รู้ทันสาเหตุและอาการโรคซิฟิลิส พร้อมแนะนำวิธีการป้องกัน!

โรคซิฟิลิส (Syphilis) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่หลายคนคุ้นเคยชื่อกันเป็นอย่างดี แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า โรคซิฟิลิสสามารถแพร่กระจายเชื้อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ และถ้าหากไม่รักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น จนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมามากมาย เช่น อาการสมองเสื่อม ลิ้นหัวใจรั่ว ตาบอด หรือหูหนวก เป็นต้น

สำหรับใครที่มีความกังวลเกี่ยวกับโรคนี้อยู่ ฮักษา เมดิคอล (HUGSA MEDICAL) จะพาไปทำความรู้จักกับโรคซิฟิลิสแบบเจาะลึก ตั้งแต่สาเหตุ ลักษณะอาการ ระยะของโรค วิธีการรักษา ไปจนถึงวิธีป้องกัน เพื่อที่คุณจะได้ดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้อย่างเหมาะสม

 

โรคซิฟิลิส คืออะไร?

โรคซิฟิลิส (Syphilis) คือ หนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียทริปโปนีมาพัลลิดุม (Treponema Pallidum) โดยเชื้อจะใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 2-4 สัปดาห์ หรือในบางรายอาจใช้ระยะในการฟักตัวนานถึง 3 เดือน

โรคซิฟิลิสนั้นเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ อย่างไรก็ตาม หากไม่เข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จนทำให้โรคเข้าสู่ระยะที่ 2 หรือระยะที่ 3 ก็อาจทำให้มีอาการลุกลามไปสู่ระบบอื่น ๆ ภายในร่างกาย เช่น ระบบประสาท ระบบหัวใจ หรือระบบหลอดเลือด แล้วทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา

นอกจากนี้โรคซิฟิลิสยังสามารถถ่ายทอดจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ได้ ทำให้ทารกมีโรคซิฟิลิสตั้งแต่กำเนิดและส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกที่ผิดปกติด้วย

 

สถานการณ์โรคซิฟิลิสในประเทศไทย

ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 1-13 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคซิฟิลิสทั้งหมด 5,057 ราย โดยไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อ จากข้อมูลพบว่า กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี มีผู้ติดเชื้อซิฟิลิสมากที่สุด คิดเป็น 38.46% รองลงมาคือกลุ่มวัยกลางคนที่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี คิดเป็น 26.74% และกลุ่มอายุ 35-44 ปี คิดเป็น 12.70% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยยังคงให้ความสำคัญกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ด้วยแนวโน้มการเกิดโรคซิฟิลิสและโรคที่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น 

จึงมีการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่ส่งผลต่อความเสี่ยงในการติดเชื้อซิฟิลิส และโรคอื่นๆ ด้วยการให้ความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย รวมไปถึงสร้างแนวคิดใหม่ให้ตระหนักถึงประโยชน์ของการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างเหมาะสม

 

โรคซิฟิลิส สาเหตุเกิดจากอะไร?

โรคซิฟิลิส สาเหตุเกิดจากอะไร?

โรคซิฟิลิส สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทริปโปนีมาพัลลิดุม ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณที่มีความชื้น โดยผู้ที่ติดเชื้อจะพบเชื้อได้บริเวณเยื่อเมือก หรือบริเวณที่มีบาดแผลตามร่างกาย เช่น เยื่อบุตา ช่องปาก ช่องคลอด ท่อปัสสาวะ หรือทวารหนัก เป็นต้น ผู้ที่ติดเชื้อซิฟิลิสส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการสัมผัสเชื้อโดยตรงจากผู้ที่มีเชื้ออยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นหนึ่งสาเหตุหลักของการแพร่เชื้อไปสู่อีกบุคคลได้
 

อาการของซิฟิลิสมีกี่ระยะ อะไรบ้าง?

อาการของโรคซิฟิลิสจะแบ่งเป็น 3 ระยะ แต่ละระยะจะมีลักษณะอาการดังนี้

 

โรคซิฟิลิสระยะที่ 1 หรือ ระยะเป็นแผล (Primary syphilis)

เป็นระยะอาการหลังจากได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย บริเวณที่สัมผัสเชื้อจะเริ่มมีเม็ดตุ่มเล็กๆ ขนาดประมาณ 2-4 มิลลิเมตร หลังจากนั้นตุ่มจะเริ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนแตกออกในที่สุด เกิดเป็นแผลกว้างรูปวงรี หรือรูปไข่ บริเวณขอบแผลจะมีลักษณะเรียบแข็ง ผู้ป่วยจะไม่มีอาการเจ็บปวด จากนั้นเชื้อซิฟิลิสจะเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตผิดปกติ 

อย่างไรก็ตาม ระยะที่ 1 เป็นระยะซิฟิลิสที่ยังไม่แสดงอาการ เมื่อระยะเวลาผ่านไปแผลดังกล่าวสามารถหายไปเองได้โดยไม่ต้องทำการรักษา จึงกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจ และ ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว นำไปสู่ความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อซิฟิลิสไปยังบุคคลได้

 

โรคซิฟิลิสระยะที่ 2 หรือ ระยะออกดอก ( Secondary Stage )

เป็นระยะหลังจากติดเชื้อซิฟิลิสระยะแรกประมาณ 2-3 สัปดาห์ เป็นระยะที่เชื้อกระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และตามต่อมน้ำเหลืองต่างๆ เช่น หลังขาหนีบ หลังหู รวมถึงเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ร่างกายของผู้ป่วยมีผื่นขึ้น ซึ่งแพทย์เรียกระยะซิฟิลิสนี้ว่า “ระยะออกดอก” เนื่องจากผื่นที่พบมีความแตกต่างจากโรคชนิดอื่นๆ ผื่นที่เกิดจากซิฟิลิสจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูน ขึ้นที่บริเวณฝ่ามือ แต่ไม่มีอาการคัน ในบางรายอาจมีเนื้อตายที่เกิดจากผื่นกระจายเป็นหย่อมๆ หรืออาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ผมร่วง ปวดเมื่อยตามข้อ เจ็บคอ หรือมีไข้ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ซิฟิลิสระยะนี้หากไม่ได้รับการรักษาโรคจะอยู่ใน “ระยะสงบ” ซึ่งร่างกายของผู้ป่วยยังคงมีเชื้อซิฟิลิสแฝงอยู่โดยไม่แสดงอาการให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นเวลานานหลายปี

 

โรคซิฟิลิสระยะที่ 3 หรือ  ระยะแฝง (Latent syphilis)

เป็นโรคซิฟิลิสระยะสุดท้าย จะเกิดขึ้นหลังจากระยะที่ 1 ประมาณ 3-10 ปี โดยร่างกายจะแสดงอาการของโรคให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งเกิดจากการลุกลามของเชื้อเข้าสู่ระบบต่างๆ ของร่างกาย ทำให้มีอาการต่างๆ เช่น หูหนวก ตาบอด เนื้อจมูกเป็นรอยโหว่ กระดูกผุ ใบหน้าผิดรูป อาการสมองเสื่อม ลิ้นหัวใจรั่ว อัมพาต ฯลฯ ทั้งนี้อาการของโรคจะขึ้นอยู่กับการติดเชื้อในระบบต่างๆ ที่อาจแตกต่างกันออกไป

 

อาการของโรคซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์

อาการของโรคซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์

โรคซิฟิลิสสามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ได้ ในกรณีที่มารดาป่วยด้วยโรคซิฟิลิสและไม่เข้ารับการรักษา เชื้ออาจถ่ายทอดสู่ทารกผ่านสายรก ส่งผลให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซิฟิลิสโดยกำเนิด (Hydrops fetalis หรือ Congenital syphilis) ทำให้ทารกเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในครรภ์ เสียชีวิตหลังคลอด หรือ มีความพิการ ได้นั่นเอง

 

การตรวจวินิจฉัยโรคซิฟิลิส

ในปัจจุบัน เราสามารถตรวจวินิจฉัยโรคซิฟิลิสได้ด้วยการเจาะเลือด เพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกันแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง ทราบผลได้ภายในเวลาประมาณ 15-30 นาทีเท่านั้น เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีอาการของโรคให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ในกรณีที่ผู้ตรวจมีรอยแผล แพทย์อาจเลือกใช้วิธีการเก็บตัวอย่างจากแผลเพื่อทดสอบหาเชื้อซิฟิลิสแทน

นอกจากนี้ยังมีวิธีการตรวจด้วยการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal Fluid  Test) ในกรณีที่แพทย์ประเมินว่าผู้ป่วยอาจมีการติดเชื้อในระบบประสาทด้ว

 

โรคซิฟิลิส รักษาอย่างไร?

โรคซิฟิลิสสามารถรักษาได้ด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะกลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillin) เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียและยับยั้งการติดเชื้อ โดยในผู้ที่มีระยะที่ 1 แพทย์จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อโดยตรง 1 ครั้ง แม้จะมี หรือไม่มีอาการก็ตาม อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่เข้าสู่ระยะที่ 2 หรือ 3 แล้ว แพทย์อาจพิจารณาให้ฉีดยาปฏิชีวนะ 3 เข็ม โดยเว้นระยะห่างเข็มละ 1 สัปดาห์ และอาจพิจารณาให้ยาทางหลอดเลือดดำ ถ้าหากติดเชื้อในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย และนัดตรวจเลือดหลังการรักษาทุก 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อติดตามอาการ และป้องกันไม่โรคพัฒนาไปสู่ระยะสุดท้ายได้

 

โรคซิฟิลิส การป้องกันทำอย่างไร?

โรคซิฟิลิส การป้องกันทำอย่างไร

การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโรคซิฟิลิสตั้งแต่ต้น เป็นวิธีรับมือกับโรคนี้ได้ดีที่สุด เพื่อให้คุณห่างไกลจากโรคซิฟิลิสแนะนำให้ดูแลตัวเองดังต่อไปนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซิฟิลิสและลดความเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ 
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคซิฟิลิส
  • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ หรือถ้าหากมีพฤติกรรมดังกล่าว ก็ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ
  • หากพบอาการผิดปกติบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือ ช่องคลอด เช่น มีผื่น แผล ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยทันที
  • รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและจุดซ่อนเร้นอย่างเป็นนิสัย
  • คู่รักที่วางแผนการแต่งงานและมีบุตร ควรตรวจร่างกายโดยละเอียดเพื่อตรวจหาโรคซิฟิลิส รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ร่วมด้วย

 

สรุปเรื่องโรคซิฟิลิส

โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตนเองหรือคู่รักมีสัญญาณของโรคซิฟิลิส หรือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม ไม่ควรละเลยให้อาการลุกลามหนักก่อนจึงจะตัดสินใจเข้าพบแพทย์ เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนอื่นๆ และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งได้ สิ่งสำคัญคือควรตระหนักถึงการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงควรศึกษาเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อให้ได้มากที่สุด 

สำหรับผู้ที่ต้องการปรึกษาเกี่ยวกับโรคซิฟิลิส หรือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ ฮักษาคลินิก 

 

HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ