ฝังเข็มตะวันตก

การฝังเข็มตะวันตก (Dry needling) คืออะไร รักษาได้จริงหรือ | ฮักษาคลินิกจันทบุรี

การฝังเข็มตะวันตก (Dry needling) คืออะไร รักษาได้จริงหรือ | ฮักษาคลินิกจันทบุรี

อาการปวดกล้ามเนื้อซึ่งเกิดจาก ออฟฟิศซินโดรม ถือว่าเป็นโรคที่สามารถพบเห็นได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน และยิ่งนับวันก็ยิ่งขยายวงกว้างมากขึ้น จากแต่เดิมที่มักจะพบเห็นได้บ่อยในกลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงาน ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกผู้ทุกคน โดยเฉพาะกับโลกดิจิตอลที่ทุกวันนี้อาจจะต้องมีการเรียนออนไลน์ ทำงานออนไลน์ หรือใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนนาน ๆ ในทุก ๆ วันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็จะก่อให้เกิดการปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดคอ ปวดข้อมือ และอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เป็นอาการกล้ามเนื้ออักเสบอย่างเรื้อรัง แต่ไม่ต้องเป็นห่วงกังวลมากจนเกินไปนัก เพราะอาการปวดและอักเสบเหล่านั้น สามารถทำให้หายได้ด้วยการพัฒนาของการแพทย์ในปัจจุบัน โดยหนึ่งในวิธีการรักษาที่ ฮักษาคลินิกจันทบุรี นำมาใช้ซึ่งกำลังได้รับความนิยมกันในตอนนี้ก็คือการฝังเข็มตะวันตก หรือ Dry needling ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเรียกวิธีนี้ว่าการรักษาแบบเจ็บแต่จบ 

การฝังเข็มตะวันตก (Dry needling) คืออะไร 

การฝังเข็มตะวันตก (Dry needling) หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า การฝังเข็มแห้ง เป็นศาสตร์การฝังเข็มที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยฝั่งตะวันตก ซึ่งจะเป็นคนละอย่างกับการฝังเข็มแบบแพทย์แผนจีน อีกทั้งยังได้รับการพิสูจน์และการยอมรับจากองค์กรอนามัยระดับโลกอย่าง WHO มาแล้ว ว่าเป็นการฝังเข็มที่สามารถช่วยรักษาอาการปวดเรื้อรังได้จริงและมีประสิทธิภาพอย่างมากเลยทีเดียว 

หากให้กล่าวถึงวิธีการรักษาแบบฝังเข็มตะวันตกแล้ว ก็จำเป็นต้องกล่าวถึง Trigger Point เสียก่อน ซึ่ง Trigger Point นี้เป็นคำศัพท์ไว้ใช้เรียกปมก้อนกล้ามเนื้อ ที่เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อมัดนั้น ๆ หากกดลงไปแล้วจะรู้สึกเจ็บ หากคลำดูอาจพบลักษณะเป็นก้อนอยู่ใต้ชั้นผิวหนังหรือใต้มัดกล้ามเนื้อ และจุดที่เป็นก้อนนี้เองจะทำให้เกิดการอุดตันในการไหลเวียนของเลือด ยับยั้งการหลั่งของสารต่าง ๆ รวมถึงของเสียของร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายหลั่งสารกระตุ้นปวดออกมา ทำให้เกิดเป็นอาการปวดเรื้อรัง อีกทั้งยังสามารถทำให้เกิดการปวดที่ร้าวไปยังกล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียงได้อีกด้วย

โดยจุด Trigger Point นี้สามารถเกิดขึ้นได้จากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ จากการใช้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นซ้ำ ๆ ในระยะเวลานาน จากความเครียด จากการขาดวิตามินต่าง ๆ หรืออาจเกิดได้ในผู้ที่ข้อต่อมีปัญหา โดยกรณีที่พบบ่อยที่สุดก็คือผู้ที่บาดเจ็บจากการออกกำลังกายหรือใช้แรงงาน และผู้ที่เป็นกลุ่มออฟฟิศซินโดรม ซึ่งการฝังเข็มตะวันตก (Dry needling) นั้น ก็จะเป็นการฝังเข็มเพื่อคลายจุด Trigger Point ดังกล่าว ให้กล้ามเนื้อมีอาการกระตุกและคลายตัวออก กระตุ้นให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นหลั่งโพแทสเซียมเพื่อช่วยเยียวยาลดอาการปวด สลายจุด Trigger Point ให้เลือดกลับมาไหลเวียนได้ตามปกติ และทำให้ใยกล้ามเนื้อในบริเวณนั้นเกิดการเรียงตัวขึ้นใหม่ ส่งผลให้ผู้เข้ารับการฝังเข็มตะวันตก สามารถใช้งานกล้ามเนื้อและร่างกายต่อไปได้อย่างเต็มที่ ไม่มีติดขัดเพราะความเจ็บปวดนั่นเอง 

 

การฝังเข็มตะวันตก (Dry needling) แตกต่างจากการฝังเข็มแบบจีนอย่างไร?

หากกล่าวถึงการฝังเข็ม คนเอเชียอย่างเราแน่นอนอยู่แล้วว่าก็ต้องนึกถึงการฝังเข็มตามแบบฉบับของแพทย์แผนจีนก่อนเป็นอันดับแรก แต่การฝังเข็มตะวันตกและการฝังเข็มแบบจีนนั้นมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร 

การฝังเข็มแบบตะวันตก 

การฝังเข็มตะวันตกนั้น นอกจากชื่อเป็นทางการอย่าง Dry needling แล้ว ก็ยังถูกเรียกด้วยชื่อไทยอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการฝังเข็มฝรั่ง หรือการฝังเข็มสะกิด โดยการฝังเข็มแบบตะวันตกนั้นมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อต่าง ๆ อย่างเฉพาะเจาะจง และผู้ที่ทำการรักษาจะเป็นแพทย์ทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู 

แรกเริ่มการฝังเข็มตะวันตกนั้น จะเป็นการนำเข็มสำหรับใช้กับกระบอกฉีดยา มาฝังผ่านชั้นผิวหนังแล้วคลายปมของกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง แต่ในปัจจุบันการฝังเข็มตะวันตกก็ได้พัฒนามาใช้เข็มสำหรับฝังแบบจีน ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า เจ็บปวดน้อยกว่า มีริ้วรอยบาดแผลที่เล็กกว่าสามารถหายและฟื้นตัวได้เร็วกว่าแบบเข็มฉีดยา อีกทั้งการฝังเข็มตะวันตกก็ยังเป็นการฝังเข็มในปริมาณที่น้อยกว่าฝังเข็มแบบจีนอีกด้วย

การฝังเข็มแบบจีน 

การฝังเข็มแบบจีน หรือที่เรียกกันในทางสากลว่า Traditional Chinese Acupuncture นั้น จะเป็นการฝังเข็มเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้หลากหลายกว่าการฝังเข็มตะวันตก โดยโรคที่ได้รับการรับรองมาแล้วว่ารักษาได้จริงจากการฝังเข็มแบบจีน อาทิ โรคนอนไม่หลับ โรคกลุ่มอาการปวด โรคภูมิแพ้ ไมเกรน และด้านความงามต่าง ๆ ซึ่งผู้ที่ทำการรักษาจะเป็นแพทย์ที่มีความรู้เฉพาะทางด้านศาสตร์แผนจีน

การฝังเข็มแบบตะวันตก เจ็บแต่จบ จริงหรือไม่?

การฝังเข็มตะวันตก (Dry needling) นั้น มักจะถูกคนที่เคยเข้ารับการรักษาเรียกว่าเป็นการรักษาแบบเจ็บแต่จบ ซึ่งก็ไม่ใช่ข้อความที่ผิดแต่อย่างใด เนื่องจากการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อนั้น ไม่เพียงแต่ใช้เข็มฝังเข้าไปเพียงอย่างเดียวเหมือนการฝังเข็มแบบจีน เพราะหลังจากฝังเข็มแล้ว ก็จำเป็นจะต้องขยับไปบริเวณรอบ ๆ ด้วย จนกว่ากล้ามเนื้อมัดนั้น ๆ จะทำการคลายตัวและไม่มีอาการกระตุกแล้ว โดยรวมจะใช้เวลาประมาณตำแหน่งละ 5 – 10 นาที 

แต่ถึงอย่างนั้นการฝังเข็มตะวันตกในปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนาขึ้นจากเดิมมากแล้ว เพื่อให้ผู้เข้ารับการรักษาได้รับความเจ็บปวดน้อยที่สุด อีกทั้งผลที่ได้รับเองก็คุ้มค่า เนื่องจากสามารถรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดจากออฟฟิศซินโดรม และกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อต่าง ๆ ได้เป็นผลดี สามารถหายและใช้ชีวิตปกติได้ภายในไม่กี่วัน อีกทั้งยังสามารถคงประสิทธิภาพไว้ได้ยาวนานกว่าวิธีการรักษารูปแบบอื่นอีกด้วย 

การฝังเข็มตะวันตกมีข้อควรระวังหรือผลข้างเคียงอะไรหรือไม่? 

สำหรับผู้ที่สนใจต้องการรักษาเยียวยาอาการปวดเรื้อรัง ด้วยวิธีการฝังเข็มตะวันตก ฮักษาคลินิกจันทบุรี เราก็มีข้อควรระวังต่าง ๆ และผลข้างเคียงที่ได้รับจากการฝังเข็มตะวันตกมาชี้แจง เพื่อให้คุณสามารถนำไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนจะเลือกเข้ารับการรักษา ดังต่อไปนี้ 

ข้อควรระวังในการฝังเข็มแบบตะวันตก 

  1. ผู้เข้ารับการรักษาไม่ควรเป็นผู้ที่กลัวเข็ม เนื่องจากมีโอกาสที่จะตื่นตกใจให้เกิดความผิดพลาดในการรักษา และไม่ให้ความร่วมมือได้กับแพทย์ได้
  2. ผู้เข้ารับการรักษาไม่ควรเป็นสตรีมีครรภ์ 
  3. ผู้เข้ารับการรักษาไม่ควรเป็นผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย มีปัญหาร่างกายด้านความแข็งตัวของเลือด หรือหากต้องรับประทานยาที่เกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะหยุดยาหรือเข้ารับการรักษา
  4. ผู้เข้ารับการรักษาไม่ควรเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวรุนแรง เช่น ไทรอยด์ โรคหัวใจ โรคมะเร็งที่ยังไม่ได้รับการรักษา เป็นต้น 
  5. ผู้เข้ารับการรักษาไม่ควรเป็นผู้ที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เนื่องจากอาจจะเกิดการติดเชื้อ หรือมีภาวะเลือดออกได้  

ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยวิธีฝังเข็มตะวันตก 

  1. ผู้เข้ารับการรักษาจะมีความรู้สึกปวดอยู่ 1 – 2 วัน และบางรายอาจจะรู้สึกเหมือนว่ายังมีเข็มฝังคาอยู่ แต่ไม่นานเกิน 3 วัน อาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อก็จะค่อย ๆ สลายหายไปเอง หากได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอและไม่กระตุ้นกล้ามเนื้อบริเวณนั้นมากเกินไป 
  2. ผู้เข้ารับการรักษาอาจมีอาการบวมหรือเป็นรอยช้ำในบริเวณที่ถูกฝังเข็ม 
  3. ผู้เข้ารับการรักษาบางรายมีอาการวิงเวียนศีรษะ เมื่อทำการรักษาฝังเข็มบริเวณต้นคอ หรือบริเวณไหล่

แต่ถึงอย่างนั้นผลข้างเคียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็สามารถหายได้ตามกาลเวลา และเข้าปรึกษากับแพทย์หลังเข้ารับการรักษา ถ้าหากเทียบเคียงกับระยะเวลาในการรักษารูปแบบอื่น ๆ ที่อาจจะต้องกินยาต่อเนื่อง ใช้เวลาบำบัดที่ยาวนานกว่าจะเห็นผล หรือเป็นผู้ที่มีอาการแพ้ยา ก็สามารถบอกได้เลยว่าการฝังเข็มตะวันตกนั้นเป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาที่ดี มีประสิทธิภาพ คุ้มค่าและรวดเร็วยิ่งกว่า

สำหรับผู้ที่มีความสนใจในการฝังเข็มตะวันตก เพื่อต้องการรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมหรืออาการปวดกล้ามเนื้ออื่น ๆ ก็สามารถปรึกษาและเข้าพบแพทย์ได้ที่ ฮักษาคลินิกจันทบุรี คลินิกที่สามารถดูแลสุขภาพให้คุณได้ด้วยความเอาใจใส่ในผู้เข้ารับการรักษาทุกผู้ทุกคนอย่างทั่วถึง ด้วยแนวคิดของฮักษาคลินิกจันทบุรีที่ว่าการดูแลสุขภาพไม่ใช่แค่การวินิจฉัยและการรักษา แต่ต้องสามารถเชื่อมต่อกับผู้เข้ารับการรักษาได้ เพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างตรงจุดที่สุด แล้วทุกคนก็จะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่มีประสิทธิภาพ มีสุขภาพดีที่ยั่งยืนไปด้วยกัน 

ติดต่อสอบถาม ฮักษาคลินิก จันทบุรี

เบอร์โทร : 096-919-4942

LINE : @hugsa

Facebook : HUGSAMedical

HUGSA MEDICAL | รักษาด้วยหัวใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร ใกล้ชิดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ