หากคุณมีอาการปวดศีรษะข้างเดียวซ้ำ ๆ หรือปวดร้าวกระบอกตา นั่นอาจเป็นลักษณะอาการของ “ปวดศีรษะไมเกรน” หนึ่งในอาการปวดศีรษะที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของใครหลายคนอย่างมาก แล้วจะรักษาไมเกรนอย่างไรดี อาการปวดหัวไมเกรนหายเองได้ไหม ฮักษา เมดิคอล (HUGSA MEDICAL) มีคำตอบมาฝาก
ปวดศีรษะไมเกรนคืออะไร?
ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine headache) คือ อาการปวดศีรษะชนิดหนึ่งที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และตรวจไม่พบพยาธิสภาพ แต่คาดว่าเกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น แสง เสียง กลิ่น ควัน หรืออากาศร้อน แล้วทำให้ร่างกายหลั่งสารสื่อประสาทที่ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณปมประสาทของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 และเกิดอาการปวดศีรษะตามมา ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีรักษาไมเกรนให้หายขาด แต่เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการ หรือบรรเทาอาการปวดไมเกรนลงได้
ปวดศีรษะไมเกรนมีกี่ประเภท?
อาการปวดศีรษะไมเกรนจะแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
1. ปวดหัวไมเกรนแบบไม่มีอาการเตือน (Migraine Without Aura)
เป็นอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าใด ๆ
2. ปวดหัวไมเกรนแบบมีอาการเตือน (Migraine With Aura)
เป็นอาการปวดศีรษะที่จะมีอาการเตือนก่อน เช่น มองเห็นผิดปกติ มองเห็นแสงเป็นเส้นคล้ายฟันเลื่อย หรือเห็นภาพบิดเบี้ยว หรือมีอาการชาที่มือ แขน รอบปาก ไม่สามารถพูดได้ ก่อนที่จะเกิดอาการปวดศีรษะตามมา
ปวดศีรษะไมเกรนอาการเป็นอย่างไร?
เพื่อให้คุณจำแนกอาการปวดศีรษะไมเกรนออกจากอาการปวดศีรษะทั่วไปได้ สามารถวางแผนรักษาไมเกรนได้อย่างตรงจุด เราจะพาไปดูกันว่าปวดศีรษะไมเกรนมีลักษณะอาการอย่างไร
เพื่อให้คุณจำแนกอาการปวดศีรษะไมเกรนออกจากอาการปวดศีรษะทั่วไปได้ สามารถวางแผนรักษาไมเกรนได้อย่างตรงจุด เราจะพาไปดูกันว่าปวดศีรษะไมเกรนมีลักษณะอาการอย่างไร
อาการปวดศีรษะไมเกรนที่พบได้บ่อย ๆ มีดังนี้
- ปวดหัวตุ้บ ๆ บริเวณขมับข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดร้าวมาที่กระบอกตา ตาพร่ามัว
- อาการจะแย่ลงเมื่อเจอปัจจัยกระตุ้น เช่น แสงจ้า หรือกลิ่นฉุน
แต่ก่อนที่จะเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนขึ้น หากเป็นการปวดไมเกรนแบบมีอาการเตือนก็จะมีระยะอาการบอกเหตุ หรือระยะอาการเตือนก่อน โดยจะแบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะอาการบอกเหตุ (Prodrome)
เป็นอาการที่จะเกิดขึ้นในช่วง 1 – 2 วันแรกก่อนที่จะปวดศีรษะไมเกรน มีลักษณะอาการดังนี้
- รู้สึกอยากอาหารบางอย่างเป็นพิเศษ
- หาวบ่อยกว่าปกติ
- กระหายน้ำบ่อยขึ้น
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น
- รู้สึกปวดตึงบริเวณคอ
- ท้องผูก
- มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น รู้สึกเศร้า หรือมีความสุขเป็นพิเศษ
- ระยะอาการเตือน (Aura)
จะเกิดขึ้นก่อน หรือพร้อมกับอาการปวดศีรษะไมเกรนก็ได้ มีลักษณะอาการดังนี้
- สายตาพร่ามัว มองเห็นแสงกะพริบ
- มองเห็นแสงเป็นคลื่น หรือเป็นจุดแสงวาบ
- มองเห็นภาพรูปทรงต่าง ๆ ผิดขนาด
- มีความผิดปกติของร่างกาย เช่น ควบคุมร่างกายไม่ได้ พูดลำบาก แขนขาอ่อนแรง หรือเคลื่อนไหวผิดปกติ โดยอาจเป็นอาการชั่วคราว หรือเป็นหลายชั่วโมงติดต่อกันก็ได้
- ระยะอาการปวดศีรษะ (Headache)
หากคนที่เป็นปวดไมเกรนแบบไม่มีสัญญาณเตือนจะข้ามระยะที่ 1 และ 2 มาเป็นระยะที่ 3 เลย โดยอาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นจะเป็นได้ตั้งแต่หลายชั่วโมงไปจนถึงวัน หรือหลายวัน มีลักษณะอาการดังนี้
- ปวดศีรษะตุ้บ ๆ ที่บริเวณขมับข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างก็ได้ โดยระดับความรุนแรงจะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น
- ตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัดเจน
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ไวต่อแสง เสียง กลิ่น และทำให้เกิดอาการปวดมากขึ้น
- เมื่อต้องเคลื่อนไหวจะมีอาการปวดมากขึ้นกว่าเดิม
- ระยะหายจากการปวดศีรษะ (Postdrome)
เป็นระยะหลังจากที่อาการปวดศีรษะไมเกรนลดลงแล้ว มีลักษณะอาการดังนี้
- รู้สึกหงุดหงิด
- สับสน มึนงง
- อ่อนล้า อ่อนแรง
- เวียนศีรษะ
ปวดหัวไมเกรนหายเองได้ไหม?
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาไมเกรนให้หายขาด และเมื่อเกิดอาการปวดหัวไมเกรนขึ้นแล้ว หากไม่ดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ก็อาจทำให้อาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้น หรือทำให้ปวดหัวไมเกรนนานมากขึ้นก็ได้ ถ้าหากคุณมีอาการปวดศีรษะไมเกรนบ่อย ๆ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ และวางแผนการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมจะดีกว่า เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว
รักษาไมเกรนมีกี่วิธี?
วิธีรักษาไมเกรนในปัจจุบันจะเน้นไปที่การบรรเทาอาการปวด และป้องกันการปวดศีรษะไมเกรน โดยจะแบ่งเป็น 3 วิธีหลัก ๆ ดังนี้
1. การรักษาไมเกรนโดยไม่ต้องใช้ยา
การรักษาไมเกรนโดยไม่ต้องใช้ยาจะเหมาะสำหรับคนที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนไม่รุนแรงมากนัก มุ่งเป้าไปที่การลดปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปวดไมเกรน และทำให้อาการปวดลดลง ซึ่งแต่ละคนจะเหมาะกับวิธีรักษาไมเกรนที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น
- ประคบเย็นที่บริเวณศีรษะ : ให้นำผ้าห่อน้ำแข็ง หรือเจลเย็น มาประคบบริเวณหน้าผาก ขมับ หรือคอ จะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนลงได้
- เล่นโยคะ : หากความเครียดเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการปวดไมเกรน การเล่นโยคะนับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดความเครียดภายในใจลง ทำให้กล้ามเนื้อที่ตึงเกร็งคลายตัว และบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้
- สูดดมน้ำมันหอมระเหย : เช่น น้ำมันลาเวนเดอร์ สามารถช่วยบรรเทาความเครียดและอาการปวดศีรษะลงได้
- ดื่มน้ำขิง หรือชาที่ช่วยคลายความเครียด : ไม่ว่าจะเป็น ชาคาโมมายล์ ชาเขียว ชาสะระแหน่ หรือชาดำ ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนในบางรายได้เช่นกัน
2. การรักษาไมเกรนด้วยยา
การรักษาไมเกรนด้วยยาจะต้องทำภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามารับประทานด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาผิดประเภทได้ โดยจะแบ่งเป็น 2 แบบหลัก ๆ ได้แก่
การรับประทานยาบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน
- ยาบรรเทาอาการปวดไม่รุนแรง : ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือ ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟ่น (Ibuprofen) นาโปรเซน (Naproxen) หรือ เซเลโคซิป (Celecoxib) เป็นต้น
- ยาบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรนรุนแรง : ยาในกลุ่มทริปแทน (Triptans) เช่น ซูมาทริปแทน (Sumatriptan) อีลีทริปแทน (Eletriptan) หรือยาที่มีส่วนผสมของเออร์โกตามีน (Ergotamine)
- ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน : เช่น เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) ดอมเพอริโดน (Domperidone)
การรับประทานยาป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน
- ยา Erenumab : เป็นยากที่ใช้ป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนทั้งแบบที่มีสัญญาณเตือนและไม่มีสัญญาณเตือน โดยจะฉีดเข้าใต้ผิวหนังเดือนละ 1 ครั้ง สามารถลดอาการปวดศีรษะไมเกรนลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
- ยาในกลุ่มยาลดความดัน : เช่น โพรพาโนลอล (Propranolol) เวราปามิล (Verapamil) เมโทโพรลอลทาร์เทรต (Metoprolol tartrate)
- ยาในกลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้า : เช่น อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline)
- ยาในกลุ่มยากันชัก : เช่น โทพิราเมต (Topiramate) วาลโปรเอต (Valproate)
3. การรักษาไมเกรนด้วยแพทย์แผนทางเลือก
การรักษาไมเกรนด้วยแพทย์แผนทางเลือกก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยที่ได้รับความนิยม จะมีอยู่ 2 วิธีหลัก ๆ ดังนี้
- รักษาไมเกรนด้วยการฝังเข็ม : เป็นศาสตร์แพทย์แผนจีนที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรองว่าสามารถบรรเทาอาการไมเกรนได้ โดยจะทำการฝังเข็มในจุดที่บกพร่อง ทำให้ลมปราณติดขัด ไหลเวียนไม่สะดวก หรือทำให้เกิดการอาการปวด หงุดหงิดง่าย หรืออารมณ์แปรปรวน เป็นต้น
- รักษาไมเกรนด้วยการนวดแผนไทย : ในทางการแพทย์แผนไทยเราเรียกอาการปวดศีรษะไมเกรนว่า “โรคลมปะกัง” ซึ่งเกิดจากการไหลเวียนเลือดลมไปเลี้ยงที่บริเวณศีรษะไม่สะดวก แล้วทำให้เกิดอาการปวดตามมา สามารถรักษาได้โดยการนวดกดจุดเพื่อคลายกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล และกล้ามเนื้อรอบศีรษะ ร่วมกับการประคบร้อนด้วยลูกประคบสมุนไพร เพื่อเพิ่มความผ่อนคลาย
วิธีป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน
การป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน สามารถทำได้โดยการลดการสัมผัสปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน เช่น สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ อากาศ แสงไฟกะพริบ เสียงดัง ๆ หรือกลิ่นฉุน
นอกจากนี้คุณจะต้องดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหมั่นบริหารจัดการความเครียด ก็จะสามารถช่วยลดการเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนได้
รักษาไมเกรนที่ไหนดี?
จะเห็นได้ว่า อาการปวดศีรษะไมเกรนเป็นหนึ่งในอาการปวดศีรษะที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ ไม่ศึกษาให้ดีว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดไมเกรนของเราคืออะไร แล้วปล่อยให้เกิดอาการปวดไมเกรนซ้ำ ๆ จนอาการปวดรุนแรงขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตในระยะยาวอย่างแน่นอน
สำหรับท่านใดที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนบ่อย ๆ ไม่รู้ว่าจะไปรักษาไมเกรนที่ไหนดี สามารถนัดหมายเข้ามาพบแพทย์ที่ฮักษา เมดิคอล ได้เลย เรามีบริการรักษาโรคทางระบบประสาท ที่พร้อมให้การดูแลรักษาอาการปวดไมเกรนโดยเฉพาะ รับรองว่าไม่ทำให้ผิดหวังอย่างแน่นอน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
- เบอร์โทร : 096-696-1999
- LINE: @hugsa
- Facebook : HUGSAMedical
HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ