สมองฝ่อหนึ่งในชื่อโรคอันตรายที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ซึ่งโดยทั่วไปหลายคนเข้าใจว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุเท่านั้น จึงชะล่าใจต่อการศึกษาหาความรู้ในการดูแลตัวเองและป้องกันให้ห่างไกลจากภาวะสมองฝ่อระยะสุดท้ายมากที่สุด ในบทความนี้ Hugsa เราได้รวบรวมเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับภาวะสมองฝ่อระยะสุดท้าย ให้ได้ทำความเข้าใจพร้อมทั้งแนะนำแนวทางการป้องกันสุขภาพ รวมไปถึงแนวทางการรักษาสมองฝ่อที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับลักษณะอาการมากที่สุด
สมองฝ่อระยะสุดท้ายคืออะไร?
สมองฝ่อ (Cerebral atrophy หรือ Brain atrophy) คือ ภาวะของสมองที่มีการสูญเสียเซลล์สมองและการเชื่อมต่อของเซลล์สมอง เป็นภาวะที่เกิดได้เฉพาะบางส่วนหรือทั่วบริเวณของสมองได้เช่นกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่ภาวะสมองฝ่อมักเกิดจากความเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น อย่างไรก็ตามในทางการแพทย์ระบุว่าภาวะสมองฝ่อหมายถึงการที่สมองเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าอายุที่ควรจะเป็น ดังนั้นสมองฝ่อระยะสุดท้ายจึงเป็นภาวะที่สมองมีการเสื่อมมากขึ้นจนทำให้จำนวนเซลล์ในสมองลดน้อยลงอย่างมาก ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อการดำรงชีวิตและทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตนเองได้ปกติ จะต้องอยู่ในการดูแลของญาติอย่างใกล้ชิดตลอดเวลานั่นเอง
สมองฝ่อและสมองเสื่อมต่างกันอย่างไร?
เชื่อว่าหลายคนสงสัยระหว่างสองโรคนี้ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าภาวะสมองฝ่อมีความสัมพันธ์กับสมองเสื่อม (Dementia) มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโดยตรง โดยสมองเสื่อมจะส่งผลทำให้ระบบประสาทและสมองมีความผิดปกติหลายด้าน เช่น ความจำ ความคิด การเคลื่อนไหวร่างกาย อารมณ์ ไปจนถึงพฤติกรรมที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ทั้งนี้สมองฝ่อคือขนาดและปริมาณของเนื้อสมองลดลง เมื่อทำการเอกซเรย์ดูจะเห็นความเสียหายของสมองได้ชัดเจนขึ้น แต่ต้องขึ้นอยู่กับระยะของภาวะสมองฝ่อร่วมด้วยเพื่อใช้ในการประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ กล่าวคือสมองฝ่อเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้เกิดอาการสมองเสื่อมได้ขึ้นอยู่กับระยะของโรคของผู้ป่วยแต่ละบุคคล
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองฝ่อระยะสุดท้าย
สาเหตุของภาวะสมองฝ่อเกิดได้จากหลายสาเหตุ และอาจลุกลามไปจนำให้เกิดภาวะสมองฝ่อระยะสุดท้าย เช่น
- ความเสื่อมของระบบสมองที่เสื่อมถอยลงตามอายุ ซึ่งอาการจะใช้ระยะเวลาที่นานค่อยเป็นค่อยไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น
- การได้รับบาดเจ็บทางสมองทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด กระทบต่อเซลล์สมองทำให้สมองตายในที่สุด เช่น หลอดเลือดสมองตีบ แตก ตัน เป็นต้น
- โรคอื่นๆ เช่น อัลไซเมอร์ โรคสมองเสื่อม โรคฮันติงตัน (Huntington’s disease) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เป็นต้น
- การที่ร่างกายได้รับสารบางชนิดมากเกินไป เช่น สารโฮโมซิสเทอีน (Homocysteine)
- การติดเชื้ออื่นๆ เช่น โรคไข้สมองอักเสบ โรคซิฟิลิสระบบประสาท โรคเอดส์ เป็นต้น
อาการของภาวะสมองฝ่อเป็นอย่างไร?
อาการของภาวะสมองฝ่อ สามารถเกิดขึ้นได้หลายอาการและมีความรุนแรงที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพบความผิดปกติที่ทำให้สูญเสียเซลล์สมองในบริเวณใด หรือ มีระยะสมองฝ่อมาเป็นเวลานานแค่ไหน ตัวอย่างอาการที่เห็นได้ชัด เช่น
- อาการสมองเสื่อม : ผู้ป่วยจะสูญเสียความทรงจำ ไม่สามารถคิดวิเคราะห์ วางแผน หรือ จัดการสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้อย่างเป็นระบบ คิดช้า มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้
- ความผิดปกติด้านการสื่อสาร : ความสามารถในการสื่อสาร การพูดที่ไม่มีความปะติดปะต่อ พูดคำซ้ำ พูดไม่จบประโยค เลือกใช้คำพูดได้ไม่ตรงกับสถานการณ์ ประโยคในการพูดไม่มีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ และสูญเสียความเข้าใจในการใช้ภาษา
- อาการกล้ามเนื้อกระตุก : การเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ มีอาการชักกระตุก กลอกตาผิดปกติ กล้ามเนื้อเกร็ง พฤติกรรมทางร่างกายเปลี่ยนไป และสูญเสียความรู้สึกตัว
การวินิจฉัยภาวะสมองฝ่อ
การตรวจวินิจฉัยภาวะสมองฝ่อแพทย์จะทำการซักประวัติเบื้องต้นของผู้ป่วย หลังจากนั้นทำการตรวจร่างกาย และตรวจตามภาวะที่แพทย์พิจารณาว่ามีความเสี่ยง เช่น การตรวจเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (Computerized tomography ) การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging) หรือ การตรวจเลือดเพื่อหาสารเคมีที่ก่อให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ โดยการตรวจด้วยวิธีการต่างๆ จะพิจารณาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีความภาวะสมองฝ่อระยะสุดท้ายอาจมีการตรวจด้วยวิธีการอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพต่อไป
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองฝ่อ
- ผู้สูงอายุ
- มีประวัติโรคทางระบบประสาทในครอบครัว เช่น โรคอัลไซเมอร์
- ผู้ที่มีประวัติโรคทางพันธุกรรมในครอบครัว เช่น Huntington’s disease
- ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บของบริเวณศีรษะและสมอง
- ผู้ที่มีประวัติการดื่มสุราและสูบบุหรี่มาก
การป้องกันและชะลอการเกิดภาวะสมองฝ่อ
- ทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการฝึกความจำ หมั่นคิดทบทวนเรื่องต่างๆ เช่น การเขียนไดอารีชีวิตประจำวัน การสวดมนต์แบบท่องจำ การร้องเพลงแบบจำเนื้อเพลง
- ฝึกการคิดคำนวณด้วยตัวเอง
- ฝึกการแก้ปัญหาและการวางแผน เช่น การวางแผนการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน การวางแผนการซื้อของ หรือ สถานการณ์สมมติจากบอร์ดเกม เป็นต้น
- ฝึกความคิดสร้างสรรค์ เช่น การทำอาหารเมนูใหม่ การวาดภาพ การจัดสวน เป็นต้น
- ฝึกการใช้ภาษา พูดคุยกับผู้อื่น หรือศึกษาเรียนรู้ภาษาใหม่ๆ
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
- หากพบว่าคนรอบข้างหรือตนเองมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที
แนวทางการรักษาภาวะสมองฝ่อ
การรักษาภาวะสมองฝ่อในระยะเริ่มต้น แพทย์จะต้องตรวจหาสาเหตุของโรคที่สามารถแก้ไขได้ เช่น ภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองลดน้อยลงในระยะเริ่มต้น โดยการรักษาจะเป็นการป้องกันการลุกลามไปสู่ภาวะสมองฝ่อได้ ซึ่งในบางกรณีผู้ป่วยอาจมีสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงนอกเหนือจากภาวะทางสมอง เช่น การรับประทานยานอนหลับ หรือ ยาแก้ปวด ก็มีส่วนต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้เช่นเดียวกัน ในกรณีที่แพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยเข้าสู่โรคสมองฝ่อโดยไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง จะทำการรักษาตามอาการเพื่อบรรเทาไม่ให้ลุกลามมากยิ่งขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของสมองฝ่อ
ภาวะสมองฝ่อเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ เนื่องจากสมองไม่สามารถฟื้นตัวในส่วนที่เสียหายไปให้กลับมาได้ปกติ ดังนั้นหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีและชะล่าใจให้เกิดภาวะสมองฝ่อระยะสุดท้าย แน่นอนว่าไม่อาจทำให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นเช่นเดิมได้ จึงส่งผลต่อผู้ป่วยและส่งผลโดยอ้อมกับผู้คนใกล้ชิดได้ อาจนำไปสู่ความเครียดของคนในครอบครัว ปัญหาการใช้ชีวิต ไปจนถึงการเสียชีวิตได้ในที่สุดโดยเกิดจากปัญหาทางสุขภาพที่รุนแรงและการเกิดอุบัติเหตุ
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับภาวะสมองฝ่อ
อีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคสมองฝ่อ คือ สารโฮโมซิสเทอีน (Homocysteine) ที่เกิดจาการย่อยสลายของโปรตีนชนิดหนึ่งมากเกินไป ส่งผลให้ร่างกายต้องการกำจัดสารดังกล่าวให้กลายเป็นสารซิสทีนที่ไม่มีอันตรายต่อร่างกายแทนที่ แต่ในบางกรณีก็มีปัจจัยความผิดปกติของกระบวนการกำจัดสารโฮโมซิสเทอีน ทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติและมีสารนี้ในปริมาณมาก
ตัวอย่างเช่น การขาดวิตามิน B และกรดโฟลิก จึงมีการวิจัยที่ค้นพบว่า หากร่างกายได้รับวิตามิน B เสริม อาจเป็นทางเลือกในการชะลอภาวะสมองฝ่อระยะสุดท้ายได้อีกทางหนึ่ง โดยจะต้องควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และดูแลสุขภาพตัวเองร่วมด้วย
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าภาวะสมองฝ่อ และการลุกลามไปถึงสมองฝ่อระยะสุดท้าย เป็นอาการที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะนี้และหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรคให้มากที่สุด และหากพบความผิดปกติของระบบสมองควรเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อชะลอความรุนแรงของโรคให้ได้เร็วที่สุด
สำหรับใครที่ต้องการปรึกษาโรคที่เกี่ยวกับสมองและระบบประสาท หรือ ต้องการตรวจภาวะสมองฝ่อ สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ ฮักษาคลินิก
เบอร์โทร : 096-696-1999
LINE: @hugsa
Facebook : HUGSAMedical
HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ