โรคซึมเศร้า อาการทางสุขภาพจิตปัญหาใหม่ของคนรุ่นใหม่
โรคซึมเศร้า หนึ่งในโรคทางสุขภาพจิตที่ได้ยินมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งจากการนำเสนอข่าวด้านสุขภาพ การรณรงค์จากภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสื่อโซเชียลต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงผู้ป่วยที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงระดับโลกมากมาย ส่งผลให้เกิดความสนใจและกลายเป็นโรคที่พบได้มากขึ้นอันเนื่องมาจากภาวะที่ส่งผลให้เกิดความเครียด ความเศร้าหมอง และความผิดหวังต่างๆ ที่ผู้ป่วยต้องเผชิญในชีวิต โดยหลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงภาวะหนึ่งที่อาจหายไปเองเมื่อมีภาวะทางจิตใจดีขึ้น แต่ทราบหรือไม่ว่าหากเกิดภาวะเหล่านี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานและส่งผลต่อการดำเนินชีวิตต่างๆ ให้ไม่เป็นไปตามปกติ อาจบ่งบอกได้ว่ามีภาวะซึมเศร้าที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
โรคซึมเศร้าคืออะไร?
โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder) คือ โรคทางจิตเวชที่เกิดจากความผิดปกติ หรือ ความไม่สมดุลทางสารสื่อประสาทในสมองที่มีด้วยกันทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ โดปามีน ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน โดยส่งผลให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรม อารมณ์ และความรู้สึก เปลี่ยนไปจากปกติ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์อย่างถูกวิธี
สถิติโรคซึมเศร้าในวัยรุ่นไทยปี 2565
โรคซึมเศร้าในวัยรุ่นกลายเป็นหนึ่งในปัญหาทางสุขภาพที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเปิดเผยตัวเลขผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในวัยรุ่น จากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา พบว่าประชากรของไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวน 1,235,335 คน จากทั้งหมด 50,521,654 คน โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยซึมเศร้ามากที่สุด 10 อันดับแรก คือ
- นครราชสีมา 64,928 คน
- เชียงใหม่ 50,112 คน
- อุบลราชธานี 46,809 คน
- ขอนแก่น 38,878 คน
- นนทบุรี 36,694 คน
- บุรีรัมย์ 34,994 คน
- สงขลา 30,827 คน
- สุราษฎร์ธานี 27,848 คน
- ศรีสะเกษ 27,769 คน
- นครศรีธรรมราช 27,273 คน
อย่างไรก็ตามพบว่าโรคซึมเศร้าในวัยรุ่นส่งผลกระทบต่อประชากรส่วนใหญ่ของไทย โดยมีอัตราเกิดสูงสุดในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ถึง 25 ปี ซึ่งเป็นวัยที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศในระยะยาว ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นมักเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุ์กรรม ปัญหาทางครอบครัวตั้งแต่วัยเด็ก การป่วยเรื้อรัง หรือ ความผิดหวังในชีวิตจากเรื่องต่างๆ เป็นต้น (ขอบคุณข้อมูลจาก : ส่องสถิติ โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น ภัยร้ายทางอารมณ์ ที่สังคมไทยต้องรู้)
โรคซึมเศร้ามีทั้งหมดกี่ประเภท?
โรคซึมเศร้าสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้
- โรคซึมเศร้าแบบขั้วเดียว : ผู้ป่วยประเภทนี้จะมีอาการซึมเศร้าเท่านั้น
- โรคซึมเศร้าแบบสองขั้ว หรือ ไบโพลาร์ : ผู้ป่วยประเภทนี้จะมีอาการอารมณ์ขึ้น-ลงมากกว่าคนทั่วไป อาจทำให้เกิดผลเสียในการดำเนินชีวิตได้
สาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดจากอะไร?
โรคซึมเศร้าเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งปัจจัยหลักๆ ที่พบได้ คือ
- พันธุกรรม หรือ พื้นฐานเดิมของแต่ละบุคคล ที่มีประวัติของคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือ มีนิสัยคิดมาก มองโลกในแง่ลบ หรือ เป็นคนอ่อนไหวต่อเรื่องต่างๆ ได้ง่าย ตลอดจนการมีสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล
- สภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูของคนในครอบครัว การได้รับอิทธิพลต่างๆ จากคนใกล้ชิด หรือ ภาวะความเครียดจากการทำงาน การดำเนินชีวิต ตลอดจนปัญหาต่างๆ
สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้า
รู้สึกเศร้า เบื่อ หรือ โมโหง่าย
อาการรู้สึกไม่มีความสุข เกิดภาวะเศร้า เบื่อทุกอย่างในชีวิต หรือ มีอาการโมโหง่าย หงุดหงิดบ่อย โกรธ ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นทุกวันและวนเวียนกับตนเองเป็นประจำ
รู้สึกไม่อยากทำสิ่งต่างๆ ที่เคยทำเป็นประจำ
อาการไม่อยากทำสิ่งต่างๆ ทั้งที่เคยทำเป็นประจำ หรือ มีความชื่นชอบ รู้สึกว่าไม่มีความสนุกเหมือนเคย ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรก กิจวัตรประจำวัน เช่น ดูหนัง เล่นดนตรี อ่านหนังสือ เล่นกีฬา ทำอาหาร วาดภาพ เป็นต้น
รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
ผู้ป่วยซึมเศร้ามักมีอาการรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไม่มีความหมายต่อผู้คน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่ดีอย่างหวัง มักโทษตัวเองว่าผิดในทุกเรื่อง รู้สึกแย่กับตัวเองบ่อยครั้ง
กระวนกระวาย ทำอะไรช้าลง
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางรายอาจอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวาย ทำอะไรเชื่องช้าลงกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแตกต่างจากแต่ก่อนและอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตได้
รับประทานอาหารมากเกินไป หรือ เบื่ออาหาร
ภาวะซึมเศร้าสำหรับบางคนอาจส่งผลต่อการรับประทานอาหารใน 2 แบบ คือ การทานมากเกินไป ทานได้เยอะขึ้นจากเดิม ไม่สามารถควบคุมการรับประทานอาหารของตนเองได้ และ การเบื่ออาหาร ที่ส่งผลทำให้มีน้ำหนักตัวที่ลดลงจากเดิม
อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
อาการรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายกว่าเมื่อก่อน ไม่มีแรงในการทำงาน หรือ ทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน หรือ งานอดิเรกต่างๆ ทั้งที่แต่ก่อนชื่นชอบและทำได้อย่างดี
มีปัญหาเรื่องการนอน
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางรายมักมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน ทั้งอาการตอนไม่หลับ หลับไม่สนิท อาการหลับๆ ตื่นๆ หลับยาก หรือบางรายมีอาการในทางตรงกันข้ามคือ อาการง่วงเพลียตลอดเวลา
สมาธิสั้นและมีความจำแย่ลง
เมื่อมีภาวะซึมเศร้าผู้ป่วยจะมีอาการสมาธิสั้นลงและมีความจำแย่ลงตามไปด้วย ส่งผลให้มักมีพฤติกรรมใจลอย เหม่อลอย ผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเหมือนก่อน และส่งผลต่อการตัดสินใจในด้านแก้ปัญหาด้านต่างๆ อีกด้วย
เริ่มคิดเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเอง
พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอาการซึมเศร้าและมักได้ยินเป็นประจำ ซึ่งผู้ป่วยจะเริ่มบั่นทอนตนเองและคิดที่จะทำร้ายตัวเอง จากภาวะที่รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ชีวิตมืดมน ไม่อยากมีชีวิตอยู่ โดยท้ายที่สุดแล้วอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
หากสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างได้ว่ามีพฤติกรรมที่เข้าข่ายที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเพียง 5 อาการ และวิเคราะห์แล้วว่าอาการเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยทันที เพื่อให้ประสิทธิภาพของการรักษาตอบสนองได้ทันท่วงที ทั้งนี้หากกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวในการเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้า อาจสอบถามแนวทางการรักษากับสถานพยาบาลต่างๆ ผ่านช่องทางการโทร หรือ ช่องทางออนไลน์ ก่อนได้
การวินิจฉัยและรักษาโรคซึมเศร้า
การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้านั้นนอกจากจะสังเกตอาการเบื้องต้นจากที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อก่อนหน้านี้แล้ว แพทย์จะต้องสอบถามข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียดทั้งอาการ ระยะเวลา พื้นฐานส่วนตัวของผู้ป่วย จากผู้ป่วยเองและจากญาติใกล้ชิดร่วมด้วย เพื่อให้จิตแพทย์เข้าใจสาเหตุและแน่ใจว่าผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าจริง ไม่ใช่โรคทางจิตเวชอื่นๆ ที่มีความคล้ายคลึงกัน
การรักษาโรคซึมเศร้า
ในทางปฏิบัติเพื่อการรักษาโรคซึมเศร้า จะใช้แนวทางการพูดคุย ให้คำปรึกษา และการทำจิตบำบัด รวมไปถึงหากมีความจำเป็นในผู้ป่วยบางกลุ่มจะมีการใช้ยารักษากลุ่มแก้ซึมเศร้าร่วมด้วย อย่างไรก็ตามโรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายขาดได้ เมื่อทำการรักษาเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้และเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การรักษาด้วยยามีความปลอดภัยผลข้างเคียงต่ำ ทำให้เกิดการติดยาหรืออาการอื่นๆ แต่อย่างใด
แนวทางการป้องกันโรคซึมเศร้า
การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เป็นพื้นฐานสำคัญต่อสุขภาพร่างกายที่ดีและส่งผลดีต่อการห่างไกลโรคซึมเศร้าเช่นกัน เนื่องจากหากร่างกายขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามิน E, C, D ทองแดง ธาตุเหล็ก โอเมก้า 3 อาจส่งผลต่อความเสี่ยงโรคซึมเศร้าได้
การพักผ่อนให้เพียงพอ
ควรนอนหลับและพักผ่อนให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ เพื่อให้ร่ายกายสามารถตื่นนอนขึ้นมาได้อย่างสดชื่น ไม่เพลีย หรือ ง่วงตลอดทั้งวัน
การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 วัน เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันตั้งแต่ 30 นาที่ขึ้นไป จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง รู้สึกผ่อนคลาย สุภาพจิตดี รู้สึกปลอดโปร่ง ช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น
การทำสมาธิ
การทำสมาธิเป็นการช่วยให้สมองเกิดความผ่อนคลาย จิตใจสงบนิ่ง ลดความเครียดได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยเวลาสั้นๆ 5-10 นาที โดยไม่จำเป็นต้องทำในท่านั่งเท่านั้น อาจนั่งเก้าอี้ นั่งเอนตัว หรือ การเดิน เและมีการกำหนดลมหายใจเข้าออก
การฝึกคิดบวก
การฝึกคิดบวกต่อทุกเรื่องที่เผชิญใจชีวิตประจำวัน โดยการคิดแง่บวกให้กับตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้จิตใจมีความสดชื่นแจ่มใส มีความเข้มแข็งทางด้านอารมณ์ ให้สามารถจัดการกับความเครียดต่างๆ ในชีวิตได้
สำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า หรือ ต้องการคำแนะนำด้านการดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ ฮักษาคลินิก
เบอร์โทร : 096-696-1999
LINE: @hugsa
Facebook : HUGSAMedical
HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ