังงอหรือเดินตัวโก่งโน้มไปด้านหน้าพาร์กินสันระยะที่ 3 :
ผู้ป่วยจะเริ่มไม่สามารถทรงตัวได้ปกติ ส่งผลให้ลุกยืนยาก หกล้มได้ง่ายพาร์กินสันระยะที่ 4 :
ผู้ป่วยจะมีอาการสั่นลดลง ร่างกายแข็งเกร็ง เคลื่อนไหวช้าลงกว่าเดิม ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลงและต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อประคองการเคลื่อนไหว การลุกยืน นั่ง เดินพาร์กินสันระยะที่ 5 :
ผู้ป่วยจะไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ด้วยตัวเอง มีอาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง มือเท้าหงิกงอ ไม่สามารถรับประทานอาหารเองได้ ไม่แสดงความรู้สึกทางสีหน้า ส่งผลให้กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงต้องได้รับการดูแลจากคนใกล้ชิดตลอดเวลา และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้
การตรวจวินิจฉัยโรคพาร์กินสันในปัจจุบัน
ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคพาร์กินสันจะใช้แนวทางเดียวกันด้วยการซักประวัติ และการตรวจร่างกาย โดยทางการแพทย์ยังไม่มีแนวทางการตรวจวินิจฉัยที่สามารถตรวจพบพาร์กินสันได้ 100% ทั้งนี้แพทย์จะสังเกตอาการโดยรวมว่ามีความชัดเจนของโรคพาร์กินสันหรือไม่ บางรายอาจต้องใช้วิธีการตรวจเพิ่มเติมกรณีพิเศษด้วยการ ตรวจเลือด การตรวจเอกซเรย์ CT-Scan เพื่อประกอบการวินิจฉัยโดยละเอียดยิ่งขึ้น
แนวทางการรักษาโรคพาร์กินสัน
แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการหยุดยั้งหรือการรักษาโรคพาร์กินสันให้หายขาดได้ แต่มีการควบคุมอาการพาร์กินสันไม่ให้ลุกลามมากขึ้นได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคที่อาจเพิ่มขึ้น ผู้ใกล้ชิดควรหมั่นสังเกตอาการของผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการเข้าข่ายโรคพาร์กินสันให้เข้าพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับอาการมากที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปมีหลักการรักษาผู้ป่วยพาร์กินสันดังนี้
การรักษาโรคพาร์กินสันด้วยยา :
เป็นการรักษาผู้ป่วยตามอาการด้วยการใช้ยาเป็นหลัก ซึ่งใช้ในผู้ป่วยระยะเริ่มต้นและระยะกลาง โดยยาที่แพทย์เลือกใช้จะออกฤทธิ์ในส่วนของระบบโดพามีน อะดรีนาลีน โคลีน และ ซีโรโทนิน เป็นต้น
การรักษาโรคพาร์กินสันด้วยการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก :
Deep Brain Stimulation (DBS) เป็นการรักษาผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีอาการมากขึ้นและการรักษาด้วยยาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร วิธีนี้จะใช้การผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าเพื่อไปกระตุ้นสมองส่วนลึกที่ส่งผลต่ออาการของโรค ช่วยให้ยารักษาออกฤทธิ์ได้อย่างสม่ำเสมอมากขึ้น ลดปริมาณการทานยาลงได้ แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้เป็นเพียงการควบคุมอาการของโรคพาร์กินสันเท่านั้น
การรักษาโรคพาร์กินสันด้วยการทำกายภาพบำบัด และ การออกกำลังกาย
เป็นแนวทางการปรับสมดุลของร่างกายผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ด้วยการออกกำลังกาย หรือ การทำกายภาพบำบัดเพื่อปรับสมดุลสารโดพามีนในสมอง อีกทั้งยังช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายควบคู่กับการรักษาด้วยยา หรือ การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก ตัวอย่างการออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น เดิน ปั่นจักรยาน รำไทเก๊ก และ การเต้นเข้าจังหวะ เป็นต้น
โรคพาร์กินสันเทียม (Pseudo Parkinson) คืออะไร?
ทราบหรือไม่ว่าอาการพาร์กินสันเทียม คือ กลุ่มอาการที่คล้ายกับโรคพาร์กินสัน แต่มีความแตกต่างกันที่สาเหตุของการเกิดโรค โดยมีอาการเคลื่อนไหวช้าลง มีอาการสั่นที่มือขณะเคลื่อนไหว ไม่สามารถควบคุมการกระตุกของกล้ามเนื้อได้ มีปัญหาในการก้าวเดิน มีภาวะกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง เป็นต้น
สาเหตุของการเกิดโรคพาร์กินสันเทียม
พาร์กินสันเทียมมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ คือ การรับยาจิตเวชเป็นระยะเวลานาน และ โรคหรือพยาธิสภาพที่สมองบางอย่าง ซึ่งทั้งสองสาเหตุมีความเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทโดพามีนส่งผลต่อการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายผู้ป่วย ดังนั้นแนวทางการรักษาจึงใช้วิธีการเดียวกับผู้ป่วยพาร์กินสัน แต่การตอบสนองต่อยาอาจไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับผู้ป่วยพาร์กินสัน
อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โรคพาร์กินสัน จึงเป็นอีกหนึ่งโรคอันตรายที่คนรอบข้างผู้สูงอายุควรหมั่นสังเกตอย่างใกล้ชิด หากมีความผิดปกติที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสันควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อทำการรักษาให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างยาวนานมากที่สุด ทั้งนี้ครอบครัวควรทำความเข้าใจอาการของโรคเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อการดูแลที่มีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย
สำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน หรือ ต้องการเข้ารับการตรวจวินิจฉัยภาวะพาร์กินสัน สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ ฮักษาคลินิก
เบอร์โทร : 096-696-1999
LINE: @hugsa
Facebook : HUGSAMedical
HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ